วันนี้ (8 กรกฎาคม) ที่ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก พล.ต.อ. สุรเชษฐ์ หักพาล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (รอง ผบ.ตร.) เดินทางมาเข้าไต่สวนมูลฟ้องครั้งแรกในคดี โดยเป็นโจทก์ฟ้อง อัจฉริยะ เรืองรัตนพงศ์ ประธานชมรมช่วยเหลือเหยื่ออาชญากรรม และสื่อสิ่งพิมพ์ เป็นการใช้สิทธิดำเนินคดีฟ้องร้องต่อศาลอาญาเมื่อตนเองถูกกระทบสิทธิ
เมื่อถามถึงกรณีที่วันนี้คณะพนักงานสอบสวนตำรวจในคดีเว็บไซต์พนันออนไลน์เครือข่ายมินนี่จะนำสำนวนคดีจากพนักงานอัยการสำนักงานคดีปราบปรามการทุจริตมาส่งให้สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (สำนักงาน ป.ป.ช.) พิจารณาไต่สวนนั้น
พล.ต.อ. สุรเชษฐ์ กล่าวว่า เนื่องจากสำนวนดังกล่าวที่พนักงานสอบสวนตำรวจได้มีความเห็นสั่งฟ้องผู้ใต้บังคับบัญชาจำนวน 8 คนของตนเอง และส่งสำนวนไปยังอัยการสำนักงานคดีปราบปรามการทุจริต แต่ทางอัยการได้พิจารณาแล้วว่าเป็นอำนาจของ ป.ป.ช. ซึ่งเป็นไปตามที่ตนเองเคยได้กล่าวก่อนหน้านี้ว่า สำนวนคดีนี้เป็นเรื่องความผิดเกี่ยวกับเจ้าหน้าที่รัฐ ไม่ใช่อำนาจตำรวจที่จะพิจารณาสั่งฟ้อง
และเป็นไปตาม พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 ที่ได้ระบุว่า หากเป็นเจ้าหน้าที่รัฐกระทำความผิด พนักงานสอบสวนมีอำนาจสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานในเบื้องต้นเท่านั้น แต่ไม่สามารถออกหมายเรียกหรือหมายจับได้ กฎหมายมีหลักเดียว สุดท้ายอัยการจึงพิจารณาว่าเป็นอำนาจของ ป.ป.ช. จึงได้พิจารณาส่งคืนสำนวนไปยังพนักงานสอบสวน พนักงานสอบสวนจึงต้องนำสำนวนส่งไปคืน ป.ป.ช. ไปใน 30 วัน ซึ่งตนเองได้กล่าวหาคณะพนักงานสอบสวนไว้ทั้งหมดแล้วว่าเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ
“จะเห็นได้ว่าการสอบสวนที่ผมบอกว่าเป็นการสอบสวนโดยชอบหรือไม่ชอบอย่างไร ท่านก็จะเห็นว่าตำรวจสอบสวนได้เฉพาะคดีความผิดอาญา แต่หากเป็นความผิดต่อเจ้าหน้าที่รัฐอย่างไรก็ต้องส่ง ป.ป.ช. ไม่ใช่ดึงไปสอบไปเอง” พล.ต.อ. สุรเชษฐ์ กล่าว
พล.ต.อ. สุรเชษฐ์ กล่าวต่อว่า วันนี้เป็นการส่งสำนวนกลับ ผู้ใต้บังคับบัญชาทั้ง 8 คนไม่ต้องเดินทางไป ป.ป.ช. แต่หากเป็นการสั่งฟ้องจึงจะเรียกลูกน้องของตนเองไป
พล.ต.อ. สุรเชษฐ์ ยังได้เปรียบเทียบกรณีดังกล่าวกับกรณีที่คณะพนักงานสอบสวนและอัยการมีความเห็นสั่งฟ้องข้าราชการตำรวจตั้งแต่ระดับผู้การลงไปจนถึงรองสารวัตรกว่า 20 ราย ในคดีที่อดีตผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดชลบุรีกับพวกเรียกรับเงินจากเว็บพนันออนไลน์ 140 ล้านบาท (คดีเป้รักผู้การเท่าไร) ซึ่งถือว่าเป็นการสั่งฟ้องในคดีอาญา มีผู้เสียหายชัดเจน และเป็นคดีสำคัญร้ายแรง แต่กลับไม่มีคำสั่งให้ออกจากราชการทั้งหมดเหมือนกับกรณีของตนเองซึ่งเป็นสิ่งที่ตนเองต่อสู้มาตลอด แสดงให้เห็นว่าเป็นเรื่องสองมาตรฐาน
“ดังนั้นที่นายกรัฐมนตรีกล่าวว่าจะให้ความเป็นธรรมกับตนเองนั้นก็เป็นเพียงวาทกรรมที่พูดไป เหตุใดนายกรัฐมนตรีในฐานะผู้บังคับบัญชาของตำรวจ หรือผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติจึงไม่ดำเนินการ” พล.ต.อ. สุรเชษฐ์ กล่าว