วานนี้ (11 กรกฎาคม) วิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วยผู้บริหารและเจ้าหน้าที่สำนักการระบายน้ำ ลงพื้นที่ติดตามการพัฒนาและปรับปรุงระบบระบายน้ำของกรุงเทพมหานคร เพื่อแก้ไขปัญหาจุดเสี่ยงน้ำท่วม บริเวณ 8 จุดเสี่ยงสำคัญในพื้นที่ 5 เขต
วิศณุกล่าวว่า การลงพื้นที่ครั้งนี้ถือเป็นการส่งการบ้านให้ชาวกรุงเทพฯ ก่อนจะเข้าสู่ช่วงฝนตกหนักของปีนี้ ว่ากรุงเทพมหานครได้ดำเนินการปรับปรุงระบบระบายน้ำในถนนสายหลัก เตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์น้ำอย่างไรบ้าง โดยพื้นที่กรุงเทพฯ มีปัญหาน้ำท่วมรวม 737 จุด แบ่งเป็นปัญหาน้ำท่วมจากน้ำเหนือ-น้ำทะเลหนุน 120 จุด และปัญหาน้ำท่วมจากน้ำฝน 617 จุด
สำหรับ 8 จุดเสี่ยง กรุงเทพมหานครได้ปรับปรุงแก้ไขระบบระบายน้ำ พร้อมทำงานร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ทั้งนี้ หลายโครงการได้ดำเนินการแล้วเสร็จ สามารถแก้ไขปัญหาน้ำท่วมขังในแต่ละพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ในส่วนของ 8 จุดเสี่ยง ประกอบด้วย
- บ่อสูบน้ำคูน้ำสารวัตรทหารที่ 11 เขตราชเทวี ติดตามความคืบหน้าโครงการก่อสร้างระบบระบายน้ำ เพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วมถนนศรีอยุธยาและถนนพระราม 6 (Pipe Jacking)
- ถนนพระรามที่ 9 บริเวณแยก อสมท. เขตห้วยขวาง ตรวจสอบการก่อสร้างบ่อสูบน้ำถนนพระราม 9 ตอนลำรางแยก อสมท. เพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วมซอยทวีมิตร
- ถนนรัชดาภิเษก ช่วงบริเวณหน้าศาลอาญา เขตจตุจักร ติดตามความก้าวหน้าการก่อสร้างท่อลอดถนนรัชดาภิเษก และแผนการปรับปรุงเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำ
- ถนนแจ้งวัฒนะ ช่วงวงเวียนบางเขน เขตบางเขน เยี่ยมชมการใช้งานแก้มลิงวงเวียนบางเขน เพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วมถนนแจ้งวัฒนะ บริเวณซอย 2 และซอย 5
- ทำนบกั้นน้ำคลองลำผักชี ข้างตลาดยิ่งเจริญ เขตบางเขน ติดตามความก้าวหน้าการดำเนินการก่อสร้างทำนบชั่วคราว พร้อมติดตั้งเครื่องสูบน้ำเพื่อบริหารจัดการน้ำคลองลำผักชี และแก้ไขปัญหาน้ำท่วมพื้นที่เขตบางเขน เขตสายไหม และถนนเทพรักษ์
- ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ บริเวณหน้าอาคารรัฐประศาสนภักดี (อาคาร B) เขตหลักสี่ ติดตามความก้าวหน้าการก่อสร้างบ่อสูบน้ำศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ ตอนลงคลองบางตลาด เพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วมถนนแจ้งวัฒนะ บริเวณหน้าศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ
- โครงการก่อสร้างถนนต่อเชื่อมศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550 กับถนนประชาชื่น (ถนนหมายเลข 10) เขตหลักสี่ ตรวจสอบงานก่อสร้างถนนหมายเลข 10 และระบบระบายน้ำ รางระบายน้ำ O-Gutter
- ถนนแจ้งวัฒนะ ซอยแจ้งวัฒนะ 14 บริเวณบึงสีกัน เขตหลักสี่ ติดตามความก้าวหน้าการก่อสร้างแก้มลิงบึงสีกัน เพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วมขัง ซอยแจ้งวัฒนะ 14
วิศณุกล่าวต่อว่า โครงการที่ดำเนินการแล้วเสร็จพร้อมเดินหน้ารับใช้ชาวกรุงแบบ 100% ได้แก่ แก้มลิงวงเวียนบางเขน โดยสำนักการระบายน้ำได้ทำ MOU ร่วมกับกรมทางหลวง ขออนุญาตใช้พื้นที่ในเขตทางหลวงก่อสร้างเป็นแก้มลิงด้วยขนาดกักเก็บน้ำ 6,000 ลูกบาศก์เมตร เพื่อเก็บกักและพักน้ำไว้ชั่วคราวขณะฝนตกหนัก
เนื่องจากพื้นที่บริเวณวงเวียนบางเขนประสบปัญหาน้ำท่วมขังเมื่อเกิดฝนตกหนักที่ถนนพหลโยธินและถนนรามอินทรา ก่อนระบายน้ำลงคลองรางอ้อ-รางแก้ว เพื่อลงสู่คลองบางเขนต่อไป นอกจากนี้ยังทำเลนวิ่งรอบบริเวณแก้มลิงเพื่อให้ประชาชนทั่วไปเข้ามาใช้งานเพื่อออกกำลังกายและพักผ่อนด้วย
ในอีกจุดหนึ่งที่สามารถแก้ปัญหาน้ำท่วมที่มีมาอย่างยาวนานได้คือ บ่อสูบน้ำถนนพระราม 9 แยก อสมท. ซอยทวีมิตร ซึ่งเป็นซอยเอกชนที่มีระดับต่ำกว่าถนนพระราม 9 เมื่อฝนตกหนักจึงมักประสบปัญหาน้ำท่วมขังรอการระบาย ส่งผลกระทบกับผู้อาศัยและสัญจรในพื้นที่จำนวนมาก
วิศณุกล่าวว่า อีก 2 โครงการที่ดำเนินการใกล้แล้วเสร็จ โดยคืบหน้ากว่า 90% เตรียมพร้อมเปิดใช้งานอย่างเต็มรูปแบบเร็วๆ นี้คือ บ่อสูบน้ำคูน้ำสารวัตรทหารที่ 11 โดยที่ผ่านมา ช่วงจากบริเวณแยกศรีอยุธยาถึงคลองสามเสนเป็นชุมชนเมืองที่มีความหนาแน่นสูง มีปัญหาน้ำท่วมขังบนถนนศรีอยุธยาช่วงจากทางรถไฟถึงถนนราชปรารภและถนนพระราม 6 อยู่บ่อยครั้ง เนื่องจากท่อระบายน้ำเดิมมีขนาดไม่เพียงพอ จึงเกิดโครงการก่อสร้างท่อระบายน้ำขนาดใหญ่ด้วยวิธีดัน (Pipe Jacking) และรางระบายน้ำ แม้จะมีอุปสรรคหลายด้าน แต่การก่อสร้างจะแล้วเสร็จภายในเดือนกรกฎาคม 2567
ส่วนโครงการก่อสร้างท่อลอดถนนรัชดาภิเษก และแผนการปรับปรุงเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำ ปัจจุบันโครงการฯ เดินหน้าไปแล้วกว่า 90% คาดว่าจะแล้วเสร็จและสามารถเปิดใช้งานได้ประมาณเดือนสิงหาคม 2567 ทั้งนี้ เนื่องจากถนนรัชดาภิเษกเป็นถนนสายหลัก มีแนวรถไฟฟ้าใต้ดิน และเป็นที่ตั้งของสถานที่ราชการหลายแห่ง โดยช่วงตั้งแต่แยกลาดพร้าวถึงแยกรัชโยธินเป็นพื้นที่ลุ่มต่ำ เกิดปัญหาน้ำท่วมขังเป็นประจำ การแก้ไขจึงจำเป็นต้องดำเนินการในหลายภารกิจควบคู่กัน ถึงจะรองรับปริมาณฝนตกหนักเกินกว่า 60 มิลลิเมตรได้
วิศณุระบุว่า ทั้ง 8 โครงการที่นำมาส่งการบ้านชาวกรุง ทุกโครงการล้วนประสบปัญหาแตกต่างกันไป บ้างต้องเจรจากับหลายฝ่ายที่ต้องใช้เวลาอย่างยาวนาน บ้างต้องจัดการกับสาธารณูปโภคที่ทับซ้อนกัน บางพื้นที่ไม่ใช่ของกรุงเทพมหานคร บางโครงการทำงานร่วมกันกับทุกภาคส่วนจนเกิดเป็นโมเดลการบูรณาการใหม่ๆ ทั้งหมดทั้งมวลนี้ หัวใจคือเพื่อปรับปรุงโครงสร้าง รูปแบบ วิธีการ และนวัตกรรมใหม่ๆ ของระบบระบายน้ำ เพื่อแก้ไขปัญหาให้ชาวกรุงเทพฯ ได้อย่างยั่งยืน