Starbucks แบรนด์กาแฟระดับโลกประกาศรุกตลาดจีนเต็มรูปแบบ หวังดันรายได้เพิ่มขึ้น 3 เท่าภายใน 5 ปีนี้ โดย เควิน จอห์นสัน (Kevin Johnson) ซีอีโอของ Starbucks ประกาศที่งานประชุมใหญ่สำหรับนักลงทุนที่ประเทศจีนว่า บริษัทตั้งเป้าขยายธุรกิจให้เข้มข้นขึ้น โดยจะเปิดสาขาใหม่ทุก 15 ชั่วโมง หรือปีละเกือบ 600 สาขาจนถึงปี 2022 เพื่อชิงพื้นที่เชนร้านอาหารจากต่างประเทศที่โตเร็วที่สุดในจีน โดยตั้งเป้าเปิดร้านให้ได้ถึง 6 พันสาขา จากเดิมที่ตั้งเอาไว้ที่ 5 พันสาขาในปี 2021
จากข้อมูลของ Euromonitor International ปี 2017 พบว่า ตลาดเครื่องดื่มพร้อมดื่ม (Ready to drink) ในประเทศจีนมีขนาด 1.3 พันล้านเหรียญสหรัฐ โดย Nestle ผู้นำตลาดอาหารและเครื่องดื่มของโลกครองส่วนแบ่งตลาดถึง 70.8% รองลงมาคือเครื่องดื่มในกลุ่มของ Suntory มีส่วนแบ่งตลาดที่ 4.9% Uni-President มีส่วนแบ่งตลาด 3.3% และ Starbucks มีส่วนแบ่งตลาดเพียง 3.1% เท่านั้น อย่างไรก็ตาม พฤติกรรมผู้บริโภคชาวจีนทุกวันนี้ไม่ใช่เรื่องที่คาดเดาได้ง่ายเลย เนื่องจากคนจีนนิยมสั่งซื้อสินค้าที่บ้านผ่านระบบของอีคอมเมิร์ซ และดูเหมือนมนต์ขลังของร้านกาแฟดูจะลดลงไปมาก Starbucks จึงพยายามสร้างบทบาทใหม่ของร้านให้กลายเป็นจุดนัดพบแทน
สิ่งที่เป็นตัวเสริมแรงที่ดีคือดีลล่าสุดที่ Nestle จับมือเป็นพันธมิตรกับ Starbucks ด้วยดีล 7.2 พันล้านเหรียญสหรัฐ จะทำให้แบรนด์กาแฟชื่อดังมีเงินสดมากพอที่จะใช้รุกตลาดจีนสุดกำลัง และตั้งเป้าหมายให้แดนพญามังกรเป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุดของ Starbucks ภายใน 10 ปีนี้ จากข้อมูลปี 2017 ปัจจุบันรายได้ที่มาจากตลาดประเทศจีนและเอเชียแปซิฟิกคิดเป็น 15% ของรายได้ทั้งหมด ที่ 3.2 พันล้านเหรียญสหรัฐ สิ่งที่เป็นข้อได้เปรียบสำคัญคือ Nestle สามารถขายสินค้ากาแฟแบรนด์ Starbucks ได้ในช่องทางที่ตนถนัด ทั้งซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านอาหาร และบริการจัดเลี้ยง ซึ่งเดิมไม่เคยทำตลาดส่วนนี้มาก่อน Nestle มีช่องทางการจัดจำหน่ายผ่าน 1.5 ล้านร้านค้า ซึ่งจะเป็นประโยชน์กับการสร้างการรับรู้และขยายตลาดของ Starbucks ได้
CEO ของ Starbucks ประกาศจะสร้างงานให้กับคนจีนกว่า 1 หมื่นตำแหน่งทุกปี พร้อมทั้งประกันสุขภาพสำหรับบุพการีของพนักงานอีกด้วย นอกจากนี้ยังให้บริการรับสั่งสินค้าผ่านสมาร์ทโฟนและจัดส่งให้ถึงที่ด้วย
แม้ตลาดประเทศจีนจะขึ้นชื่อว่าเป็นตลาดปราบเซียน และแบรนด์ยักษ์ใหญ่ระดับโลกที่เคยเข้ามารุกตลาดหลายแบรนด์ต่างพับเสื่อเก็บของกลับบ้านในช่วงที่ผ่านมา แต่ด้วยขนาดประชากร กำลังซื้อ และการบริโภคที่มหาศาลยังเป็นแม่เหล็กที่ดึงดูดและท้าทายให้ธุรกิจต่างๆ อยากจะเข้ามาชิงพื้นที่นี้กันทั้งสิ้น ไม่เว้นแม้แต่ Starbucks เอง ซึ่งคงต้องติดตามทุกก้าวจากนี้ว่าจะไปถึงเป้าหมายหรือไม่ท่ามกลางความกดดันเรื่องข้อขัดแย้งการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีนที่ยังหาข้อสรุปที่ลงตัวไม่ได้ในขณะนี้
อ้างอิง: