เจอโรม พาวเวลล์ ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) กล่าวถึงทิศทางนโยบายอัตราดอกเบี้ยของ Fed ระหว่างเข้าร่วมในงานเสวนา ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา (2 กรกฎาคม) โดยธนาคารกลางยุโรป (ECB) ที่เมืองซินตรา ประเทศโปรตุเกส ด้วยการยืนยันว่า ในขณะนี้สหรัฐอเมริกากำลังอยู่ในช่วงของอัตราเงินเฟ้อขาลง (Disinflationary Path) แต่ Fed ก็ยังต้องการข้อมูลความคืบหน้าเพิ่มเติมให้มากกว่าปัจจุบัน เพื่อยืนยันอัตราเงินเฟ้อล่าสุดและภาพรวมทางเศรษฐกิจใดๆ ก่อนตัดสินใจปรับลดอัตราดอกเบี้ย
ทั้งนี้ จากข้อมูลในช่วงเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา มาตรวัดอัตราเงินเฟ้อที่ Fed ใช้พิจารณาไม่ได้ปรับเพิ่มขึ้นเลย แถมอัตราเงินเฟ้อในรอบ 12 เดือนยังปรับตัวลดลงแตะ 2.6% ซึ่งแม้จะยังสูงกว่าอัตราเงินเฟ้อเป้าหมายของ Fed ที่ 2% แต่อย่างน้อยก็ยังชี้ได้ว่า สถานการณ์เงินเฟ้อของสหรัฐฯ อยู่ในช่วงขาลง ช่วยให้คลายกังวลจากความวิตกหวาดกลัวที่เกิดขึ้นในช่วงเดือนแรกๆ ของปี
พาวเวลล์ระบุว่า สิ่งที่ Fed ต้องการคือทำความเข้าใจว่า ระดับของอัตราเงินเฟ้อที่ Fed เห็นนั้นมาจากการอ่านค่าอย่างแท้จริงถึงสิ่งที่เกิดขึ้นจริงกับอัตราเงินเฟ้อที่ซ่อนอยู่ ซึ่งในมุมมองส่วนตัวพาวเวลล์คิดว่า จากข้อมูลที่อ่านค่าได้จนถึงขณะนี้ ทั้งหมดกำลังบ่งบอกว่า Fed กำลังกลับเข้าสู่เส้นทางเงินเฟ้อขาลง เพียงแต่ Fed ต้องการข้อมูลที่มากขึ้นเพื่อตอกย้ำความมั่นใจนั้นว่า อัตราเงินเฟ้อกำลังเคลื่อนตัวลงอย่างยั่งยืนสู่ 2% ก่อนที่จะเริ่มนโยบายการเงินแบบผ่อนคลาย ซึ่งหมายรวมถึงการปรับลดอัตราดอกเบี้ย
ขณะเดียวกัน พาวเวลล์ก็ชี้ว่า Fed ตระหนักดีถึงความสำคัญของการปรับลดอัตราดอกเบี้ย แต่หาก Fed ปรับลดอัตราดอกเบี้ยอย่างไม่ระมัดระวังและเร็วเกินไปก็อาจทำลายความพยายามของ Fed ที่ได้ทำมาทั้งหมดในช่วงที่ผ่านมา กระนั้น หากปรับลดอัตราดอกเบี้ยช้าเกินไปก็อาจกระทบต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเวลาหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญเช่นในปัจจุบัน ที่ตัวเลขเงินเฟ้อปรับลดส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากอัตราการว่างงานที่เพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งที่ Fed พยายามหลีกเลี่ยงมาจนถึงตอนนี้
พาวเวลล์กล่าวว่า Fed ไม่สามารถรู้ได้อย่างแม่นยำ แต่เป็นที่เข้าใจกันว่า การตัดสินใจใดๆ มีความเสี่ยงสองด้านเสมอ โดยตัวเลขล่าสุดชี้ว่า อัตราการว่างงานของสหรัฐฯ อยู่ในระดับที่ต่ำกว่า 4% เป็นเวลานานกว่า 2 ปี
ในส่วนของประเด็นที่ทุกฝ่ายต้องการรู้มากที่สุดว่า เมื่อไรที่ Fed จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย และจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยในเดือนกันยายนหรือไม่ พาวเวลล์ระบุว่า จะไม่กล่าวถึงกำหนดวันที่เฉพาะเจาะจงของการปรับลดอัตราดอกเบี้ยในวันนี้ (2 กรกฎาคม)
แม้จะไม่ได้แสดงความเห็นว่าการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯ จะมีขึ้นเมื่อไร แต่พาวเวลล์ก็ยอมรับว่า Fed กำลังเข้าสู่กระบวนการที่ละเอียดอ่อนในการพิจารณาความเสี่ยงต่ออัตราเงินเฟ้อและเป้าหมายการจ้างงาน โดย Fed ต้องการให้ตัวเลขทั้งสองด้านกลับมาใกล้ความสมดุลมากขึ้น
“เมื่อได้พิจารณาจากความแข็งแกร่งที่เราเห็นในเศรษฐกิจ เราจึงสามารถตอบคำถามนี้ได้อย่างระมัดระวัง” พาวเวลล์กล่าว ขณะเดียวกันก็ตั้งข้อสังเกตด้วยว่า ผู้กำหนดนโยบายไม่ต้องการให้นโยบายเข้มงวดเกินไปนานเกินไป และ “สูญเสียการขยายตัว”
ทั้งนี้ FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า นักลงทุนคาดการณ์ว่า Fed จะปรับลดอัตราดอกเบี้ย 2 ครั้งในปีนี้ โดยปรับลดอัตราดอกเบี้ยครั้งแรกในเดือนกันยายน และปรับลดอีกครั้งในเดือนธันวาคม แม้ว่ารายงานคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Dot Plot) ในการประชุม Fed ล่าสุดบ่งชี้ว่า Fed จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยเพียง 1 ครั้งในปีนี้
ด้านพาวเวลล์ประเมินว่า อัตราเงินเฟ้อไม่น่าจะกลับมาอยู่ที่เป้าหมาย 2% จนกว่าจะถึงปลายปีหน้าหรือปี 2026 แต่ก็ยังคาดหวังว่าอัตราเงินเฟ้อจะลดลงเหลือระหว่าง 2-2.5% ต่อปีนับจากนี้ ซึ่งพาวเวลล์กล่าวว่า จะเป็น “ผลลัพธ์ที่ยอดเยี่ยม” ดังนั้น ไม่ว่า Fed จะลงเอยด้วยการปรับลดอัตราดอกเบี้ยในเดือนกันยายนหรือเลื่อนการปรับลดอัตราดอกเบี้ยออกไป จะขึ้นอยู่กับรายงานการจ้างงานและอัตราเงินเฟ้อที่กำลังจะมีขึ้น รวมถึงรายงานการจ้างงานรายเดือนในวันศุกร์ และการเปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภคประจำเดือนมิถุนายนในวันที่ 11 กรกฎาคม
การประชุมคณะกรรมการกำกับนโยบายการเงิน (FOMC) ของ Fed จะมีขึ้นระหว่างวันที่ 30-31 กรกฎาคมนี้
อ้างอิง: