×

SCB EIC ชี้ โลกเสี่ยงเผชิญปัญหา Economic Decoupling รุนแรงมากขึ้น หลังจีน-สหรัฐฯ แบ่งขั้วชัดเจน

08.07.2024
  • LOADING...
SCB EIC Economic Decoupling

SCB EIC มองเทรนด์ระเบียบโลกใหม่เปลี่ยน มีขั้วมหาอำนาจเพิ่ม ทั้งจีน, อินเดีย, รัสเซีย, แอฟริกาใต้ และบราซิล ที่จับมือรวมกลุ่ม ร่วมผลักดันเพิ่มบทบาทเวทีการค้าระหว่างประเทศ

 

ดร.ฐิติมา ชูเชิด ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยเศรษฐกิจมหภาค ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) ให้สัมภาษณ์ผ่านรายการ Morning Wealth ว่า SCB EIC มีมุมมองว่า ในระยะข้างหน้าเศรษฐกิจของโลกน่าจะเผชิญปัญหาการแบ่งขั้วทางเศรษฐกิจ (Economic Decoupling) มีความเสี่ยงที่จะยกระดับความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น ปัจจุบันจะเห็นได้จากภาพการแบ่งขั้วระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีนที่มีภาพที่ชัดเจนยิ่งขึ้น

 

ทั้งนี้ เห็นได้ว่าแนวโน้มของระเบียบโลกใหม่จะถูกเปลี่ยนจากเดิมที่มีมหาอำนาจของโลกเพียงรายเดียวคือ สหรัฐฯ เป็นมหาอำนาจที่มาจากหลายขั้ว ซึ่งจะมีประเทศมหาอำนาจเข้ามามีบทบาทเพิ่มขึ้น ทั้งจีน, อินเดีย, รัสเซีย, แอฟริกาใต้ และบราซิล ที่จับมือรวมกลุ่มกันเป็นกลุ่ม BRICS ซึ่งเป็นการรวมกลุ่มของประเทศตลาดเกิดใหม่ที่พยายามผลักดันเพื่อเพิ่มบทบาทเวทีการค้าระหว่างประเทศให้เพิ่มมากขึ้น รวมถึงลดการพึ่งพาเงินดอลลาร์ในการชำระเงินด้วย

 

Economic Decoupling ส่อแรงขึ้น

 

ปัจจัยการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในช่วงเดือนพฤศจิกายนปีนี้จะเร่งให้สถานการณ์ Economic Decoupling รุนแรงเพิ่มมากขึ้นอีก โดยเริ่มเห็นสัญญาณเพิ่มความรุนแรงตั้งแต่ก่อนการเลือกตั้งจากนโยบายหาเสียงของผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่ออกมาตรการกีดกันทางการค้าเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะนโยบายหาเสียงของ โดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งส่งผลต่อคะแนนความนิยมของทรัมป์ให้ปรับตัวขึ้นค่อนข้างดี ดังนั้นในอนาคตจึงมีแนวโน้มที่จะเห็นนโยบายเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ที่โจมตีจีนเพิ่มมากขึ้น

 

จากการศึกษาของ SCB EIC ในกรณีที่ Economic Decoupling รุนแรงมากขึ้นอีก โดยแบ่งผลการศึกษาออกเป็น 3 กลุ่มประเทศ

 

  1. กลุ่มสหรัฐฯ, สหภาพยุโรป และออสเตรเลีย

 

  1. กลุ่มจีนและกลุ่มประเทศที่อยู่ฝ่ายเดียวกับจีน

 

  1. กลุ่มประเทศที่มีบทบาทเป็นกลาง ได้แก่ อินเดีย รวมถึงกลุ่ม ASEAN-5 รวมทั้งไทย และอีกหลายประเทศในกลุ่มแอฟริกา

 

โดยจากการศึกษามีการทำสมมติฐาน หากเกิดกรณีประเทศกลุ่ม 1 ที่มีสหรัฐฯ เป็นผู้นำ และกลุ่ม 2 ที่มีจีนเป็นผู้นำ ประกาศจัดเก็บภาษีสินค้านำเข้า 40% ระหว่างกันในทุกกลุ่มสินค้า พบว่าจะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกรวมทั้งการค้าและการส่งออก

 

จีนเสี่ยงโดนผลกระทบหนักสุด

 

กลุ่มที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคือ กลุ่มจีนและกลุ่มประเทศที่อยู่ฝ่ายเดียวกับจีน ส่วนฝั่งสหรัฐฯ และกลุ่มประเทศที่อยู่ฝ่ายสหรัฐฯ จะได้รับผลกระทบในอัตราที่น้อยกว่า เนื่องจากฝ่ายของสหรัฐฯ สามารถใช้เครื่องยนต์ภายในประเทศขับเคลื่อนเศรษฐกิจภายในได้ หรือสินค้าที่เคยส่งออกก็สามารถนำกลับเข้ามาขายในประเทศทดแทนได้

 

อย่างไรก็ดี จากสถานการณ์ดังกล่าวจะมีกลุ่มที่ได้ประโยชน์คือ กลุ่มที่ 3 ที่มีบทบาทวางตัวเป็นกลาง รวมถึงไทยซึ่งจะได้ประโยชน์จากประเด็นดังกล่าวด้วย โดยภาพรวมของเศรษฐกิจและการส่งออกจะได้รับผลบวกจากประเด็นดังกล่าว ซึ่งหากห่วงโซ่การผลิตของโลกแตกออกมาเป็นหลายส่วน ไทยก็มีโอกาสที่จะเข้าไปเกี่ยวข้องในส่วนนี้ด้วย ส่งผลบวกต่อภาพการส่งออกของประเทศไทยที่จะได้รับอานิสงส์จากความต้องการสินค้าส่งออกสุทธิสูงขึ้นจากประเทศที่แบ่งขั้ว 

 

เปิดรายชื่อธุรกิจได้ประโยชน์

 

หากศึกษาเจาะรายอุตสาหกรรมของไทยที่จะได้รับประโยชน์จาก Economic Decoupling มีจำนวน 5 อุตสาหกรรม ได้แก่ อุตสาหกรรมยานยนต์, คอมพิวเตอร์, อิเล็กทรอนิกส์, เนื้อสัตว์ และเครื่องดื่ม โดยกลุ่มธุรกิจอุตสาหกรรมยานยนต์, คอมพิวเตอร์ และอิเล็กทรอนิกส์ ถือเป็นกลุ่มที่มีฐานการผลิตและมีฐานซัพพลายเชนอยู่ในประเทศไทยอยู่แล้ว ซึ่งเป็นจุดแข็งที่นักลงทุนต่างประเทศที่ต้องการเข้ามาลงทุนสามารถเข้ามาต่อยอดการลงทุนได้ทันที 

 

ส่วนธุรกิจเนื้อสัตว์ ประเทศไทยถือว่ามีจุดแข็งในด้านทรัพยากร สามารถแข่งขันได้

 

สำหรับภาคอุตสาหกรรมที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบในด้านลบจากประเด็น Economic Decoupling ก็มีจำนวนมากเช่นกัน ซึ่งมีดังนี้

 

กลุ่ม 1 คืออุตสาหกรรมที่เชื่อมโยงกับอุปสงค์หรือห่วงโซ่การผลิตของจีน ได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจของจีนที่ชะลอตัวลง 

 

กลุ่ม 2 คือกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากการทุ่มตลาดของสินค้าจีน

 

กลุ่ม 3 คือกลุ่มที่สหรัฐฯ ต้องการนำเข้าสินค้าที่ผลิตในอาเซียนที่เพิ่มมากขึ้น ขณะที่ประเทศคู่แข่งในอาเซียนของไทยมีการปรับตัวในการแข่งขัน ซึ่งอาจได้รับผลกระทบด้านลบบ้าง แต่โดยรวมมองว่ายังมีผลกระทบที่เป็นบวก

 

โดยหากดูความสามารถในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรมไทย พบว่ายังมีความเสี่ยงจากหลายประเด็นที่อาจกระทบต่อการดำเนินธุรกิจ ทั้งปัญหาภูมิรัฐศาสตร์, การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ, การกีดกันทางการค้า และพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป

 

ดังนั้น เมื่อพิจารณาศักยภาพความสามารถของภาคธุรกิจไทย พบว่าภาคอุตสาหกรรมการเกษตรถือว่าเป็นภาคธุรกิจที่ไทยมีความเชี่ยวชาญและการแข่งขันไม่รุนแรง เพราะไทยยังถือว่ามีความพร้อมในด้านทรัพยากร

 

ขณะที่อุตสาหกรรมยานยนต์, คอมพิวเตอร์, อิเล็กทรอนิกส์, ปิโตรเคมี และอาหารทะเล ของไทยถือว่ามีความเชี่ยวชาญ แต่เป็นภาคอุตสาหกรรมที่มีการแข่งขันที่สูงมาก

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

X
Close Advertising