×

The Band’s Visit (2017) ละครเพลงแห่งความอบอุ่น ซาบซึ้งและตื้นตัน

06.06.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

4 MINS READ
  • เดือนพฤษภาคมน่าจะเป็นช่วงที่เหมาะที่สุดช่วงหนึ่งสำหรับการตระเวนดูละคร เนื่องจากเป็นเดือนสุกดิบก่อนการประกาศผลรางวัลโทนี ซึ่งเทียบเคียงได้กับรางวัลออสการ์ของอุตสาหกรรมศิลปะการแสดง ปีนี้ตรงกับวันที่ 10 มิถุนายน
  • ผลลัพธ์ภายหลังการชมก็แทบจะสรุปความรู้สึกนึกคิดเป็นอย่างอื่นไม่ได้ นอกจากบอกว่า The Band’s Visit เป็นทั้งแจ็กพอตและจุดสูงสุดของการทัวร์ดูละครงวดนี้อย่างไม่มีข้อเคลือบแคลงสงสัยจริงๆ

เท้าความสักเล็กน้อย ช่วงกลางเดือนพฤษภาคมที่ผ่านพ้นไป ผมมีเหตุให้ได้เดินทางไปนิวยอร์ก และระหว่างที่ใช้ชีวิตอยู่ที่นั่นเกือบสองสัปดาห์ กิจกรรมหนึ่งที่ตัวเองหมายมั่นปั้นมือตั้งแต่เริ่มแรก ก็คือการหาโอกาสดูละครเวที

 

ในแง่ของจังหวะเวลา เดือนพฤษภาคมน่าจะเป็นช่วงที่เหมาะที่สุดช่วงหนึ่งสำหรับการตระเวนดูละคร เนื่องจากเป็นเดือนสุกดิบก่อนการประกาศผลรางวัลโทนี ซึ่งเทียบเคียงได้กับรางวัลออสการ์ของอุตสาหกรรมศิลปะการแสดง ปีนี้ตรงกับวันที่ 10 มิถุนายน และทั้งละครร้องและละครพูดที่ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลก็ยังคงลงโรงแบบประชันขันแข่งเกือบจะครบถ้วน นั่นทำให้อย่างน้อยสำหรับเหล่าทัวริสต์และนักดูละครขาจร ซึ่งไม่มีความฟุ่มเฟือยในแง่ของเวลามากนัก มันช่วยลดความเสี่ยงในการไปแทงหวยกับละครที่ไม่ได้เรื่องได้ราว หรือละครที่อาจจะไม่ถูกโฉลกกับรสนิยมแต่ละคน

 

แต่ก็อีกนั่นแหละ ความท้าทายของการตามล่าละครตัวเต็งเหล่านี้ก็คือการหาตั๋ว พูดง่ายๆ ว่า ถ้าหากไม่จองล่วงหน้าไปจากเมืองไทยซึ่งสนนราคาก็แพงเอาเรื่อง (ราคาสำหรับที่นั่งออร์เคสตราดีๆ หรือที่นั่งตรงกลางด้านล่างอยู่ที่ 160 เหรียญสหรัฐ หรือห้าพันกว่าบาท) ก็ต้องไปวัดดวงหาตั๋วลดราคาที่บูธขายตั๋วบนถนนไทม์สแควร์แบบวันต่อวัน ซึ่งสำหรับโชว์ที่ร้อนแรงหลายๆ เรื่อง การล่าตั๋วประเภทหลังนี้ก็อาจเทียบได้กับการเสาะแสวงหาจอกศักดิ์สิทธิ์เลยทีเดียว

 

 

และปีนี้ หนึ่งในมิวสิคัลฮอตฮิตที่ตั๋วหายากที่สุดเรื่องหนึ่งของฤดูกาลก็ได้แก่เรื่อง The Band’s Visit ซึ่งแสดง ณ โรงละครเอเธล แบร์รีมอร์ อันสืบเนื่องมาจากเสียงรีวิวของละครออกมาดีมากๆ ตั้งแต่ต้นปี นักวิจารณ์จากทุกสำนักแซ่ซ้องสรรเสริญอย่างพร้อมเพรียง ตัวละครเพลงได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงโทนีมากถึง 11 รางวัล เหนืออื่นใด เกจิหลายสำนักล้วนกะเก็งว่านี่คือตัวเต็งรางวัลมิวสิคัลยอดเยี่ยมประจำปีทั้งในแง่ที่ว่ามีแนวโน้มว่าจะชนะและสมควรชนะ และก็ต้องบอกว่าตัวเองโชคดีมากๆ ที่บังเอิญได้ตั๋วลดราคาในวันสุดท้ายก่อนกลับพอดี แถมที่นั่งก็อยู่ในตำแหน่งที่แจ่มกระจ่างมากๆ และผลลัพธ์ภายหลังการชมก็แทบจะสรุปความรู้สึกนึกคิดเป็นอย่างอื่นไม่ได้ นอกจากบอกว่า The Band’s Visit เป็นทั้งแจ็กพอตและจุดสูงสุดของการทัวร์ดูละครงวดนี้อย่างไม่มีข้อเคลือบแคลงสงสัยจริงๆ

 

พูดอย่างคนที่ไม่มีประสบการณ์ในการดูละครเพลงบรอดเวย์มากนัก ทว่าประเมินจากบรรดาโชว์ทั้งหลายที่ประสบความสำเร็จและยืนระยะการแสดงนานนับปี ดูเหมือนว่า The Band’s Visit จะมีความผิดแผกแตกต่าง หรือแม้กระทั่งไม่มีคุณสมบัติของการเป็นละครเพลงบรอดเวย์ตามกระแสหลักอยู่หลายข้อด้วยกัน อย่างหนึ่งที่แน่ๆ ก็คือ มันบอกเล่าเรื่องราวที่ห่างไกลการรับรู้และความคุ้นเคยของกลุ่มผู้ชมส่วนใหญ่ซึ่งเป็นคนอเมริกัน ในที่นี้ได้แก่ดินแดนไกลโพ้นในตะวันออกกลางช่วงกลางทศวรรษ 1990 แถมตัวละครก็สื่อสารกันด้วยทั้งภาษาท้องถิ่นของตัวเอง (อาหรับและฮีบรู) ผสมกับภาษาอังกฤษที่กระท่อนกระแท่นและฟังค่อนข้างยาก นั่นยังไม่ต้องเอ่ยถึงแบ็กกราวด์ภูมิหลังที่มีความคุกรุ่น และบาดหมางทางการเมืองตลอดกาลระหว่างยิวกับอาหรับเป็นต้นทุน นอกจากนี้ แม้ว่าโลเคชันตามท้องเรื่องจะได้แก่หมู่บ้านเล็กๆ ในอิสราเอล แต่พูดได้เต็มปากว่า ฉากหลังก็ไม่ได้ให้ความรู้สึกเย้ายวนหรือโรแมนติกอย่างที่เราสามารถจินตนาการได้เหมือนที่เห็นในหนังเรื่อง Lawrence of Arabia หรือเป็นอะไรที่น่าลึกลับค้นหาอย่างในนิยายอาหรับราตรี มันมีบรรยากาศของความเรียลิสติกเจือปน อันส่งผลให้นี่ไม่ใช่มิวสิคัลในแบบที่ผู้ชมจะอาศัยเป็นพาหนะสำหรับการเตลิดไปในโลกของความเพ้อฝันอย่างสุดลิ่มทิ่มประตู

 

 

อีกอย่างหนึ่งก็คือ ในความเป็นละครเพลงที่ดูเหมือนจะเบาสมอง (แต่จริงๆ แล้วไม่ใช่) อารมณ์ขันที่สอดแทรกกลับไม่ได้ทำให้ผู้ชมหัวเราะได้สุดเสียงจริงๆ ส่วนหนึ่งก็เพราะมันแอบแฝงไว้ด้วยบรรยากาศที่ดูเศร้าสร้อยขื่นขม และอีกส่วนหนึ่งน่าจะเกี่ยวเนื่องกับการรักษาความต่อเนื่องลื่นไหลของการดำเนินเนื้อหา เป็นที่น่าสังเกตว่าผู้สร้างไม่พยายามใช้แท็กติกแบบที่ละครเรื่องอื่นๆ ชอบทำ นั่นคือเล่นมุกตลกแล้วเว้นวรรคให้ผู้ชมได้หัวเราะอย่างจงใจ หรือพูดให้ครอบคลุมกว่านั้น นี่เป็นมิวสิคัลที่แทบไม่มีช่วงที่เรียกว่า showstopper หรืออีกนัยหนึ่ง การแสดง การเล่นมุก หรือฉากร้องรำทำเพลงที่เหมือนกับถูกออกแบบมาให้ผู้ชมปรบมืออย่างยาวนานจนทำให้การแสดงต้องหยุดชั่วขณะสักเท่าไร และผลพวงสืบเนื่องก็คือ ละครที่โลดแล่นเบื้องหน้าผู้ชมก็ไม่ได้มีสถานะเป็น ‘โชว์’ อีกต่อไป ทว่ากลายเป็นเรื่องราวที่ผู้ชมค่อยๆ นำพาตัวเองดำดิ่งไปกับสิ่งที่ได้รับการบอกเล่าอย่างลืมตัวเหมือนตกอยู่ในภวังค์

 

อย่างที่นักดูหนังหลายคนคงสังเกตได้ ต้นกำเนิดของละครเพลง The Band’s Visit มาจากหนังอินดี้อิสราเอลชื่อเรื่องเดียวกันที่ออกฉายปี 2007 ในแง่ของเค้าโครงเนื้อหาของทั้งหนังและละครคล้ายคลึงกันทีเดียว วงดุริยางค์กรมตำรวจแห่งเมืองอเล็กซานเดรีย ประเทศอียิปต์ ได้รับเชิญให้มาแสดงดนตรี ณ ศูนย์วัฒนธรรมอาหรับ ณ เมืองที่ชื่อว่าเพทาห์ ทิควาห์ ประเทศอิสราเอล แต่เนื่องจากเกิดการสื่อสารคลาดเคลื่อน รถบัสกลับนำพาทั้งหมดไปส่งที่เมืองเล็กๆ กลางทะเลทรายที่ชื่อฟังคล้ายกัน เบ็ท ฮาทิควาห์ สถานการณ์ที่เหล่านักดนตรีทั้งหมดได้รับการบอกกล่าวก็คือ รถบัสเที่ยวต่อไปจะมาถึงวันพรุ่งนี้ และพวกเขาไม่มีทางเลือกนอกจากค้างคืน ณ เมืองที่นอกจากไม่มีโรงแรม (ใครจะมาเที่ยวเมืองที่ไกลปืนเที่ยงและดูสิ้นหวังแบบนี้) โทรศัพท์สาธารณะสำหรับการสื่อสารกับโลกภายนอกก็มีแค่เครื่องเดียว

 

 

ว่าไปแล้ว สิ่งที่ได้รับการบอกเล่าในหนังและละครเรื่อง The Band’s Visit ก็ชวนให้นึกถึงหนังอินเดียเรื่อง The Lunchbox อยู่เหมือนกัน หลายคนคงจำได้ว่าหนังเรื่องนั้นเล่นกับคอนเซปต์ที่ว่า ‘บางครั้ง การขึ้นรถไฟผิดขบวนก็สามารถจะพาคุณไปถึงจุดหมายปลายทางที่ถูกต้องได้’ แต่เอาเข้าจริงๆ The Band’s Visit ก็ไม่ได้ ‘โลกสวย’ แบบนั้น เพราะจนแล้วจนรอด การจบแบบแฮปปี้เอ็นดิ้งก็ดูเหมือนจะมีราคาแพงเกินไปหรือกระทั่งเป็นไปไม่ได้ และในขณะที่พล็อตเรื่องดูเหมือนว่าโฟกัสไปที่เหล่าอาคันตุกะผู้ซึ่งนอกจากจับพลัดจับผลูนำพาตัวเองมาอยู่ในสภาพที่แตกต่างและแปลกแยก ยังแวดล้อมด้วยบรรยากาศที่ไม่ค่อยจะเป็นมิตร แต่จนแล้วจนรอด ยิ่งเวลาผ่านพ้นไป สิ่งที่ได้รับการถ่ายทอดก็กลับเป็นเรื่องของคนท้องถิ่นด้วยเช่นกัน ผู้ซึ่งกล่าวได้ว่า ทั้งหมดดำเนินชีวิตที่เหมือนอยู่ในวังวนที่ซ้ำซากจำเจ และดูประหนึ่งว่าพวกเขาก็เฝ้าคอยการมาถึงของอะไรบางอย่างที่จะช่วยทำให้ชีวิตของทั้งหมดขยับเขยื้อนเคลื่อนไปข้างหน้า หรือกระทั่งเปลี่ยนแปลง หนึ่งในนั้นได้แก่หญิงเจ้าของร้านอาหารที่ชื่อดิน่า ซึ่งมีชีวิตรักที่ไม่สมหวัง

 

แต่ก็อย่างที่เกริ่นก่อนหน้า ทั้งเวอร์ชันหนังและละครไม่ได้ ‘ทรีต’ สิ่งที่บอกเล่าในฐานะเรื่องประโลมโลก และทางออกของเรื่องทั้งหมดก็ไม่ได้มีลักษณะสำเร็จรูปหรือมุ่งพะเน้าพะนอคนดูอย่างหน้ามืดตามัว กระนั้นก็ตาม ตอนจบของทั้งสองเวอร์ชันกลับให้ความรู้สึกอบอุ่นอย่างน่าประหลาด และกล่าวในที่สุดจริงๆ ความรู้สึกแตกต่างแปลกแยก หรือความเป็นปฏิปักษ์ที่ทั้งพวกเขาและคนดูสัมผัสได้ในตอนเริ่มต้น หรืออีกนัยหนึ่ง กำแพงทางความรู้สึกที่ถูกสร้างขึ้นก็ล้วนแล้วเป็นภาพลวงตา

 

 

แน่นอนว่า ส่วนที่ไม่พูดถึงคงไม่ครบถ้วนสำหรับเวอร์ชันมิวสิคัลก็คือพาร์ตดนตรี เป็นเรื่องง่ายมากที่จะพูดว่า นี่เป็นมิวสิคัลที่เพลงเพราะ แต่มันก็เพราะจริงๆ หลายๆ เพลงถึงกับชักชวนให้เราฮัมเมโลดี้ตามจากการได้ยินได้ฟังครั้งเดียว และหนึ่งในเพลงที่ทั้งเนื้อร้องที่สละสลวยและท่วงทำนองชวนฝัน เสกสมรสกันอย่างอ่อนหวานงดงาม ก็คือ เพลง ‘Omar Sharif’ ที่นางเอก (แคทรินา เลงค์ ในบทบาทการแสดงที่น่าจดจำ) พรรณนาให้หัวหน้าวงดนตรีที่เธอแอบชอบได้รู้ว่า เธอเติบโตมากับการดูหนังและฟังเพลงของนักแสดงและนักร้องอียิปต์ชื่อดัง อีกหนึ่งก็คือเพลง ‘Answer Me’​ ซึ่งพูดถึงการเฝ้าคอยของตัวละครแต่ละคนที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความหวัง ขณะที่ในส่วนของสกอร์ดนตรีก็ตลบอบอวลไปด้วยกลิ่นอายของความเป็นตะวันออกกลาง และดูมีเสน่ห์มากๆ ทั้งจากการใช้เครื่องดนตรีพื้นเมืองและสไตล์ในการถ่ายทอดอย่างมีชั้นเชิง

 

อีกอย่างหนึ่งได้แก่ส่วนของโปรดักชันที่อาจไม่ได้เน้นความอลังการงานสร้าง แต่ความสามารถในการจำลองหมู่บ้านเล็กๆ ในอิสราเอลก็นับว่าไร้ที่ติจริงๆ นอกจากผู้ชมไม่รู้สึกว่านี่เป็นสิ่งปลูกสร้างบนเวทีละคร ทั้งฉากและงานจัดแสงก็กลายเป็นการเนรมิตดินแดนที่ดูเหมือนตกสำรวจแห่งนี้ให้กลับดูมีทั้งชีวิตชีวาและลมหายใจของตัวเอง

 

 

รอบที่ได้ดู ปรากฏเมื่อการแสดงสิ้นสุดลง ผู้ชมทั้งโรงละครลุกขึ้นยืนปรบมือและส่งเสียงโห่ร้องแสดงความชื่นชมยินดีอย่างกึกก้องและพร้อมเพรียง ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องน่าแปลก เพราะนั่นเป็นสิ่งที่ผู้ที่เกี่ยวข้องกับละครเพลงเรื่องนี้สมควรได้รับทุกประการ สันนิษฐานได้ไม่ยากว่ารอบอื่นๆ ก็คงเหมือนกัน ทั้งหลายทั้งปวง มันทำให้สรุปได้อย่างหนึ่งว่า ข้อความในตอนเริ่มต้นของละครเพลงนี้ที่ถูกฉายขึ้นจอในลักษณะเกริ่นนำ และนางเอกเอ่ยซ้ำอีกครั้งตอนจบเรื่อง แปลความหมายได้ว่า “ครั้งหนึ่งไม่นานมานี้ กลุ่มนักดนตรีจากอียิปต์เดินทางมาอิสราเอล พวกคุณคงจะไม่เคยได้ยินเกี่ยวกับเรื่องนี้ เพราะมันไม่สลักสำคัญอะไรนัก” ได้รับการพิสูจน์อย่างชัดแจ้ง โดยเฉพาะประโยคหลังสุดว่า ไม่ได้เจือปนความจริงแม้แต่นิดเดียว

 

 

THE BAND’S VISIT (2017)

บทละคร อิทามาร์ โมเสส, เนื้อร้อง/ทำนอง เดวิด ยาซเบค, ผู้แสดง แคทรินา เลงค์, ดาริอุช แคชานิ, จอห์น คาเรียนิ, ฯลฯ

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X