พูดกันอย่างตรงไปตรงมา ถึงแม้หนังเรื่อง 5th Round สังเวียนมวยรอง ของ ท็อป-ระวี พิริยะพงศ์ศักดิ์ จะโปรโมตตัวเองว่าเป็นหนัง Real Footage ที่เขียนสคริปต์ก่อนถ่ายทำ แต่ถ้าดูจากวิธีการนำเสนอไปจนถึงโครงสร้างของหนังก็คงจะพูดได้ว่า แนวทางของมันไม่ต่างอะไรกับสิ่งที่หนังสารคดีทำเลย
5th Round สังเวียนมวยรอง เริ่มร้อยเรียงเรื่องราวของตัวเองด้วยการหลอมหลวมตัวละครนักมวยทั้ง 4 รุ่นให้กลายเป็นตัวละครคนเดียว ได้แก่ ซำเหมา นักมวยรุ่นเด็กวัย 8 ขวบ, พลายเงิน ศิษย์ศรพิชัย นักมวยที่ต้องการหาเงินเอาไปจุนเจือครอบครัว, เพชรดำ เพชรยินดี นักมวยที่เคยขึ้นไปยืนอยู่บนจุดสูงสุดด้วยการเป็นแชมป์รายการ ONE Championship และ วันฉลอง อดีตนักมวยฝีมือดีที่ในปัจจุบันคู่ต่อสู้ตัวฉกาจของเขาคือร่างกายของตัวเองที่เริ่มโรยรา
และความจริงที่ถูกถ่ายทอดออกมาผ่านตัวละครที่แตกต่างกันในแต่ละช่วงวัยก็ได้พาคนดูไปสำรวจแง่มุมต่างๆ ของวงการมวยไทยพร้อมๆ กับชีวิตของพวกเขาที่ฝากฝังเอาไว้บนสังเวียนผืนผ้าใบแห่งนี้
เป้าประสงค์ของหนังเรื่อง5th Round สังเวียนมวยรอง เลยกลายเป็นการนำเสนอด้านที่ขาวสะอาดมากกว่าการจะพาคนดูไปงัดแงะถึงความสกปรกของมัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของกรรมการหรือการพนัน ประเด็นเหล่านี้ถูกหยิบยกออกมาเล่าเพียงแค่ผิวเผิน ซึ่งก็เป็นเรื่องน่าเสียดายที่ข้อมูลชุดนี้ไม่ได้ถูกชำแหละลงลึกไปมากกว่าที่หนังธีมเดียวกันเคยทำมา
ส่วนนักมวยทั้ง 4 คน การเจาะลึกชีวิตของพวกเขาก็ดูไม่มีพลังเท่าที่ควร โดยเฉพาะซำเหมากับพลายเงินที่มิติของทั้งสองคนค่อนข้างจะแคบกว่าตัวละครอื่นๆ แต่ถึงอย่างนั้น ในหลายๆ ครั้งบริบทการต่อสู้ของพวกเขาก็ชวนให้นึกถึงภาพของคนต่างจังหวัดที่เข้ามาทำงานเสี่ยงดวงในกรุงเทพฯ เพราะหากเราเปรียบเทียบกรุงเทพฯ กับวงการมวยไทยก็คงเป็นเหมือนถุงเงินขนาดใหญ่ (และอาจไม่ต้องการวุฒิการศึกษาที่สูง) เส้นทางที่พวกเขาเลือกก็ไม่ต่างอะไรกับการเป็นสุนัขล่าเนื้อที่ต้องคอยเดิมพันชีวิตด้วยร่างกายของตัวเองอยู่ตลอดเวลา และการเดิมพันนั้นก็ไม่ได้ชี้เป็นชี้ตายแค่ในฐานะนักมวย แต่รวมไปถึงความเป็นอยู่ของพวกเขาหลังจากที่ชกจบไปแล้วด้วยเช่นกัน
แน่นอนว่าไม่ใช่ทุกคนที่จะประสบความสำเร็จบนเส้นทางของการเป็นนักมวย ถ้าจะพูดให้ถูกคนที่ประสบความสำเร็จและสามารถยืนระยะได้อาจมีน้อยมากเมื่อเทียบกับคนที่ล้มหายตายจากไปจากวงการ และตัวละครในหนัง5th Round สังเวียนมวยรอง ก็เป็นแบบนั้น พวกเขาไม่ใช่คนที่ประสบความสำเร็จจนเป็นที่รู้จักของคนทั่วไปเหมือนอย่าง สมจิตร จงจอหอ, บัวขาว บัญชาเมฆ หรือ เขาทราย แกแล็คซี่ ที่เพียงแค่เอยชื่อหลายคนก็ร้อง ‘อ๋อ’
ความเป็นนักสู้ของพวกเขาเลยถูกผสมรวมเข้ากับการเป็นคนธรรมดาที่ชีวิตไม่ได้โรยไปด้วยกลีบกุหลาบ ทุกคนต่อสู้ในแบบของตัวเองอาจไม่ใช่เพื่อความฝันหรือเงินทอง แต่เป็นการพิสูจน์ว่าตัวเองยังมีคุณค่าพอที่จะยืนอยู่ในวงการ และมันถูกบอกเล่าออกมามากขึ้นเมื่อหนังเริ่มขยับมาเล่าเรื่องของเพชรดำและวันฉลองผู้ที่เคยเป็นดาวรุ่งพุ่งแรง ที่ในตอนนี้เส้นทางอาชีพของพวกเขาไม่ได้เป็นเหมือนกับภาพความสำเร็จในอดีตอีกต่อไป
เพชรดำเคยเป็นนักมวยที่คว้าแชมป์รายการ ONE Championship ตอนที่อายุยังน้อย แต่หลังจากนั้นไม่นานชีวิตของเขาก็เริ่มดิ่งลงเหวอย่างรวดเร็วพร้อมๆ กับความมั่นใจของตัวเอง การต่อสู้ของเขาเลยไม่ใช่การพยายามจะที่เข้าสู่วงการในระดับสูง แต่เป็นการกลับมาทำให้วงการยอมรับในตัวเขาอีกครั้ง ไม่ต่างอะไรกับนักมวยเวทีมวยไทย 7 สีอย่างวันฉลองที่อยู่ในวัย 30 ตอนกลาง ซึ่งถ้ามองจากอายุอานามของเขามันก็เป็นวัยที่เหมาะสมแล้วในการแขวนนวม แต่ด้วยความที่อยากจะทำตามความฝันทำให้เขาเริ่มกลับมาหมั่นฝึกซ้อมอีกครั้ง
นอกจากความฝันแล้ว สิ่งที่ขับเคลื่อนให้วันฉลองก้าวขึ้นสู่สังเวียนคือ การหารายได้มาชดเชยค่าใช้จ่ายในการเล่นพนันของตัวเอง ตัวตนของเขาที่หนังนำเสนอเลยไม่ได้มีแค่ความเป็นมนุษย์ที่เปล่งประกายในฐานะนักมวยที่เคยรุ่งโรจน์เพียงอย่างเดียว แต่ยังเผยให้เห็นถึงสภาวะแวดล้อมที่เต็มไปด้วยอารมณ์ขันและความเจ็บปวดของตัวละคร ซึ่งแตกต่างจากนักมวยที่หนังนำเสนอก่อนหน้านี้ทั้งหมด
คาแรกเตอร์ของวันฉลองจึงมีเสน่ห์ที่สุดในหนัง เพราะมิติของเขาไม่ได้พูดถึงแค่การเป็นคนตกอับและพ่ายแพ้ให้กับวงการมวยไทย แต่เป็นการพูดถึงคนที่ต้องอิงอาศัยอยู่กับมันทั้งที่ตัวเองเคยบอกว่าจะเลิก นัยหนึ่งเส้นเรื่องของวันฉลองเลยเป็นสิ่งที่ขมวดแก่นแกนของหนังได้อย่างดี มันเป็นทั้งภาพสะท้อนของปลายทาง เป็นทั้งภาพของการดิ้นรน และเป็นภาพของคนที่อยากจะยอมแพ้แต่ก็ยอมแพ้ไม่ได้ ทั้งจากภาระหน้าที่และความฝันของตัวเอง ชีวิตของวันฉลองจึงเป็นส่วนสำคัญอย่างมากที่ช่วยสมานระยะห่างระหว่างคนดูกับตัวละคร ซึ่งเป็นสิ่งที่นักมวยคนอื่นๆ ยังทำได้ไม่ดีเท่าที่ควร
องค์ประกอบอีกอย่างที่ช่วยทำให้หนังปะติดปะต่อได้ลื่นไหลมากขึ้น คืองานภาพที่สามารถถ่ายทอดความรุนแรงและหนักหน่วงของสถานการณ์ได้ในขณะที่พวกเขากำลังขึ้นชก ซึ่งตรงส่วนนี้ถึงจะมีจุดที่ดูตกหล่นไปบ้าง แต่เมื่อมองภาพรวมทั้งหมดก็อาจพูดได้ว่า นี่เป็นหนังอีกเรื่องที่สามารถพาคนดูเข้าไปนั่งอยู่ข้างขอบสนามจริงๆ แม้วิธีการของมันจะไม่ได้ใหม่ก็ตาม
ในภาพรวมหนังเรื่อง5th Round สังเวียนมวยรอง เลยมีแง่มุมที่เด่นชัดในการบันทึกชีวิตของนักมวยและผู้คนที่เกี่ยวข้องกับวงการ แต่เมื่อพิจารณาถึงปัจจัยด้านอื่นๆ การพาคนดูไปสำรวจเพียงแค่หน้าฉากก็อาจเป็นสิ่งที่ทำให้หนังเรื่องนี้ดูขาดเอกลักษณ์ที่โดดเด่นอยู่พอสมควร เพราะหากตัดเรื่องราวในแง่ของการพยายามปั้นแต่งนักมวยทั้ง 4 รุ่นให้กลายเป็นคนคนเดียวออกไปก็จะพบว่า มันเป็นหนังที่ไม่ได้ล้วงลึกหรือโน้มน้าวให้คนดูรู้สึกคล้อยตามได้เท่าที่ควร ซึ่งเมื่อดูจบแล้วก็นอกจากชีวิตของผู้คนเราอาจไม่ได้รับรู้ข้อมูลอะไรใหม่ๆ ที่เกี่ยวข้องกับวงการมวยไทยเลย
5th Round สังเวียนมวยรองเข้าฉายแล้ววันนี้ในโรงภาพยนตร์
รับชมตัวอย่างได้ที่: