วันนี้ (2 กรกฎาคม) ก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรีนอกสถานที่อย่างเป็นทางการ (ครม.สัญจร) มีกลุ่มชาวบ้านอำเภอโนนไทย, อำเภอโนนสูง และอำเภอด่านขุนทด ที่ได้รับผลกระทบจากเหมืองแร่โพแทช มาปักหลักชุมนุมประท้วงบริเวณรั้วด้านนอกมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา ซึ่งติดกับหอประชุมราชภัฏรังสฤษฏ์ สถานที่ประชุม ครม.
โดยมีมวลชนถือป้ายข้อความ เช่น ‘ให้ปิดเหมืองแร่โพแทชด่านขุนทด’ พร้อมส่งเสียงตะโกนเรียกนายกรัฐมนตรี ช่วงหนึ่งมวลชนระบุด้วยว่า “รัฐบาลนี้ถ่มน้ำลายรดหน้าตัวเอง เราไม่เอาโพแทช และเงินดิจิทัล 10,000 บาทไม่เอาก็ได้ ถ้าเรามีที่ดินทำกินผืนนี้เงินดิจิทัล 10,000 บาทกระจอก”
กลุ่มผู้ชุมนุมให้เหตุผลว่าที่ต้องมาวันนี้เพราะนายกรัฐมนตรีได้ให้นโยบายไว้ สำหรับการขึ้นมาเป็นผู้นำรัฐบาลที่ต้องการผลักดันเหมืองแร่โพแทช ซึ่งอำเภอด่านขุนทดก็เป็นหนึ่งในพื้นที่ที่ขอให้มีการเร่งรัดทำ ทั้งนี้ ตอนที่อนุมัติได้อ้างว่า เพื่อชดเชยการนำเข้า 8 แสนตัน แต่ปรากฏว่ากลับมีการอนุมัติให้มีการดำเนินการแล้วกว่า 3 ล้านตัน
ดังนั้นจึงต้องการที่จะยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี และหากวันนี้ไม่ออกมารับหนังสือ ทางกลุ่มจะเผาหนังสือที่จะยื่นบริเวณหน้าประตูทางเข้า
ต่อมาเวลา 09.35 น. นายกฯ เดินทางมาถึงมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา โดยขบวนรถของนายกฯ เปลี่ยนเส้นทางไปเข้าทางด้านหลังอาคารหอประชุมราชภัฏรังสฤษฏ์ และนายกฯ เดินขึ้นประตูด้านหลังทันที ทำให้บรรดารัฐมนตรีที่รอรับอยู่ด้านหน้าเมื่อทราบว่านายกฯ ขึ้นไปแล้วจึงเดินขึ้นไปยังห้องประชุม
ขณะที่นายกฯ เดิมมีกำหนดการก่อนการประชุม ครม. จะเยี่ยมชมนิทรรศการด้านหน้าหอประชุมราชภัฏรังสฤษฏ์ แต่ได้ยกเลิกภารกิจในจุดดังกล่าว เนื่องจากอยู่ใกล้กับจุดที่มวลชนปักหลักชุมนุมซึ่งมีเสียงตะโกนเรียกร้องเป็นระยะ
ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ได้จัดตำรวจควบคุมฝูงชนหนึ่งกองร้อยมาดูแลความเรียบร้อย จนทำให้เกิดการปะทะคารมกับผู้ชุมนุม ต่อมาเจ้าหน้าที่ตำรวจจึงได้สลายตัว
นายกฯ มอบ รมว.อุตสาหกรรม เจรจาผู้ชุมนุม
ก่อนที่เวลา 09.50 น. นายกฯ มอบหมาย พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และ สมคิด เชื้อคง รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ฝ่ายการเมือง ไปเจรจากับกลุ่มมวลชนพร้อมรับข้อเรียกร้อง
โดยแกนนำกล่าวต้อนรับทันทีว่าบรรยากาศเหมือนรัฐมนตรีมาเยี่ยมนักโทษ เนื่องจากเป็นการเจรจาผ่านรั้วประตู ทำให้เจ้าหน้าที่เปิดรั้วให้รัฐมนตรีไปรับมอบหนังสือจากมือผู้ชุมนุม จากนั้นผู้ชุมนุมได้นำเกลือที่ขึ้นในนาข้าวจากผลกระทบการทำเหมืองโพแทชมากองที่หน้ารัฐมนตรี
พร้อมประกาศข้อเรียกร้อง อาทิ ขอให้มีคำสั่งยกเลิกแผนแม่บทบริหารจัดการแร่ฉบับที่ 2 ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับแร่โพแทชทั้งหมด เนื่องจากแผนแม่บทดังกล่าวไม่สอดคล้องกับพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2560 ไม่มีการสำรวจและกันพื้นที่โดยกำเนิดเขตแหล่งแร่เพื่อการทำเหมือง
และขอให้ประเมินสิ่งแวดล้อมสำหรับการพัฒนาเหมืองแร่โพแทชใหม่ เนื่องจากบริบทและความต้องการในการใช้แร่โพแทชมีวัตถุประสงค์ที่เปลี่ยนไป และเห็นได้อย่างชัดเจนว่าเป้าหมายของการให้ทำเหมืองแร่บิดเบือนไปจากข้อเท็จจริง ที่มุ่งเน้นไปสู่การส่งออกมากกว่าการลดการนำเข้า
รวมถึงการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมครั้งที่ผ่านมาเป็นการเร่งรัดเพื่อให้มีการเปิดเหมืองโดยไม่คำนึงถึงดุลยภาพด้านวิถีชีวิตและผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพอย่างเพียงพอ พร้อมขอให้เร่งดำเนินการตรวจสอบและแก้ไขปัญหาผลกระทบที่เกิดจากการทำเหมืองแร่โพแทชในพื้นที่อำเภอด่านขุนทด จังหวัดนครราชสีมา อย่างเร่งด่วน หาเพิกเฉยเลยยื้อเวลาออกไปยิ่งทำให้เห็นว่ากระทรวงอุตสาหกรรมไม่มีศักยภาพในการกำกับดูแลและควบคุมให้เกิดการทำเหมืองที่มีประสิทธิภาพได้
ทั้งนี้ หากรัฐบาลยังคงเดินหน้าไม่ทบทวนปัญหาที่เกิดขึ้น แสดงให้เห็นว่ารัฐบาลชุดนี้ไม่ได้เห็นคุณภาพชีวิตของประชาชนอย่างแท้จริง และต้องการเพียงตัวเลข GDP และหากรัฐบาลยังปล่อยให้ทำเหมืองแร่ แผ่นดินอีสานจะไม่สามารถฟื้นคืนได้
หลังรับหนังสือ กลุ่มผู้ชุมนุมกล่าวทิ้งท้ายด้วยเสียงสั่นเครือและน้ำตาไหลว่า “ปุ๋ยกระสอบแรกของท่านมากับคราบน้ำตา เอาตัวพวกเราไปก็ได้ ปุ๋ยกระสอบแรกของท่านอยู่ตรงนี้”
พื้นที่พบแร่โพแทชขนาดใหญ่ในไทย
สำหรับพื้นที่พบแร่โพแทชขนาดใหญ่ในไทยมี 2 แหล่ง คือ 1. แอ่งสกลนคร ประกอบด้วย จังหวัดสกลนคร จังหวัดหนองคาย จังหวัดอุดรธานี และจังหวัดนครพนม และ 2. แอ่งโคราช ประกอบด้วย จังหวัดขอนแก่น จังหวัดกาฬสินธุ์ จังหวัดมหาสารคาม จังหวัดร้อยเอ็ด จังหวัดยโสธร จังหวัดอุบลราชธานี จังหวัดศรีสะเกษ จังหวัดนครราชสีมา และจังหวัดชัยภูมิ
ทั้งนี้ ข้อมูลจากการเผยแพร่ข่าวของสำนักโฆษก ทำเนียบรัฐบาล ระบุว่า โครงการเหมืองแร่โพแทชของอาเซียน อำเภอบำเหน็จณรงค์ จังหวัดชัยภูมิ เป็นโครงการภายใต้ข้อตกลงพื้นฐานว่าด้วยโครงการอุตสาหกรรมอาเซียน (Basic Agreement) โดยไทยเป็นสมาชิกร่วมกับประเทศอินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และบรูไน ซึ่งข้อตกลงกำหนดให้ประเทศเจ้าของโครงการต้องร่วมลงทุนไม่น้อยกว่าร้อยละ 60 ของยอดลงทุนทั้งหมด และรัฐบาลเจ้าของโครงการต้องลงทุนไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 ของยอดเงินลงทุนนั้น โดยอีกร้อยละ 40 ประเทศสมาชิกอาเซียนจะเป็นผู้ลงทุน
ส่วนเหมืองโพแทชอำเภอด่านขุนทด จังหวัดนครราชสีมา เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2566 ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา พร้อมด้วย ปลัดจังหวัดนครราชสีมา สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดนครราชสีมา ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดนครราชสีมา และเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองอำเภอด่านขุนทด ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงร่วมกับชาวบ้านกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดด่านขุนทดกว่า 200 คน ในกรณีปัญหาผลกระทบจากโครงการเหมืองแร่โพแทช บริษัท ไทยคาลิ จำกัด ตามที่ได้ตกลงไว้กับกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดด่านขุนทด โดยรับว่าจะนำประเด็นปัญหาต่างๆ ที่ชาวบ้านได้นำเสนอหรือตั้งคำถาม ไปดำเนินการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป
เหมืองโพแทชกระทบอะไรกับชาวบ้าน
ชาวบ้านระบุว่า เมื่อขุดเจาะสำรวจแร่บริเวณดังกล่าว จะปรากฏความเค็มเกิดขึ้นเป็นบริเวณกว้าง ทำให้ได้รับผลกระทบ ไม่สามารถทำกินได้อีก พื้นที่เขียวขจีกลับยืนต้นตาย เพราะความเค็ม ดินเค็ม น้ำเค็ม และมีการปล่อยให้น้ำไหลออกมานอกพื้นที่ ปล่อยปละละเลยต่อมาตรการ EIA หรือการสร้างโรงต้มเกลือที่เพิ่มภาระในการแบกรับผลกระทบของชาวบ้านในพื้นที่
ทำไมนายกฯ ต้องผลักดันเหมืองโพแทช
เศรษฐาเคยกล่าวไว้เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2566 ในช่วงที่มีกระแสข่าวประเมินว่าไทยมีแร่โพแทสเซียมมากที่สุดเป็นอันดับ 4 ของโลกว่า “โพแทสเซียมถือเป็นสารตั้งต้นสำคัญของการทำปุ๋ยเคมี… ขายได้ราคาดีในต่างประเทศ มีความต้องการสูงที่จีน ปัจจุบันมีผู้ได้รับสัมปทานแล้ว 3 ราย แต่ยังไม่มีการดำเนินงานเลย เรื่องนี้ต้องให้เร่งรัดว่าต้องมีการดำเนินงาน ถ้าเกิดไม่สามารถทำได้ก็หาผู้รับประมูลมาทำงานใหม่”
อ้างอิง: