กระแส #save ทับลาน ในสื่อสังคมออนไลน์ เหมือนจะยังไม่จบง่ายๆ
จากจุดเริ่มต้นการเปิดรับฟังความคิดเห็นของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ผ่านเว็บไซต์ของกรมอุทยานฯ ระหว่างวันที่ 28 มิถุนายน – 12 กรกฎาคมนี้
มีเพียงคำถามเดียวที่ระบุว่า “ท่านเห็นด้วยกับการปรับปรุงแนวเขตอุทยานแห่งชาติทับลาน จากการสำรวจแนวเขตเมื่อปี พ.ศ. 2543 ตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2566 เพื่อกำหนดพื้นที่เป็นอุทยานแห่งชาติทับลาน จังหวัดปราจีนบุรี จังหวัดนครราชสีมา และจังหวัดสระแก้ว ใหม่หรือไม่” ผู้ตอบสามารถเลือกตอบ ‘เห็นด้วย’ หรือ ‘ไม่เห็นด้วย’ พร้อมกรอกเหตุผลและข้อเสนอแนะเพิ่มเติมได้
จนเกิดเป็นกระแส #saveทับลาน เพราะกังวลว่า หากเป็นไปตามแนวเขตเมื่อปี 2543 จะทำให้พื้นที่ป่าอนุรักษ์ลดลงและเอื้อต่อนายทุน
ในทางกลับกัน มีอีกกลุ่มที่ออกมาอธิบายว่า แนวเขตเมื่อปี 2543 ไม่ได้มีเพียงกลุ่มนายทุนที่รุกพื้นที่ป่า แต่ยังมีชุมชนที่อยู่มาก่อนการประกาศเขตอุทยานแห่งชาติทับลาน ประชาชนเหล่านี้คือผู้ที่รอคอยความหวังในการเป็นเจ้าของพื้นที่ ได้สิทธิทำกินที่ถูกต้อง โดยไม่ถูกตราหน้าว่าเป็นผู้บุกรุกพื้นที่ป่าทั้งๆ ที่เข้าใช้พื้นที่ทำกินมาก่อน
แนวเขตเมื่อปี 2543 คืออะไร
เส้นแนวเขตปี 2543 มาจากการเดินสำรวจรังวัด จัดทำแผนที่ และฝังเขตหลักอุทยานฯ ร่วมกันเป็นครั้งแรก โดยส่วนราชการ ชุมชน และราษฎรในพื้นที่
เพราะในปี 2524 กรมป่าไม้ (ในขณะนั้น) ประกาศแนวเขตโดยไม่ได้มีการสำรวจและกันพื้นที่ชุมชนออกจากแนวเขตอุทยานฯ จึงทำให้อุทยานแห่งชาติทับลานไปทับซ้อนกับพื้นที่ชุมชนและเขตปฏิรูปที่ดิน ซึ่งไม่ได้มีเพียงแค่ส่วนเดียว
- พื้นที่ชุมชนและเขตปฏิรูปที่ดินที่กรมป่าไม้ส่งมอบพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติให้สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม โดยกำหนดให้เป็นเขตปฏิรูปที่ดินในปี 2521 ตามนโยบายของกระทรวงเกษตร
- พื้นที่ที่ได้รับการจัดตั้งตาม พ.ร.บ.ปกครองท้องที่ พ.ศ.2457
- พื้นที่ชุมชนที่รัฐอพยพชุมชนที่อยู่กระจัดกระจายให้มารวมกันและจัดตั้งหมู่บ้าน ภายใต้ชื่อชุมชน ‘ไทยสามัคคี’ ในพื้นที่อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา
- พื้นที่โครงการพัฒนาเพื่อเสริมความมั่นคงเฉพาะพื้นที่ (พมพ.) และโครงการจัดที่ดินทำกินให้กับราษฎรผู้ยากไร้ในพื้นที่ป่าสงวนเสื่อมโทรม (คจก.)
อย่างไรก็ตาม เส้นแนวเขตปี 2543 ในช่วงเวลานั้นยังไม่ได้บังคับใช้แต่อย่างใด ส่วนหนึ่งเพราะเกิดการปฏิรูประบบราชการและจัดตั้งกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ขึ้นใหม่ในปี 2545
จนกระทั่งรัฐบาลที่ผ่านมามีมติ ครม. เมื่อปี 2558 เห็นชอบให้ปรับปรุงแผนที่แนวเขตที่ดินของรัฐแบบบูรณาการ มาตราส่วน 1:4000 หรือที่เรียกว่า ‘วันแมป’ (One Map) เพื่อให้ประเทศไทยมีเขตแนวที่ดินที่ถูกต้องเป็นมาตรฐานเดียวกัน
ต่อมาเมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2566 มติ ครม. เห็นชอบให้ใช้เส้นแนวเขตปี 2543 มาปรับปรุงแผนที่วันแมป เพื่อแก้ไขปัญหาพื้นที่ทับซ้อนในเขตอุทยานแห่งชาติทับลาน ตามการเสนอของที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) ครั้งที่ 2/2566 ซึ่งมี พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น เป็นประธาน
ทั้งนี้มติ ครม. ที่เกี่ยวข้องบางส่วนยังระบุด้วยว่า พื้นที่ที่ถูกกันออกจากเขตอุทยานฯ จะถูกส่งมอบให้กับ ส.ป.ก. เพื่อจัดสรรที่ดินให้ประชาชนทำกินตามแนวทางของ คทช. หรือตามกฎหมายปฏิรูปที่ดิน หรือเพื่อเกษตรกรรม แล้วแต่กรณี โดยการเพิกถอนแนวเขตอุทยานฯ ในครั้งนี้ไม่เกี่ยวข้องหรือมีผลต่อรูปคดีความต่างๆ ที่อยู่ในกระบวนการยุติธรรมแต่อย่างใด ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคดีรุกป่าเพื่อสร้างรีสอร์ตและโรงแรม รวมกันกว่า 400 คดี พื้นที่รวมกันกว่า 12,000 ไร่
กว่า 40 ปี พื้นที่ทับซ้อนยังไม่ได้รับการแก้ไข
ปัญหาพิพาทเรื่องพื้นที่กินเวลายาวนานมากว่า 40 ปีแล้ว แต่ยังไม่ได้รับการแก้ไขให้เป็นที่พอใจของทุกฝ่าย เพราะไม่เพียงชาวบ้านผู้ได้รับการจัดสรรตามนโยบายของรัฐ แต่ยังมีกลุ่มรุกที่ นายทุน เข้าไปทำรีสอร์ตจำนวนมาก
จนเกิดเป็นคำถามว่า มติ ครม. เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2566 เป็นการเอื้อนายทุนหรือไม่ อรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ชี้แจงว่า รัฐบาลที่ผ่านมาพยายามแก้ไขปัญหาเรื่องที่ดินทำกินให้กับชาวบ้าน จึงเห็นว่าควรทำให้เป็นที่ดินของรัฐ และ ส.ป.ก. ก็ถือเป็นที่ดินของรัฐ ดังนั้น ส.ป.ก. จึงต้องเข้ามาพิจารณาตรวจสอบว่าใครมีสิทธิ โดยในส่วนของกรมอุทยานฯ เองก็จะต้องไปพิจารณาร่วมกันในชั้นของคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติ เพื่อเสนอ ครม. ต่อไปเช่นกัน
“เพราะคุณสมบัติแต่ละคนไม่เท่ากัน บางคนอยู่เดิม บางคนมาซื้อขายเปลี่ยนมือ บางคนเข้ามากว้านซื้อ จึงจำเป็นต้องพิจารณาถึงคุณสมบัติผู้ครอบครองที่ดินของรัฐ แต่บุคคลที่ไม่มีคุณสมบัติตามกฎหมายก็จะไม่มีคุณสมบัติถือครองที่ดินอยู่อย่างนั้น” อรรถพลกล่าว
แม้จะมีคำยืนยันหนักแน่นว่า ผู้บุกรุกและคนไม่มีคุณสมบัติจะไม่มีสิทธิครอบครองพื้นที่ แต่ประเด็นนี้ก็ยังเป็นปมที่หลายฝ่ายกังวล
หากเจาะลึกตามแนวเขต เมื่อนำมาเทียบระหว่างปี 2524 และปี 2543 จะพบว่า มีพื้นที่ต้องกันออกจากแนวเขตอุทยานกว่า 265,000 ไร่ และมีพื้นที่ที่มีสภาพป่าไม้ที่ต้องผนวกกลับมาเป็นอุทยาน 110,000 ไร่
ในจำนวนกว่า 265,000 ไร่นั้นแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ดังนี้
กลุ่มที่ 1 พื้นที่กลุ่มชาวบ้านที่อยู่ในเขตป่าทับลาน และทับซ้อนกับเขตปฏิรูปที่ดินของสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) ในพื้นที่อำเภอวังน้ำเขียว อำเภอครบุรี และอำเภอปักธงชัย จังหวัดนครราชสีมา จำนวน 58,000 ไร่
กลุ่มที่ 2 พื้นที่จัดที่ดินทำกินตามโครงการจัดที่ดินทำกินให้กับราษฎรผู้ยากไร้ในพื้นที่ป่าสงวนเสื่อมโทรม (คจก.) ในพื้นที่อำเภอเสิงสาง อำเภอครบุรี จังหวัดนครราชสีมา และอำเภอนาดี จังหวัดปราจีนบุรี จำนวนกว่า 59,183 ไร่
กลุ่มที่ 3 พื้นที่ดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2541 รัฐดำเนินการตรวจสอบแนวเขตระหว่างปี 2541-2545 จำนวนกว่า 150,000 ไร่ ซึ่งเป็นกลุ่มที่ถูกตั้งคำถามมากที่สุด และมีคดีรุกที่ทั้งที่สิ้นสุดและยังอยู่ระหว่างพิจารณาคดีกว่า 495 คดี
พื้นที่ทับลานกว่า 2.6 แสนไร่ยังเป็นป่าอยู่หรือไม่
ในระหว่างที่ทุกฝ่ายกำลังรอให้การรับฟังความคิดเห็นของกรมอุทยานฯ สิ้นสุดในวันที่ 12 กรกฎาคมนี้ จากนั้นต้องรวบรวมความเห็นไปเสนอต่อคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติภายใน 30 วัน เพื่อสรุปและเสนอต่อ สคทช. หรือ ครม. หากมีมติให้ดำเนินการตามแผนที่ปี 2543 กรมอุทยานก็ต้องมาดำเนินการรังวัดเพื่อปรับแผนที่ท้ายกฎหมายใหม่
กระแสสังคมก็ยังคงดำเนินต่อไป ทั้งฝ่ายอนุรักษ์ผืนป่า ทั้งมูลนิธิสืบนาคะเสถียร และโซเชียลมีเดีย ต่างร่วมกันเรียกร้องให้มองถึงมิติต่างๆ ในแง่ของความกังวลจะสูญเสียพื้นที่ป่าอนุรักษ์ การจัดสรรที่ดินอาจจะเอื้อต่อนายทุน กระทบรูปคดี 400 คดีที่ยังค้างอยู่ หรือต้องจัดสรรให้กับประชาชน ผู้ซึ่งอยู่ทำกินมาก่อนอย่างแท้จริง
ขณะเดียวกัน ศ.ดร.ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี ศาสตราจารย์ด้านมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผู้เห็นด้วยกับการเพิกถอนพื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลาน 2.6 แสนไร่ ระบุว่า
“การใช้วาทกรรม ‘ผืนป่าที่ถูกเฉือน’ ของกลุ่มอนุรักษ์บางกลุ่ม จึงเป็นการจงใจบิดเบือนข้อเท็จจริงเพื่อปั่นกระแสเขียวตกขอบในหมู่ชนชั้นกลางอย่างจงใจ ทั้งที่ในความเป็นจริง ผืนดินทำกินของชาวบ้านต่างหากที่ถูกเฉือนไปเซ่นป่าอนุรักษ์มานานหลายสิบปี อุทยานฯ ประกาศปี 2524 ชาวบ้านบางกลุ่มอยู่กันมาตั้งแต่ก่อนปี 2515 ด้วยซ้ำไป แบบนี้ไม่เรียกว่าอุทยานฯ บุกรุกที่ชาวบ้าน จะให้เรียกว่าอะไร”
ขณะที่ พรพนา ก๊วยเจริญ ผู้อำนวยการ แลนด์ วอทช์ ไทย (Land Watch THAI) ระบุกับบีบีซีไทยว่า นิยามคำว่า ‘ป่าไม้’ ในพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ป่าไม้ พ.ศ. 2484 ระบุว่า ป่าไม้คือที่ดินที่ไม่ได้มาโดยการมีเอกสารสิทธิ์ที่ดิน
นอกจากนี้ สิ่งที่กรมอุทยานฯ นำมาเป็นข้อมูลประกอบการรับฟังความคิดเห็นต่อการเพิกถอนพื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลาน ระบุว่า การเพิกถอนจะส่งผลกระทบต่อแหล่งมรดกโลกทางธรรมชาติของผืนป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ แต่เกณฑ์การเป็นพื้นที่มรดกโลกขององค์การยูเนสโกมีประเด็นของการบริหารจัดการคนที่สามารถอยู่ร่วมกันในพื้นที่ป่าได้ ซึ่งไม่ได้ระบุให้คนต้องออกจากป่า
อย่างไรก็ตามที่ดินกว่า 265,000 ไร่นั้น กรมอุทยานฯ ให้เหตุผลว่า เนื่องจากกิจกรรมของมนุษย์เข้าไปรบกวนสัตว์ป่าตามรอบแนวเขตเกินความสามารถในการควบคุมในพื้นที่
ไม่ว่าสังคมจะตั้งคำถามอย่างไร แต่สิ่งหนึ่งที่ยังไม่ได้รับการยืนยันให้ชัดเจน คือพื้นที่จำนวนกว่า 265,000 ไร่นั้น ปัจจุบันยังมีสภาพเป็นป่ามากน้อยแค่ไหน หรือเป็นเพียงพื้นที่ทำกินที่ไม่ใช่ส่วนหนึ่งของป่ามานานแล้ว
สิ่งนี้คือคำถามที่หลายภาคส่วนยังไม่มีคำตอบให้กับประชาชน ว่าสุดท้ายกระแสที่โซเชียลมีเดียเรียกร้องจะได้ผืนป่ากลับคืนหรือจะกลายเป็นการกดทุกข์ของชาวบ้านผู้ที่เคยถูกพรากสิทธิไปเมื่อ 40 กว่าปีที่แล้วให้คงอยู่ตลอดไป