วันนี้ (27 มิถุนายน) ที่ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก ศาลนัดอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ คดีกลุ่มผู้ชุมนุมคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) ก่อเหตุขัดขวางการเลือกตั้งและบุกรุกสถานที่ราชการ สมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เมื่อปี 2557
ในสำนวนหลัก หมายเลขดำ อ.247/2561 ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีพิเศษ 4 เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง สุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตเลขาธิการ กปปส. กับแกนนำและแนวร่วม กปปส. รวม 39 คน
เป็นจำเลยในความผิดฐานร่วมกันเป็นกบฏ, ก่อการร้าย, ยุยงให้หยุดงานฯ, กระทำให้ปรากฏด้วยวาจาหรือวิธีการอื่นใดฯ ทำให้เกิดความปั่นป่วนกระด้างกระเดื่องในราชอาณาจักรฯ, อั้งยี่, ซ่องโจร, มั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ทำให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมืองฯ, บุกรุกในเวลากลางคืนฯ และร่วมกันขัดขวางการเลือกตั้งฯ
โดยคดีนี้อัยการโจทก์ระบุฟ้องพฤติการณ์ความผิดพวกจำเลยสรุปว่า เมื่อระหว่างวันที่ 23 พฤศจิกายน 2556 – 1 พฤษภาคม 2557 ต่อเนื่องกัน สุเทพ จำเลยที่ 1 จัดตั้งคณะบุคคล ชื่อ คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือกลุ่ม กปปส. มีสุเทพเป็นเลขาธิการ
โดยร่วมกันมั่วสุมเป็นอั้งยี่ ซ่องโจร กองกำลังแบ่งหน้าที่กันกระทำก่อความผิดต่อความมั่นคงของรัฐภายในราชอาณาจักร ฐานเป็นกบฏเพื่อล้มล้างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 เปลี่ยนแปลงระบอบการปกครอง ทั้งอำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร และอำนาจตุลาการ โดยร่วมกันยุยง ปลุกระดมให้ประชาชนทั่วประเทศกระด้างกระเดื่องร่วมชุมนุมขับไล่ ก่อความไม่สงบเพื่อขับไล่ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี (ขณะนั้น) ให้ออกจากตำแหน่ง รวมทั้งขัดขวางการเลือกตั้ง สส. ทั่วไป เพื่อมิให้นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี (ครม.) ชุดใหม่เข้าบริหารประเทศ ให้ข้าราชการระดับสูงรายงานตัวกับกลุ่ม กปปส.
จากนั้นจะแต่งตั้งคณะบุคคลเข้าบริหารประเทศเป็นรัฐบาลประชาชน เป็นรัฏฐาธิปัตย์ ซึ่งจะออกคำสั่งแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี และ ครม. โดยจะนำรายชื่อขึ้นกราบบังคมทูลเอง รวมทั้งจัดตั้งกองกำลังส่วนหนึ่งพร้อมอาวุธเข้าไปบุกยึดสถานที่ราชการและหน่วยงานสำคัญต่างๆ หลายแห่ง เช่น ทำเนียบรัฐบาล, สำนักงานตำรวจแห่งชาติ, กองบัญชาการตำรวจนครบาล, สำนักงานเขตหลักสี่ และศูนย์เยาวชนกรุงเทพมหานคร (สนามกีฬาไทย-ญี่ปุ่น ดินแดง) เพื่อไม่ให้รัฐบาลบริหารราชการแผ่นดินได้ รวมทั้งการปิดกั้น ขัดขวางเส้นทางคมนาคมขนส่ง เป็นเหตุให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อน
นอกจากนี้ ช่วงระหว่างวันที่ 13 มกราคม – 2 มีนาคม 2557 พวกจำเลยบังอาจปิดกรุงเทพมหานครด้วยการตั้งเวทีปราศรัยทั่วกรุงเทพฯ รวม 7 จุด ปิดกั้นเส้นทางการจราจร จัดตั้งกองกำลังรักษาพื้นที่ วางเครื่องกีดขวาง ไม่ยอมให้เจ้าหน้าที่รัฐเข้าไปเกี่ยวข้อง การกระทำของพวกจำเลยล้วนไม่ชอบด้วยบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 เพื่อล้มล้างหรือเปลี่ยนแปลงอำนาจบริหารตามรัฐธรรมนูญ
เหตุเกิดในกรุงเทพมหานคร และอีกหลายท้องที่ทั่วราชอาณาจักรเกี่ยวพันกัน
สุเทพกับจำเลยทั้งหมดให้การปฏิเสธต่อสู้คดี และได้รับการประกันตัว
ต่อมาวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2564 ศาลอาญามีคำพิพากษาจำคุกจำเลยรายสำคัญ โดยศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า ในส่วนความผิดฐานกบฏและก่อการร้าย พฤติการณ์ชุมนุมไม่มีการใช้กำลังประทุษร้ายบุคคลใดเพื่อล้มล้างการเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญ นิติบัญญัติ อำนาจบริหาร จึงไม่เป็นความผิดฐานกบฏและก่อการร้าย
แต่สุเทพ เทือกสุบรรณ และจำเลยอื่นรวม 26 คน ศาลตัดสินจำคุกในความผิดฐานยุยงให้เกิดการหยุดงานเพื่อบังคับรัฐบาล, ร่วมกันกระทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจา, ร่วมกันมั่วสุม 10 คนขึ้นไป, ร่วมกันบุกรุกสำนักงานผู้อื่นในเวลากลางคืน, ร่วมกันบุกรุกอสังหาริมทรัพย์ของผู้อื่น และร่วมกันกระทำการโดยไม่มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย
โดยพิพากษาจำคุกสุเทพ เทือกสุบรรณ เป็นเวลา 5 ปี จำคุก ชุมพล จุลใส เป็นเวลา 9 ปี 24 เดือน จำคุกพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ เป็นเวลา 7 ปี จำคุกณัฏฐพล ทีปสุวรรณ 6 ปี 16 เดือน จำคุกอิสสระ สมชัย 7 ปี 16 เดือน จำคุกถาวรเสนเนียม 5 ปี จำคุกสุวิทย์ ทองประเสริฐ หรือ พุทธะอิสระ 4 ปี 8 เดือน และจำคุก ร.ต. แซมดิน เลิศบุศย์ 4 ปี 16 เดือน รวมทั้งสิ้น 8 คน
จำเลยที่เหลือศาลเห็นว่าเป็นเพียงผู้ร่วมชุมนุม หรือบางคนเป็นแกนนำ แต่กระทำความผิดน้อยกว่าบุคคลอื่น และไม่เคยปรากฏพฤติการณ์รุนแรง และไม่เคยต้องโทษจำคุกมาก่อน ควรให้โอกาสปรับตัวเป็นคนดี จึงให้รอการลงโทษ 2 ปี
ให้เพิกถอนสิทธิทางการเมือง ชุมพล จุลใส สส. พรรคประชาธิปัตย์, อิสสระ สมชัย สส. พรรคประชาธิปัตย์ และ ณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ, สุวิทย์ ทองประเสริฐ หรือ พุทธะอิสระ, ร.ต. แซมดิน เลิศบุศย์, สำราญ รอดเพชร และ ทยา ทีปสุวรรณ คนละ 5 ปี ต่อมาอัยการโจทก์และจำเลยยื่นอุทธรณ์
โดยในวันนี้สุเทพพร้อมแกนนำ กปปส. ทยอยเดินทางมาศาล โดยมีมวลชนมามอบดอกไม้ให้กำลังใจจำนวนหนึ่ง
ภายหลังคำพิพากษา สวัสดิ์ เจริญผล ทนายความของ สุเทพ เทือกสุบรรณ เผยว่า วันนี้ศาลอุทธรณ์อ่านคำพิพากษามีรายละเอียดค่อนข้างมาก แต่เท่าที่จดมาทันคือศาลอุทธรณ์ยกฟ้องในข้อหากบฏและก่อการร้าย พิพากษาลดโทษจำคุกสุเทพกับพวก ที่เดิมโดนตั้งแต่ 4-9 ปีกว่าก็ลดมาเหลือคนละ 1 ปี – 1 ปีเศษ สุเทพกับถาวร เสนเนียม เหลือคนละ 1 ปี แต่ไม่รอลงอาญา
เหตุผลที่ศาลอุทธรณ์ลดโทษเนื่องจากมองว่าเป็นการกระทำกรรมเดียวเหตุต่อเนื่องกัน ต่างจากศาลชั้นต้นที่มองเป็นการกระทำหลายกรรมโทษเลยสูง โดยพิพากษาจำคุกไม่รอลงอาญาทั้งหมด 14 คน ส่วนรายอื่นก็มีพิพากษาแก้ยกฟ้องและมีเพิ่มโทษ จำเลยที่ไม่รอลงอาญาขณะนี้อยู่ระหว่างยื่นประกันในชั้นฎีกา ซึ่งคาดว่าศาลจะมีคำสั่งในวันนี้ เนื่องจากศาลชั้นต้นสามารถสั่งเองได้ แต่ขึ้นอยู่กับดุลพินิจว่าจะส่งศาลฎีกาหรือไม่ หลักทรัพย์เดิมเตรียมไว้พร้อมแล้ว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในวันนี้ ศาลไม่ได้ให้สื่อมวลชนเข้าฟังการอ่านในช่วงเช้านี้ เนื่องจากมีบุคคลจำนวนมาก โดยจะมีการแจ้งผลคำพิพากษาให้ทราบภายหลังกระบวนการอ่านคำพิพากษาเสร็จสิ้น
สำหรับรายชื่อจำเลยทั้งหมดในคดี กปปส. ชุดใหญ่ ในวันนี้ 39 รายประกอบด้วย
- สุเทพ เทือกสุบรรณ
- สาทิตย์ วงศ์หนองเตย
- ชุมพล จุลใส
- พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์
- อิสสระ สมชัย
- วิทยา แก้วภราดัย
- ถาวร เสนเนียม
- ณัฏฐพล ทีปสุวรรณ
- เอกนัฏ พร้อมพันธุ์
- อัญชะลี ไพรีรัก
- พล.อ. ปรีชา เอี่ยมสุพรรณ
- สมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์
- ยศศักดิ์ โกไศยกานนท์
- ถนอม อ่อนเกตุพล
- สมศักดิ์ โกศัยสุข
- พระพุทธะอิสระ หรือ สุวิทย์ ทองประเสริฐ
- สาธิต เซกัล
- รังสิมา รอดรัศมี
- พล.อ.ท. วัชระ ฤทธาคนี
- พล.ร.อ. ชัย สุวรรณภาพ
- แก้วสรร อติโพธิ
- ไพบูลย์ นิติตะวัน
- ถวิล เปลี่ยนศรี
- ร.ต. แซมดิน เลิศบุศย์
- มั่นแม่น กะการดี
- คมสัน ทองศิริ
- พล.อ. ปฐมพงษ์ เกษรศุกร์
- พิภพ ธงไชย
- สาวิทย์ แก้วหวาน
- สุริยะใส กตะศิลา
- สุริยันต์ ทองหนูเอียด
- พ.ต.ท. ภัทรพงศ์ สุปิยะพาณิชย์
- สำราญ รอดเพชร
- อมร อมรรัตนานนท์ (เปลี่ยนชื่อบ่อย)
- พิเชฏฐ พัฒนโชติ
- สมบูรณ์ ทองบุราณ
- กิตติชัย ใสสะอาด
- ทยา ทีปสุวรรณ
- เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง