ข้อมูลจากศูนย์ Identity Theft Resource Center ระบุว่า ในปี 2023 ที่ผ่านมา การหลอกลวงการจ้างงานเพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก โดยเพิ่มขึ้นถึง 118% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า โดยมีเป็นผลสืบเนื่องมาจากอาชญากรใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) เพื่อขโมยเงินและข้อมูลส่วนบุคคลจากผู้หางาน
ผู้เชี่ยวชาญชี้ว่า โดยทั่วไปแล้วโจรจะปลอมตัวเป็นนายหน้าและโพสต์รายชื่องานปลอมเพื่อล่อลวงผู้สมัคร จากนั้นจึงขโมยข้อมูลอันมีค่าในระหว่างกระบวนการ ‘สัมภาษณ์’ โดยบ่อยครั้งที่โจรเหล่านี้ใส่รายการจ้างงานปลอมบนเว็บไซต์ที่มีชื่อเสียง เช่น LinkedIn และแพลตฟอร์มการหางานอื่นๆ ทำให้ยากที่จะแยกความจริงออกจากความลวง
รายงานระบุว่า ผู้ที่ตกเป็นเหยื่อจะมีมูลค่าความเสียหายเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 2,000 ดอลลาร์สหรัฐ
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เป็นอันตรายมากที่สุดจากการตกเป็นเหยื่อของการล่อลวงดังกล่าว คือการเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับบัญชีทางการเงินหรือข้อมูลส่วนบุคคลที่ละเอียดอ่อน (เช่น หมายเลขประกันสังคม) ซึ่งอาชญากรสามารถใช้เพื่อขโมยข้อมูลระบุตัวตนของผู้หางานได้
ด้านข้อมูลจาก Federal Trade Commission พบว่า ในปี 2022 มีผู้บริโภครายงานว่าสูญเสียเงิน 367 ล้านดอลลาร์ ไปกับการหลอกลวงเรื่องงานและโอกาสทางธุรกิจ ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า 76%
แม้ว่าการหลอกลวงเรื่องงานไม่ใช่การฉ้อโกงที่แพร่หลายมากที่สุด โดยคิดเป็นสัดส่วนเพียง 9% ของการหลอกลวงเกี่ยวกับการระบุตัวตนทั้งหมดในปี 2023 รองจากกลโกง Google Voice ซึ่งมีจำนวนทั้งสิ้น 60% แต่ Eva Velasquez ประธานและซีอีโอของ ITRC กล่าวว่า การหลอกลวงการจ้างงานถือเป็นภัยคุกคาม ‘ที่กำลังเกิดขึ้น’
ขณะเดียวกัน ความก้าวหน้าของ AI เป็นหนึ่งในปัจจัยที่ช่วยให้นักต้มตุ๋นสามารถสร้างรายชื่องานและข้อความรับสมัครงานปลอมๆ ที่ดูสมจริงและรู้สึกว่าถูกต้องตามกฎหมายมากขึ้น
ยิ่งไปกว่านั้น การเพิ่มขึ้นของการทำงานทางไกล (Remote Work) ในช่วงยุคการแพร่ระบาดทำให้พนักงานและผู้หางานรู้สึกสะดวกสบายมากขึ้นกับการทำธุรกรรมทางดิจิทัล ทำให้ผู้หางานอาจไม่เคยเห็นตัวตนของผู้ว่าจ้างในระหว่างกระบวนการจ้างงานหรือสัมภาษณ์ปลอม
แม้ว่าจนถึงขณะนี้จะยังไม่มีวิธีการป้องกันตนเองจากการตกเป็นเหยื่อ แต่ทางผู้เชี่ยวชาญจาก FTC (Federal Trade Commission) ได้แนะนำไว้หลายวิธีด้วยกันคือ
- อย่าเชื่อเรื่องโพสต์จ้างงานแม้จะอยู่บนแพลตฟอร์มที่น่าเชื่อถือ
- ดำเนินการตรวจสอบว่าบริษัทมีอยู่และกำลังจ้างงานจริง
- อย่ารับข้อเสนองานจนกว่าคุณจะค้นคว้าข้อมูลด้วยตนเอง
- ระวังหากคุณไม่ได้ติดต่อกับผู้ที่อาจเป็นนายจ้างหรือผู้จัดหางาน ให้ติดต่อบริษัทโดยตรงโดยใช้ข้อมูลติดต่อที่รู้ว่าถูกต้องตามกฎหมาย
- ให้ข้อมูลตามที่จำเป็น ซึ่งโดยทั่วไปข้อมูลส่วนบุคคลที่จำเป็นในระหว่างขั้นตอนการสมัคร ได้แก่ ชื่อ หมายเลขโทรศัพท์ ประวัติงานและการศึกษา และบางทีอาจมีอีเมลและที่อยู่
- นายจ้างที่ซื่อสัตย์จะไม่ส่งเช็คให้เพื่อนำไปซื้อสิ่งของหรือสิ่งอื่นใด จากนั้นหากขอให้มีการส่งเงินที่เหลือกลับมาให้มองไปก่อนว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นการหลอกลวง
- ระวังสิ่งที่ฟังดูดีเกินจริง ตัวอย่างเช่น โฆษณางานสำหรับงานระยะไกล 100% ที่ต้องใช้ทักษะน้อยนิดและเงินเดือนมหาศาล เพราะงานแบบนี้ ‘ไม่สมจริง’
วันเดียวกัน มีรายงานว่า ทางรัฐบาลท้องถิ่นนครเซี่ยงไฮ้ได้จัดทำแนวทางการกำกับดูแลแรกของจีนสำหรับหุ่นยนต์ฮิวแมนนอยด์ โดยเรียกร้องให้ควบคุมความเสี่ยงและความร่วมมือระหว่างประเทศ ในขณะที่ยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีอย่าง Tesla โชว์หุ่นยนต์ของตนเองในการประชุมปัญญาประดิษฐ์ (AI) ที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ
ทั้งนี้ แนวทางชุดใหม่ที่เผยแพร่ในเซี่ยงไฮ้ระหว่างการประชุมปัญญาประดิษฐ์โลก หรือ World Artificial Intelligence Conference (WAIC) เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา (6 กรกฎาคม) ระบุว่า ผู้ผลิตหุ่นยนต์ฮิวแมนนอยด์ควรรับประกันว่าผลิตภัณฑ์ของตน ‘ไม่คุกคามความมั่นคงของมนุษย์’ และ ‘ปกป้องศักดิ์ศรีของมนุษย์อย่างมีประสิทธิผล’
นอกจากนี้แนวทางยังครอบคลุมการตั้งค่าขั้นตอนการเตือนความเสี่ยงและระบบตอบสนองฉุกเฉิน รวมทั้งให้การฝึกอบรมผู้ใช้เกี่ยวกับการใช้เครื่องจักรเหล่านี้อย่างมีจริยธรรมและถูกต้องตามแนวทางของกฎหมาย
ภาพ: Andrey Popov / Getty Images
อ้างอิง: