วันนี้ (28 มิถุนายน) ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ กรุงเทพฯ เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีเปิดงาน THACCA SPLASH – Soft Power Forum โดยมี แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ในฐานะรองประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ, รัฐมนตรี และตัวแทนซอฟต์พาวเวอร์ในด้านต่างๆ เข้าร่วมงาน พร้อมชมนิทรรศการ 11 อุตสาหกรรมของซอฟต์พาวเวอร์
เศรษฐากล่าวว่า มีความยินดีที่ได้มาเปิดงาน THACCA SPLASH – Soft Power Forum ซึ่งเป็นความมุ่งมั่นตั้งใจของรัฐบาลที่จะสร้างเวทีการรวมพลังของทุกภาคส่วน เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนนโยบายซอฟต์พาวเวอร์ ที่เป็นหนึ่งในโครงการเรือธงของรัฐบาล
โดยที่มาที่ไปของนโยบายนี้เกิดจากความตั้งใจที่จะปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งโครงสร้างเศรษฐกิจของเราเติบโตจากภาคอุตสาหกรรม และภาคการเกษตร ที่มีคนเกี่ยวข้องทำงานอยู่จำนวนมาก เช่น แรงงานในโรงงานผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ และเกษตรกร งานในภาคอุตสาหกรรมเหล่านี้ จำนวนไม่น้อยเป็นแรงงานที่ใช้ทักษะต่ำ ต้องพึ่งพาอาศัยธรรมชาติ ฤดูกาล น้ำฝน น้ำท่วม น้ำแล้ง ส่งผลให้ชีวิตความเป็นอยู่ไม่แน่นอน และส่งผลกระทบไปสู่สถานะทางการเงินของครอบครัว โดยระดับประเทศแสดงออกมาเป็นปริมาณหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ที่สูงกว่า 90%
โครงสร้างเศรษฐกิจไทยต้องได้รับการยกระดับการใช้แรงงานทักษะต่ำ หันไปใช้มันสมองและความคิดสร้างสรรค์มากขึ้น โดยเฉพาะในยุคของ Digital Age และงานที่ให้มูลค่ากับฝีมือมากยิ่งขึ้น ซึ่งงานนี้ต้องการทักษะขั้นสูง ใช้ระยะเวลานานในการฝึกฝน เช่น การเขียนโค้ด เป็นต้น รัฐบาลจึงเล็งเห็นการผลักดันยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์ให้เป็นอุตสาหกรรมที่คนไทยทั้งหมดสามารถมีส่วนร่วมได้ด้วยศักยภาพของทุกคนที่มีพื้นฐานทางวัฒนธรรม ฝีมือ และเวทีในการแสดงออก
เศรษฐากล่าวว่า เป้าหมายใหญ่คือ ‘สร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้’ เพื่อให้คนไทยอยู่ดีมีสุข และทำให้เศรษฐกิจของประเทศเจริญก้าวหน้า และปักหมุดใน 3 สร้าง คือ
- สร้างแรงบันดาลใจ ให้ทุกคนตระหนักถึงศักยภาพของตนเอง
- สร้างเวทีแลกเปลี่ยนระดับนานาชาติ เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมซอฟต์พาวเวอร์ของไทย ผ่านการเรียนรู้ Case Study ที่ประสบความสำเร็จในต่างประเทศ
- สร้างการรับรู้ให้เกิดขึ้นอย่างกว้างขวางถึงพลังซอฟต์พาวเวอร์ไทย ให้สื่อสารทุกทิศทางอย่างทรงพลัง เปรียบเสมือนการสาด หรือ SPLASH เราจะเดินหน้าพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างครบวงจร ตั้งแต่การพัฒนาต้นน้ำถึงปลายน้ำ ซึ่งต้นน้ำต้องเริ่มจากการพัฒนาคน
เศรษฐากล่าวอีกว่า รัฐบาลกำลังเดินหน้าโครงการ 1 ครอบครัว 1 ซอฟต์พาวเวอร์ (OFOS) ที่จะเฟ้นหาศักยภาพของทุกครอบครัว บ่มเพาะและพัฒนากำลังคนในอุตสาหกรรม ยกระดับให้เป็นแรงงานทักษะสูง กลางน้ำจะมีการออกกฎหมายตั้งหน่วยงาน THACCA ซึ่งทำหน้าที่เป็น One Stop Service คอยผลักดันอุตสาหกรรมซอฟต์พาวเวอร์ต่างๆ ทั้ง 11 ด้าน เช่น การวิเคราะห์ตลาด สำรวจกฎระเบียบที่อาจจะเป็นอุปสรรค และส่งเสริมให้เกิดอุตสาหกรรมการแข่งขันในประเทศ และในขั้นปลายน้ำจะกำหนดแผนยุทธศาสตร์การขับเคลื่อน ประสานกับต่างประเทศ เพื่อนำซอฟต์พาวเวอร์ของไทยไปเผยแพร่ในตลาดให้มากยิ่งขึ้น
เศรษฐากล่าวว่า ซอฟต์พาวเวอร์สำคัญต่อสภาพเศรษฐกิจ ซึ่งจะมายกระดับประเทศไทยให้เป็นประเทศรายได้สูง โดยตัวชี้วัดที่สำคัญคือการมีรายได้ต่อหัวประชากรกว่า 13,846 ดอลลาร์สหรัฐต่อปี ตามหลักเกณฑ์ของ IMF ทั้งนี้รัฐบาลตั้งเป้าผลักดันอุตสาหกรรมซอฟต์พาวเวอร์ทั้ง 11 สาขา โดยนำความคิดสร้างสรรค์ นวัตกรรม และเทคโนโลยี มาประยุกต์กับทุนทางวัฒนธรรม เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าและบริการของไทย เปิดกว้างสำหรับประชาชนทุกกลุ่ม ตอบโจทย์ทุกความสนใจ รวมถึงเป็นเวทีแห่งโอกาสในการแลกเปลี่ยนมุมมองกับผู้ที่ประสบความสำเร็จในวงการอุตสาหกรรมซอฟต์พาวเวอร์ระดับโลก