ช่างภาพข่าว THE STANDARD ลงพื้นที่เก็บภาพ ‘ฝาท่อลายอาร์ต’ ในพื้นที่เขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพมหานคร ย่านเก่าแก่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ช่วงซอยศาลเจ้าโรงเกือกถึงศาลเจ้าโจวซือกง นักท่องเที่ยวจะได้สัมผัสกับศิลปะบนฝาท่อที่เป็นเหมือนไทม์แมชชีนพาย้อนเวลาไปสัมผัสเรื่องราวในอดีตของชุมชนแห่งนี้
โดยโปรเจกต์นี้เกิดขึ้นจากความร่วมมือระหว่างกรุงเทพมหานครกับหน่วยงานภาคเอกชน ซึ่งเขตสัมพันธวงศ์มองเห็นถึงคุณค่าของตลาดน้อยกับเยาวราช จึงปรับปรุงทางเดินเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา พร้อมออกแบบฝาท่อให้มีลวดลายเฉพาะตัว บอกเล่าเรื่องราวของย่านนี้
THE STANDARD ได้เก็บภาพฝาท่อทั้ง 7 แบบที่ออกแบบโดยศิลปิน จุฤทธิ์ กังวานภูมิ ร่วมด้วยคนในชุมชนตลาดน้อย มาให้ชมประกอบด้วย
ฝาท่อที่ 1 ตรอกศาลเจ้าโรงเกือก: สื่อให้เห็นถึงภาพลักษณ์ของย่าน ซึ่งขึ้นชื่อเรื่องสถาปัตยกรรมเก่าแก่ บ้านทรงจีน ร้านค้าที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว
ฝาท่อที่ 2 ตรอกศาลเจ้าโรงเกือก: ตรอกเก่าแก่ของกลุ่มชาวจีนฮากกา ซึ่งในอดีตจะมีโรงทำรองเท้าและโรงตีเหล็ก และยังเป็นที่ตั้งของศาลเจ้าฮ้อนหว่องกุง (ศาลเจ้าโรงเกือก) ที่ข้าราชการนิยมมาขอพรให้มีความก้าวหน้าและมีโชคลาภเงินทอง
ฝาท่อที่ 3 ซอยเจ้าสัวสอน: เล่าเรื่องอดีตของบริเวณนี้ ซึ่งเคยเป็นท่าเรือของบ้านโซวเฮงไถ่ ผู้เป็นนายอากรรังนกในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ จึงทำให้ตลาดน้อยเคยมีเรือสำเภาจีนมาจอดเทียบท่าค้าขายสินค้า
ฝาท่อที่ 4 ซอยดวงตะวัน: รถเฟียตตลาดน้อยที่จอดสงบนิ่งอิงกับกำแพงอิฐสมัยโบราณ บอกเล่าเรื่องราวความเก่าแก่ของพื้นที่ และความรุ่งเรืองของย่านอะไหล่เก่าเซียงกง
ฝาท่อที่ 5 ซอยดวงตะวัน: เล่าถึงเทศกาลกินเจในตลาดน้อย ซึ่งเป็นเทศกาลเก่าแก่ของย่าน และในทุกปีจะต้องมีขบวนแห่ทางเรือไปตามแม่น้ำ เพื่อทำพิธีลอยกระทงในวันชิวฉิก (วันที่เจ็ดของเทศกาลกินเจ)
ฝาท่อที่ 6 ฝาบนทางเท้าทั้งโครงการ: ได้แรงบันดาลใจจากลายกระดองเต่า ซึ่งเป็นสัตว์มงคลที่สื่อถึงความอายุยืน มีสุขภาพดี เดินหน้าอย่างมั่นคงยืนยาว และปกป้องจากภัยอันตราย ซึ่งสอดคล้องกับความเชื่อด้านสุขภาพที่ผู้ศรัทธานิยมมาขอพรที่ศาลเจ้าโจวซือกง
ฝาท่อที่ 7 ฝารางระบายน้ำ: ได้แรงบันดาลใจจากรูปทรงของน้ำที่เชื่อมโยงกับวิถีของชุมชนที่เติบโตและใช้ชีวิตอยู่กับแม่น้ำ โดยเฉพาะในตรอกทางเดินริมแม่น้ำแห่งนี้ที่มีทั้งประวัติศาสตร์และสถานที่สำคัญตั้งอยู่มากมาย โดยศิลปิน จุฤทธิ์ กังวานภูมิ ร่วมด้วยคนในชุมชนตลาดน้อย
อ้างอิง:
- กรุงเทพมหานคร