×

กมธ.ความมั่นคง เชิญธนาคารไทยแจงปมให้บริการรัฐบาลเมียนมาทำธุรกรรมซื้ออาวุธ

11.07.2024
  • LOADING...
กมธ.ความมั่นคง

วันนี้ (11 กรกฎาคม) ที่รัฐสภา คณะกรรมาธิการ (กมธ.) ความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดนไทย ยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ สภาผู้แทนราษฎร นำโดย รังสิมันต์ โรม สส. บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ ได้มีการจัดการประชุมพิจารณาศึกษาข้อเท็จจริง กรณีสำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (OHCHR) เปิดเผยรายงาน Banking on the Death Trade: How Banks and Governments Enable the Military Junta in Myanmar ซึ่งมีเนื้อหาส่วนหนึ่งอ้างว่า ธนาคารในไทยเป็นผู้ให้บริการทางการเงินหลักให้กับรัฐบาลทหารเมียนมา ในการทำธุรกรรมที่เกี่ยวข้องกับการจัดซื้อยุทโธปกรณ์

 

โดย กมธ. เชิญ ทอม แอนดรูว์ส (Tom Andrews) ผู้แทนพิเศษสหประชาชาติว่าด้วยสถานการณ์ในเมียนมา พร้อมด้วยผู้แทนจากกระทรวงการต่างประเทศ, สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.), ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.), สมาคมธนาคารไทย และผู้แทนจากธนาคารกรุงไทย, ธนาคารไทยพาณิชย์, ธนาคารกสิกรไทย, ธนาคารทหารไทยธนชาต และธนาคารกรุงเทพ เข้าให้ข้อมูลและชี้แจงข้อสงสัยต่างๆ

 

ผู้แทนพิเศษสหประชาชาติ ระบุว่า รายงานของ OHCHR มีเนื้อหาสำคัญ คืองบประมาณจัดซื้ออาวุธที่ใช้ในทางทหารของรัฐบาลทหารเมียนมา ซึ่งพุ่งเป้าไปยังพลเมือง โดยพบว่า งบกว่า 70% มีการพึ่งพาธนาคารอย่างเป็นทางการ แม้ว่าข่าวดีคือในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา ปริมาณการจัดซื้ออาวุธของรัฐบาลทหารเมียนมาผ่านระบบการเงินระหว่างประเทศจะลดลงกว่า 1 ใน 3 จาก 377 ล้านดอลลาร์ ในปีงบประมาณ 2022 เหลือ 253 ล้านดอลลาร์ในปีงบประมาณ 2023 แต่ไทยยังคงเป็นแหล่งจัดซื้อยุทโธปกรณ์ทางทหารชั้นนำผ่านระบบธนาคารระหว่างประเทศ ซึ่งในช่วงเดียวกันนี้ ยังมีการส่งมอบอาวุธและวัสดุที่เกี่ยวข้องจากบริษัทที่จดทะเบียนในไทยให้แก่รัฐบาลทหารเมียนมาเพิ่มขึ้นกว่า 2 เท่า และพบว่าในช่วงปีที่ผ่านมา มี 16 ธนาคารใน 7 ประเทศ รวม 5 ธนาคารในไทย

 

ไพศาล หรูพาณิชย์กิจ รองปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ชี้แจงว่า ไม่พบหลักฐานเส้นทางการเงินของธนาคารในไทยตามที่ระบุในรายงาน และไม่พบว่ารัฐบาลไทยรับรู้เรื่องดังกล่าว พร้อมยืนยันว่ารัฐบาลให้ความสำคัญกับสิทธิมนุษยชน และความเป็นอยู่ของประชาชนเมียนมา โดยไม่สนับสนุนความรุนแรงตามหลักฉันทมติ 5 ประการของอาเซียน และปฏิบัติตามมติของสหประชาชาติอย่างเคร่งครัด

 

ขณะที่ตัวแทนธนาคารแห่งประเทศไทย ชี้แจงว่า ธปท. ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องในการสนับสนุนการก่อการร้าย พร้อมกำชับให้สถาบันการเงินตรวจสอบเส้นทางการเงินอย่างเคร่งครัด โดยหากพบว่ามีการกระทำเป็นไปตามที่ระบุ ก็พร้อมจะดำเนินการทันที

 

ด้านตัวแทนสมาคมธนาคารไทย ชี้แจงว่า ข้อกล่าวหาในรายงานดังกล่าวค่อนข้างรุนแรง เนื่องจากระบุว่าไทยเป็นแหล่งธุรกรรมหลัก แต่จริงๆ ไม่มีข้อมูล และธนาคารก็ทำตามขั้นตอนและหน้าที่ โดยยืนยันว่าไม่ได้สนับสนุนการซื้อยุทโธปกรณ์เพื่อมาละเมิดสิทธิมนุษยชน และกำลังพิจารณาว่ากระบวนการต่างๆ ต้องตรวจสอบเพิ่มเติมหรือเข้มข้นขึ้นหรือไม่ แต่เข้าใจว่ารัฐบาลเมียนมาจะใช้ความพยายามในการหลบหลีก ทั้งการมีนอมินี เปิดบัญชีบุคคลธรรมดา ซึ่งธนาคารมีการดำเนินการตรวจสอบอยู่แล้ว

 

ส่วนทางด้าน เทพสุ บวรโชติดารา เลขาธิการ ปปง. ยืนยันว่า ปปง. ออกประกาศแจ้งให้สถาบันการเงินทราบ ว่าเมียนมามีความเสี่ยงในการฟอกเงินและการสนับสนุนการก่อการร้าย ดังนั้นหากจะรับลูกค้าหรือทำธุรกรรมกับเมียนมา จะต้องมีเอกสารหลักฐานที่น่าเชื่อถือทุกครั้ง และมีกระบวนการตรวจสอบเส้นทางการเงินอย่างเคร่งครัด

 

เสนอใช้โมเดลสิงคโปร์แก้ปัญหา

 

ทั้งนี้ รายงานของ OHCHR ยังเรียกร้องให้รัฐบาลไทยดำเนินการตามตัวอย่างของรัฐบาลสิงคโปร์ ซึ่งในปี 2023 ได้มีการเปิดการสืบสวนทันที หลังมีการเผยแพร่รายงานว่าหลายบริษัทของสิงคโปร์ส่งอาวุธให้รัฐบาลทหารเมียนมา ซึ่งผลจากการดำเนินการดังกล่าว ทำให้การส่งอาวุธจากสิงคโปร์ให้แก่รัฐบาลทหารเมียนมาลดลงอย่างชัดเจน

 

ขณะที่ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ สส. บัญชีรายชื่อ และประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล ซึ่งร่วมรับฟังและซักถามในที่ประชุม ก็เสนอว่าควรนำเอารายงานของสิงคโปร์ในปีที่แล้วมาเป็นโมเดลต้นแบบ ว่าใช้กระบวนการในการแก้ไขปัญหาอย่างไร และมีใครหรือหน่วยงานใดทั้งภาครัฐและเอกชนที่มีส่วนร่วมบ้าง เพื่อที่จะไม่ต้องตั้งไข่ใหม่ และนำเอาวิธีการที่สิงคโปร์ดำเนินการสำเร็จมาแล้ว มาเป็นการร่วมมือกันระหว่าง 2 ประเทศในอาเซียน

 

ภายหลังการประชุม รังสิมันต์แถลงว่าทุกฝ่ายเห็นตรงกันว่า ไม่อยากให้ระบบธนาคารไทยเข้าไปเกี่ยวข้องกับการทำธุรกรรมที่จะนำไปสู่การซื้ออาวุธ โดยทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องให้สัญญาว่าจะมีมาตรการต่อไปทั้งระยะสั้น กลาง และยาว เพื่อการแก้ไขปัญหาในเรื่องนี้

 

นอกจากนี้ ทาง กมธ. ยังแนะนำกระทรวงการต่างประเทศว่า จะต้องมีการประสานงานกับสิงคโปร์เพื่อแก้ปัญหาในภาพรวม และให้หน่วยงานทั้งหมดทำรายงานความคืบหน้าส่งกลับมายัง กมธ. ภายใน 30 วัน เพื่อติดตามมาตรการที่มีความชัดเจนต่อไป

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising