เกิดอะไรขึ้น:
ค่าการกลั่นอ้างอิงตลาดสิงคโปร์ปรับตัวลดลง 17%YoY และ 53%QoQ มาอยู่ที่ 3.5 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรลใน 2Q67TD ซึ่งเป็นผลมาจาก Crack Spread ที่อ่อนแอของผลิตภัณฑ์หลักทั้งหมด นำโดยน้ำมันเบนซิน ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยสนับสนุนค่าการกลั่นใน 1Q67 Crack Spread น้ำมันเบนซินลดลง 42%QoQ สู่ 10.3 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรลใน 2Q67 เทียบกับ >16 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรลใน 2Q66-1Q67 อุปสงค์น้ำมันเบนซินตามฤดูกาลในช่วงฤดูขับขี่ต่ำกว่าคาด ซึ่งส่วนหนึ่งสะท้อนถึงการเปลี่ยนแปลงการขนส่งหลังสถานการณ์โควิดในสหรัฐฯ โดยหันกลับมาเดินทางโดยใช้เครื่องบินแทนการขับรถ
นอกจากนี้ รถยนต์ที่มีประสิทธิภาพในการใช้เชื้อเพลิงมากขึ้นและรถยนต์ไฟฟ้าก็มีส่วนทำให้การใช้น้ำมันเบนซินลดลงด้วย Crack Spread น้ำมันดีเซลและน้ำมันเครื่องบินลดลงในอัตราที่น้อยกว่าน้ำมันเบนซิน (-32%QoQ โดยเฉลี่ย) มาอยู่ที่ 14-15 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล เทียบกับ 12MMA ที่ >21 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ค่าการกลั่นอ้างอิงตลาดสิงคโปร์เฉลี่ย YTD ลดลง 13%YoY สู่ 5.4 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล เทียบกับค่าเฉลี่ย 5 ปี (ก่อนเกิดโควิด) ที่ 6.1 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล
ใน 2Q67 InnovestX Research คาดว่าบริษัทที่ประกอบธุรกิจโรงกลั่นน้ำมันของไทยน่าจะรายงานผลประกอบการที่อ่อนแอลง QoQ ใน 2Q67 เพราะได้รับผลกระทบจากค่าการกลั่นตลาดที่ลดลงแรง แม้ว่าจะได้รับการชดเชยบางส่วนจากอัตราค่าระวางที่ลดลงและค่าพรีเมียมน้ำมันดิบที่แข่งขันได้ ผลกระทบของกำไร / ขาดทุนสต็อกจะผสมปนเปกัน ขึ้นอยู่กับระดับสต็อกน้ำมันต้นทุนสูงที่ถือมาจากเดือนมีนาคม-เมษายน 2567 ซึ่งเป็นช่วงที่ราคาน้ำมันปรับขึ้นจากความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างอิหร่านกับอิสราเอล
โดยรวมแล้วคาดว่าผู้ประกอบการโรงกลั่นน้ำมันจะรับรู้กำไรสต็อกเล็กน้อยที่ 0.6 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรลใน 2Q67 เนื่องจากราคาน้ำมันดิบปรับตัวเพิ่มขึ้นจากจุดต่ำสุดในช่วงปลายเดือนพฤษภาคมถึงต้นมิถุนายน นอกจากนี้ผู้ประกอบการโรงกลั่นน้ำมันบางรายยังลดอัตราการใช้กำลังการผลิตลง เพื่อตอบสนองต่อค่าการกลั่นระดับต่ำและการหยุดซ่อมบำรุงใหญ่ตามแผน
แม้ว่าค่าการกลั่นตลาดใน 3Q67 จะลดลง YoY จาก 9.6 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรลใน 3Q66 แต่คาดว่าอุปสงค์ตามฤดูกาลจะช่วยหนุนให้ค่าการกลั่นใน 3Q67 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับต่ำสุดใน 2Q67 โดยจะได้แรงหนุนจาก Crack Spread ที่สูงขึ้นของผลิตภัณฑ์ Middle Distillates (น้ำมันดีเซลและน้ำมันเครื่องบิน) ที่อยู่ภายใต้แรงกดดันใน 2Q67 ปัจจัยสนับสนุนจะมาจากอุปสงค์ที่สูงขึ้นในเอเชีย รวมถึงเกาหลีใต้ ซึ่งรัฐบาลได้ขยายระยะเวลาลดภาษีน้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับรถยนต์ออกไปอีก 2 เดือน หรือจนถึงสิ้นเดือนสิงหาคม
ทั้งนี้ แม้ว่าจีนจะมีโควตาการส่งออกน้ำมันรอบใหม่ แต่คาดว่าการส่งออกน้ำมันของจีนจะลดลงในเดือนกรกฎาคม ซึ่งเป็นผลมาจากอัตราการผลิตที่ลดลง อุปทานเชื้อเพลิงสำหรับการขนส่งที่เพิ่มขึ้นจากจีนคาดว่าจะไม่เพียงพอรองรับอุปสงค์พลังงานในเอเชียที่เพิ่มขึ้น (S&P Global) นอกจากนี้การเดินทางทางอากาศก็น่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นใน 2H67 เนื่องจาก IATA คาดว่าปริมาณผู้โดยสารที่เดินทางทางอากาศในภูมิภาคส่วนใหญ่จะเพิ่มขึ้นสูงกว่าระดับปี 2562 จากอัตราการเติบโตของจำนวนผู้โดยสารรวมทั้งหมดทั่วโลกที่ 10.4%YoY โดยเฉพาะภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (เพิ่มขึ้น 17.2%YoY)
กระทบอย่างไร:
ในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา ราคาหุ้นกลุ่มธุรกิจโรงกลั่นน้ำมัน (SET ENERG) ปรับลง 5.06%, BCP ปรับลง 6.25%, TOP ปรับขึ้น 2.91% ขณะที่ SET Index ปรับลง 4.17%
ความเห็นและกลยุทธ์การลงทุน:
ราคาหุ้นกลุ่มโรงกลั่นน้ำมันของไทยปรับตัวลดลงเฉลี่ย 9% ในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา Underperform SET ที่ลดลง 5% ซึ่งบ่งชี้ถึงมุมมองเชิงลบต่ออุตสาหกรรมโรงกลั่นน้ำมัน เนื่องจากผลประกอบการจะได้รับผลกระทบอย่างหนักจากค่าการกลั่นตลาดที่อ่อนแอใน 2Q67 และแผนจัดเก็บภาษีคาร์บอนจากผลิตภัณฑ์น้ำมันภายในปี 2568
ค่าการกลั่นตลาดฟื้นตัวช้ากว่าที่คาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ โดยแกว่งตัวอยู่ในช่วง 3-4 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรลในเดือนมิถุนายน 2567 เทียบกับ 4-5 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรลในเดือนมิถุนายน 2566 ซึ่งเป็นผลมาจากอุปสงค์ที่เติบโตต่ำกว่าคาดในฤดูขับขี่ในช่วงฤดูร้อน ซึ่งคาดว่าค่าการกลั่นตลาดจะค่อยๆ ปรับตัวดีขึ้นใน 3Q67 ซึ่งจะทำให้นักลงทุนกลับมาให้ความสนใจหุ้นกลุ่มนี้อีกครั้ง
สำหรับหุ้นเด่นของกลุ่ม เลือก BCP และ TOP, ราคาหุ้น BCP ปรับตัวลดลง 16% ในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา แย่กว่า SET ที่ลดลง 5% และหุ้นอื่นๆ ในกลุ่มโรงกลั่นน้ำมันไทยที่ลดลงเฉลี่ย 8% ซึ่ง InnovestX Research เชื่อว่าสะท้อนถึงความกังวลเกี่ยวกับผลประกอบการ 2Q67 จากการหยุดซ่อมบำรุงใหญ่โรงกลั่นตามแผน และการหยุดซ่อมบำรุงแหล่งผลิตที่ใหญ่ที่สุดของ OKEA (Statfjord) Valuation ของ BCP ยังอยู่ในระดับต่ำที่ P/E (ปี 2567) ต่ำกว่า 4 เท่า และ P/BV 0.6 เท่า (-1.5SD) นอกจากนี้ ยังคาดการณ์อัตราผลตอบแทนจากเงินปันผลที่น่าสนใจที่ 6.7% (ปี 2567)
และชอบ TOP เนื่องจากเป็น Proxy สำหรับค่าการกลั่นที่ดีขึ้นใน 3Q67 และ Valuation น่าสนใจที่ P/E 5.7 เท่า และ P/BV 0.7 เท่า และอัตราผลตอบแทนจากเงินปันผลที่ 6.2%
ปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่ต้องติดตามคือ การชะลอตัวของเศรษฐกิจจะส่งผลกระทบต่ออุปสงค์ผลิตภัณฑ์ในกลุ่มพลังงานและปิโตรเคมี ในขณะที่ความผันผวนของราคาน้ำมันอาจทำให้เกิดการขาดทุนสต็อก ความเสี่ยงอื่นๆ ได้แก่ การด้อยค่าของสินทรัพย์และการเปลี่ยนแปลงกฎระเบียบเกี่ยวกับการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และการแทรกแซงของรัฐบาลในธุรกิจพลังงาน
ปัจจัยเสี่ยงด้าน ESG ที่สำคัญคือ ผลกระทบของธุรกิจต่อสิ่งแวดล้อม และการปรับตัวในช่วงเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาด