×

สินค้าจีนล้นตลาด ภาวะ Overcapacity ปัญหาของใคร?

08.07.2024
  • LOADING...

ปัญหาสินค้าจีนล้นทะลักจากอุปทานจีนที่ล้นตลาด (Overcapacity) หรือกำลังการผลิตที่ล้นเกิน เป็นอีกหนึ่งประเด็นที่มีการถกเถียงกันในระดับโลกในช่วงเวลานี้ โดยเฉพาะในประเด็นว่า Overcapacity จากจีนจะกระทบใครบ้าง และผลกระทบของปัญหานี้จะรุนแรงแค่ไหน ซึ่งบทความนี้จะมาวิเคราะห์ในแต่ละประเด็น

 

ประเด็นแรก ความหมายของ Overcapacity หรือกำลังการผลิตที่ล้นเกิน ในมุมเศรษฐศาสตร์ หากอุตสาหกรรมใดมีอุปทานการผลิตล้นเกินกว่าอุปสงค์ความต้องการ จะส่งผลให้สินค้านั้นราคาถูกลง เพื่อระบายสินค้าคงเหลือ แม้ว่าจะเป็นผลดีในมุมของผู้บริโภค แต่ก็เป็นแรงกดดันต่อคู่แข่งของผู้ผลิตสินค้าล้นเกินเหล่านั้น และในระยะยาว หากไม่สามารถแข่งขันได้ ก็ต้องปิดโรงงานและย่อมจะกระทบการจ้างงาน ทำให้การจ้างงานลดลง

 

ในกรณีของจีน ซึ่งเป็นประเทศขนาดใหญ่และมีข้อได้เปรียบเชิงขนาด (Scale Advantage) ผู้ผลิตจีนจึงมักจะเน้นการผลิตเชิงปริมาณจำนวนมาก (Mass Production) เพื่อให้ต้นทุนเฉลี่ยต่อหน่วยลดลง เกิดการประหยัดต่อขนาด (Economies of Scale) หวังจะป้อนตลาดภายในของจีนที่มีผู้บริโภคจำนวนมหาศาล อย่างไรก็ดี บางอุตสาหกรรมของจีนมีการผลิตมากเกินกว่าความต้องการของตลาดภายในจีนเอง ประกอบกับภาวะเศรษฐกิจจีนในยุคหลังโควิดที่ค่อนข้างอึมครึมซบเซา กำลังซื้อภายในประเทศจีนไม่คึกคักเหมือนเดิม คนจีนใช้จ่ายน้อยลง หันมาเน้นเก็บเงินอดออมมากขึ้น (จนเกิดกระแส ‘เก็บเงินเพื่อล้างแค้น’ หรือ ‘เป้าฟู่ซิ่งฉุนเฉียน’ ในจีน) ยิ่งทำให้สินค้าจีนที่ล้นเกินเหล่านั้นถูกส่งออกไปต่างประเทศมากขึ้น เพราะจีนลดกำลังการผลิตได้ยาก 

 

ดังนั้นประเด็นสินค้าจีนล้นทะลักจาก Overcapacity จนต้องระบายส่งออกไปตีตลาดทั่วโลกเริ่มถูกพูดถึงด้วยความกังวลมากขึ้น เพราะจะทำให้อุตสาหกรรมท้องถิ่นอยู่ไม่ได้ ทำให้คู่แข่งจีนในต่างประเทศต้องถูกกระทบเสียหาย รัฐบาลบางประเทศในโลกตะวันตกเริ่มออกมาตรการกีดกันสินค้าจีน ประกาศขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากจีน โดยมองว่ามีการแทรกแซงอุดหนุนโดยรัฐบาลจีนในการระบายสินค้าล้นเกินเหล่านั้นไปทุ่มตลาดโลก ทำให้เกิดการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม

 

ประเด็นที่สอง อุตสาหกรรมใดของจีนที่ถูกจับตาว่ามีกำลังการผลิตล้นเกิน ส่วนใหญ่จะเป็นอุตสาหกรรมหนักที่มีการผลิตแบบดั้งเดิมเน้นเชิงปริมาณ เช่น เหล็ก ซีเมนต์ และแก้ว จนเกิดการผลิตล้นเกินมานานหลายปี ส่วนหนึ่งเกิดจากนโยบายของรัฐบาลจีนในอดีตที่ทุ่มงบอัดฉีดส่งเสริมให้มีการพัฒนาอุตสาหกรรมหนักเหล่านั้น ตลอดจนกลุ่มพลังงานทางเลือก เช่น แผงโซลาร์เซลล์ มีการขยายการผลิตกระจายอยู่ในมณฑลต่างๆ จนทำให้ปริมาณการผลิตแผงโซลาร์เซลล์ของจีนทั้งประเทศมีมากกว่าความต้องการของทั้งโลกถึงสองเท่า ส่งผลให้แผงโซลาร์เซลล์ของจีนมีราคาถูกลงเป็นอย่างมาก

 

นอกจากโซลาร์เซลล์แล้ว ยังมีสินค้าในกลุ่มพลังงานใหม่ เช่น รถยนต์ไฟฟ้า (EV) และแบตเตอรี่ลิเธียม ซึ่งเป็น 1 ใน 10 อุตสาหกรรมแห่งอนาคตภายใต้แผนยุทธศาสตร์ Made in China 2025 และอยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรม ‘สามใหม่’ (New Three Industries) ที่รัฐบาลจีนเพิ่งประกาศด้วย ประกอบด้วย

  1. รถยนต์ไฟฟ้า
  2. แบตเตอรี่ลิเธียมไอออน และ
  3. เซลล์แสงอาทิตย์ (Solar Photovoltaic) 

 

ดังนั้นด้วยการสนับสนุนและผลักดันอย่างหนักจากภาครัฐในยุคสีจิ้นผิง จึงกลายเป็นใบเบิกทางเอื้อให้อุตสาหกรรมเหล่านี้มีการขยายการผลิตอย่างรวดเร็ว และเน้นออกไปทำตลาดต่างประเทศในเชิงรุก จนเกิดประเด็น ‘สงครามราคา’ ที่กระทบคู่แข่งในหลายประเทศ ทำให้มีหลายฝ่ายได้ออกมาแสดงความกังวลในประเด็นนี้ เช่น ในเดือนเมษายนที่ผ่านมา เจเน็ต เยลเลน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของสหรัฐอเมริกา ได้กล่าวถึงประเด็นนี้ว่า “รัฐบาลจีนให้เงินสนับสนุน ต้องเร่งส่งออก และนำไปสู่การทะลักล้นของสินค้าในตลาดโลก”

 

ประเด็นที่สาม สินค้าผลิตล้นเกินของจีนส่งผลกระทบต่อประเทศใดบ้าง หลายประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำ เช่น สหรัฐอเมริกา ยุโรป และญี่ปุ่น ต่างก็กังวลว่ากำลังการผลิตส่วนเกินของจีนในอุตสาหกรรมต่างๆ เช่น รถยนต์ไฟฟ้า มีการทุ่มตลาดลดราคาขายถูกลง จะส่งผลกระทบต่อผู้ผลิตภายในประเทศของตนที่ไม่สามารถแข่งขันกับสินค้าราคาถูกจากจีน รวมทั้งมองว่าสินค้าจีนเหล่านั้นได้รับการอุดหนุนการส่งออกจากรัฐบาลจีน ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม ประเทศเหล่านี้จึงออกมาตรการต่างๆ เพื่อกีดกันการนำเข้าจากจีน เช่น สหรัฐฯ ประกาศปรับขึ้นภาษีนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้าจีนจาก 27.5% เป็น 102.5% และสหภาพยุโรป ประกาศเก็บภาษีรถยนต์ไฟฟ้าที่ผลิตในจีนในอัตรา 37.6%

 

ในขณะเดียวกัน ผู้บริโภครายได้ต่ำในหลายประเทศ เช่น แถบแอฟริกาและลาตินอเมริกา ก็อาจจะได้รับประโยชน์จากสินค้าราคาต่ำที่นำเข้าจากจีน และจะเป็นการเพิ่มทางเลือกให้กับผู้บริโภคที่สามารถเข้าถึงสินค้าจีนที่ราคาถูกลง ตัวอย่างเช่น รถยนต์ไฟฟ้าจีนราคาไม่แพงในบราซิล เอื้อให้ผู้บริโภคชาวบราซิลได้รับประโยชน์จากการหันมาใช้รถยนต์ไฟฟ้าพลังงานสะอาดที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ในขณะนี้บราซิลได้กลายเป็นผู้นำเข้ารถยนต์ไฟฟ้าจากจีนรายใหญ่ที่สุดของโลก

 

ดังนั้นสินค้าจีนราคาถูกจากการผลิตล้นเกินจะส่งผลกระทบต่อประเทศต่างๆ มากน้อยเพียงใด ขึ้นอยู่กับแต่ละภาคการผลิต แต่ละกลุ่มผู้บริโภค รวมทั้งโครงสร้างเศรษฐกิจที่แตกต่างกันของแต่ละประเทศนั้นๆ

 

ฝ่ายรัฐบาลจีนพยายามชี้แจงต่อความกังวลเรื่องกำลังการผลิตล้นเกินของจีน เช่น นายกรัฐมนตรีหลี่เฉียงของจีนเคยกล่าวว่า “รัฐบาลสหรัฐฯ ไม่ควรนำเศรษฐกิจการค้ามาทำให้เป็นเรื่องการเมือง แต่ควรพิจารณาประเด็นกำลังการผลิตตามข้อเท็จจริงและโต้แย้งด้วยหลักเหตุผล ด้วยมุมมองของระบบเศรษฐกิจกลไกตลาด มุมมองในระดับโลก และบนพื้นฐานของหลักการทางเศรษฐกิจ” นอกจากนี้หลายฝ่ายของจีนก็พยายามชี้ให้เห็นในมุมเชิงบวกของสินค้าส่งออกราคาถูกจากจีนว่า “จากมุมมองด้านอุปสงค์ ผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในราคาที่เอื้อมถึงได้ที่ผลิตจากจีน จะช่วยส่งเสริมมาตรฐานการครองชีพและความเป็นอยู่ของผู้บริโภครายได้ต่ำในหลายประเทศ” โดยเฉพาะประเทศโลกขั้วใต้ (Global South)

 

ประเด็นที่สี่ อาเซียนถูกกระทบจากสินค้า Overcapacity ราคาถูกจากจีนหรือไม่ แน่นอนว่าหลายประเทศในอาเซียน เช่น เวียดนาม ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย ได้แสดงความกังวลในประเด็นสินค้าราคาถูกที่ล้นทะลักมาจากจีน ผู้ผลิตในประเทศเหล่านั้นต้องดิ้นรนอย่างหนักเพื่อความอยู่รอด เช่น เหล็ก สิ่งทอ รัฐบาลบางประเทศในอาเซียนจึงได้ออกมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการในท้องถิ่นของตน เช่น อินโดนีเซียเพิ่งประกาศแผนที่จะใช้มาตรการปกป้องอุตสาหกรรมในประเทศ โดยการประกาศเก็บภาษีกับสินค้านำเข้า (Safeguard Duties) เพื่อปกป้องผู้ประกอบการธุรกิจ SMEs รายเล็ก เช่น รองเท้า สินค้าเซรามิก โดยเบื้องต้นอินโดนีเซียประกาศว่าจะเก็บภาษีศุลกากรกับสินค้าที่ผลิตจากจีนอยู่ที่อัตรา 100-200%

 

ที่สำคัญ หลายประเทศในอาเซียนประสบปัญหาขาดดุลการค้ากับจีน เช่น เวียดนามมีการขาดดุลการค้ากับจีนอย่างมหาศาล จนเกิดประเด็นกังวลว่าหากปล่อยให้ปัญหายืดเยื้อในระยะยาว อาจส่งผลกระทบต่อทุนสำรองเงินตราและค่าเงิน เป็นต้น

 

ประเด็นสุดท้าย กรณีประเทศไทยจะได้รับผลกระทบจากสินค้าราคาถูกจากจีนที่ล้นทะลักเข้ามาอย่างไรบ้าง ประเด็นผลกระทบต่อประเทศไทย ในแต่ละอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องย่อมถูกกระทบมากน้อยไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ตัวอย่างเช่น ภาคอุตสาหกรรมที่ผู้ผลิตไทยมีจุดแข็งและมีความสามารถในการแข่งขัน เช่น กลุ่มอาหารแปรรูป ก็จะได้รับผลกระทบน้อยกว่าอุตสาหกรรมอื่นๆ เช่น สิ่งทอหรือเฟอร์นิเจอร์ เป็นต้น

 

แต่ที่น่าเป็นห่วงคือผลกระทบต่อผู้ประกอบการ SMEs รายเล็ก เช่น การแข่งขันด้านราคา กระแสสินค้าจีนราคาถูกทะลักเข้ามาตีตลาดในประเทศไทยเป็นแรงกดดันบีบให้ราคาสินค้าที่ผลิตในไทยต้องลดต่ำลง ทำให้ผลกำไรของผู้ผลิตต้องลดลงตามไปด้วย รวมทั้งส่วนแบ่งการตลาดที่ลดลงจากการที่ผู้บริโภคของไทยหันไปซื้อสินค้าราคาถูกจากจีนมากขึ้นผ่านช่องทางและแพลตฟอร์มต่างๆ เช่น สินค้าออนไลน์ และในระยะยาวหากผู้ประกอบการไทยแข่งขันไม่ได้ ก็จะต้องปิดกิจการหรือปิดโรงงาน ซึ่งก็จะทำให้แรงงานไทยตกงานมากขึ้น

 

ล่าสุดจากข้อเรียกร้องของผู้ประกอบการที่ถูกกระทบจากสินค้าราคาถูกที่นำเข้าจากจีน ทำให้รัฐบาลไทยต้องออกมาตรการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ในอัตรา 7% จากการนำเข้าสินค้าที่มีมูลค่าไม่เกิน 1,500 บาท เพื่อหวังจะแก้ไขปัญหาความไม่เป็นธรรมระหว่างผู้ขายในประเทศกับผู้ขายจากต่างประเทศ ซึ่งเดิมไม่มีการเก็บภาษี VAT ดังกล่าว

 

ทั้งนี้ จากมุมมองเชิงบวกในแง่การเพิ่มทางเลือกให้กับผู้บริโภคของไทยในการเข้าถึงสินค้า Green Product จากจีนในราคาถูกลง เช่น รถยนต์ไฟฟ้าจีนนั้น จะเอื้อให้ผู้บริโภคไทยได้รับประโยชน์จากการหันมาใช้รถยนต์ไฟฟ้าพลังงานสะอาดที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

 

นอกจากนี้ ในอีกมุมหนึ่ง การแข่งขันกับจีนจะสร้างแรงผลักดันให้ผู้ผลิตในประเทศต้องสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ให้มีคุณภาพดีขึ้น แรงกดดันจากจีนจะบีบให้ผู้ผลิตในท้องถิ่นจะต้องคิดค้นสร้างสรรค์และปรับปรุงผลิตภัณฑ์ รวมทั้งอัปเกรดกระบวนการผลิต เพื่อจะได้รักษาความสามารถในการแข่งขันต่อไป หากทำได้สำเร็จจะทำให้สามารถผลิตสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น รวมทั้งการต่อยอดพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่สูงขึ้นต่อไป  

 

อย่างไรก็ดี ทั้งหมดนี้ไม่ใช่เรื่องที่จะเกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ ขึ้นอยู่กับความสามารถในการปรับตัวของภาคส่วนต่างๆ ในประเทศไทย และอีกหลายปัจจัยที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะบทบาทและนโยบายของรัฐบาลไทยในการรับมือกับความท้าทายเหล่านี้อย่างเฉียบขาดและถูกทิศถูกทาง

 

โดยสรุป ปัญหา Overcapacity กำลังการผลิตล้นเกินของจีนที่เป็นประเด็นถกเถียงระดับโลก จะส่งผลกระทบทั้งเชิงลบและเชิงบวก บางคนอาจจะกังวลถึงผลกระทบต่อผู้ผลิตในท้องถิ่นที่แข่งขันไม่ได้ แต่ในอีกมุมมองก็จะเป็นโอกาสของผู้บริโภคที่จะมีทางเลือกในการซื้อสินค้าราคาถูกลง อย่างไรก็ดี หากเกิด ‘สงครามราคา’ แข่งขันกันลดราคาที่มากจนเกินไป หรือเน้นลดต้นทุนด้วยการลดคุณภาพสินค้าต่ำกว่ามาตรฐาน ก็จะส่งผลกระทบเชิงลบต่อผู้บริโภคได้เช่นกัน สำหรับผลกระทบในระยะยาวจะเป็นอย่างไร และภาครัฐจะรับมือกับปัญหาเหล่านี้อย่างไร ยังคงต้องจับตากันต่อไป

 

ภาพ: Tang Ke / VCG via Getty Images

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X