จากการแถลงข่าวร่วม 3 หน่วยงานเกี่ยวกับ ‘มาตรการขับเคลื่อนตลาดทุน’ โดยมี พิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง, พรอนงค์ บุษราตระกูล เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และ ภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เป็นตัวแทนของทั้ง 3 หน่วยงาน ร่วมแถลงข่าวในครั้งนี้
ประเด็นหลักของการแถลงข่าวในครั้งนี้คือการพยายามเรียกความเชื่อมั่นจากนักลงทุนที่มีต่อตลาดทุนไทย หลังจากที่ดัชนีของตลาดหุ้นไทย (SET) ปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปี 2566 จากราว 1,700 จุด มาอยู่ที่ประมาณ 1,200 จุด ขณะที่นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิเฉียด 3 แสนล้านบาท ในช่วงเวลา 1 ปีครึ่งที่ผ่านมา
อย่างไรก็ดี พิชัยเชื่อว่า หุ้นไทยน่าจะใกล้ถึงจุดต่ำสุดแล้ว และการขายของต่างชาติน่าจะใกล้จบลง ขณะที่กองทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศน่าจะเริ่มกลับมาสนใจหุ้นไทยอีกครั้ง ส่วนหนึ่งเป็นผลจากมาตรการขับเคลื่อนตลาดทุน ซึ่งมีมาตรการสำคัญ ได้แก่ การส่งเสริมการออมการลงทุน
“ในช่วงที่ผ่านมาจะเห็นว่าการขายของนักลงทุนต่างประเทศเริ่มน้อยลง แม้ว่าดัชนีจะลงเยอะ ผมเชื่อว่ามันถึงจุดที่เรียกว่าไม่ทราบว่าจะขายอะไรได้อีกแล้ว ผมคิดว่าเราลงมาใกล้ๆ กับฐานแล้ว”
สำหรับประเด็นนี้ พรอนงค์กล่าวถึงมาตรการสำคัญคือการเตรียมเสนอให้ปรับเกณฑ์กองทุน Thai ESG ซึ่งเดิมทีผู้ลงทุนสามารถซื้อเพื่อลดหย่อนภาษีได้สูงสุดไม่เกิน 1 แสนบาท จะเพิ่มเป็นไม่เกิน 3 แสนบาท พร้อมกับลดระยะเวลาถือครองจากเดิม 8 ปี มาเหลือ 5 ปี นับจากวันที่ซื้อ
นอกจากนี้จะมีการปรับเพิ่มลิสต์ของหุ้นทั้งใน SET และ mai ที่โดดเด่นด้านสิ่งแวดล้อม (E) และด้านบรรษัทภิบาล (G) ทำให้หุ้นที่จะเป็นเป้าหมายของการลงทุนน่าจะเพิ่มขึ้นเป็นกว่า 300 บริษัท
การเสนอปรับเงื่อนไขกองทุน Thai ESG น่าจะนำเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้ภายใน 2 สัปดาห์ และน่าจะเริ่มเปิดขายได้ในเดือนกรกฎาคม โดยคาดว่าจะมีเม็ดเงินลงทุนเข้ามาประมาณ 3 หมื่นล้านบาท
อีกหนึ่งปัจจัยที่จะช่วยส่งเสริมการออมการลงทุนคือ การศึกษาที่จะจัดตั้งกองทุนวายุภักษ์ 3 ขึ้นมาใหม่ หลังจากที่ในอดีตเคยมีกองทุนวายุภักษ์ 1 และ 2 มาก่อนแล้ว
พิชัยกล่าวว่า มีแนวความคิดเปิดขายหน่วยลงทุน ‘กองทุนรวมวายุภักษ์’ ครั้งใหม่ สำหรับผู้ลงทุนทั่วไป เพื่อสร้างเงินออมเพิ่มให้กับประเทศ หลังจากการเปิดขายหน่วยลงทุนกองทุนวายุภักษ์สำหรับผู้ลงทุนทั่วไปก่อนหน้านี้ประสบความสำเร็จอย่างมากจน ‘ไม่พอจำหน่าย’
พิชัยยังกล่าวว่า หน่วยลงทุนกองทุนรวมวายุภักษ์สำหรับผู้ลงทุนทั่วไปมีความน่าสนใจดังนี้
- ได้รับผลตอบแทนตามจริงเป็นเวลา 10 ปี โดยมีขั้นต่ำ (Floor) และขั้นสูง (Ceiling) ต่อปีแล้วแต่กำหนด ตัวอย่างเช่น ขั้นต่ำ 3% และขั้นสูง 8% ต่อปี
- ผู้ลงทุนทั่วไปจะได้รับชำระคืนเงินลงทุนก่อนผู้ถือหน่วย ข (กระทรวงการคลังและหน่วยงานอื่น) ตามแนวชำระคืนเงินลงทุนที่มีลักษณะเป็น Waterfall
อย่างไรก็ดี พิชัยกล่าวว่า ขณะนี้กำลังศึกษาแนวคิดดังกล่าวอยู่ โดยคาดว่าจะใช้เวลา 6-9 เดือน
พรอนงค์เปิดเผยกับ THE STANDARD WEALTH ว่า ในเชิงหลักการแล้ว การจะออกหน่วยลงทุนดังกล่าว เชื่อว่าต้องมีการตั้งกองทุนใหม่ เนื่องจากเงื่อนไขการลงทุนต่างๆ น่าจะเปลี่ยนแปลงไป เนื่องจากกองทุนวายุภักษ์เดิม เช่น กองทุนรวมวายุภักษ์ 1 ไม่มีนักลงทุนรายย่อยเหลือแล้ว
นอกจากนี้ พรอนงค์ยังกล่าวว่า ในเชิงหลักการกองทุนประเภทนี้ยังมีข้อดีคือ มีโครงสร้างผลตอบแทนที่ดึงดูดนักลงทุนได้ เช่น การกำหนดผลตอบแทนขั้นต่ำไว้เท่ากับดอกเบี้ยเงินฝาก แต่หากกองทุนสร้างผลตอบแทนมากกว่าขั้นต่ำ นักลงทุนก็ยังจะได้ผลตอบแทนที่สูงกว่าด้วย
นอกจากนี้ ทั้ง 3 หน่วยงานพยายามยกระดับความเชื่อมั่นตลาดทุน เช่น การปรับเงื่อนไขการ Short Selling โดยกำหนดให้หุ้นที่จะถูก Short Selling ได้ต้องมีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 7.5 พันล้านบาท และมีอัตราการหมุนเวียนของหุ้นเฉลี่ย 12 เดือนไม่ต่ำกว่า 2% ทำให้หุ้นที่จะถูก Short ได้มีจำนวนน้อยลง และการ Short Selling จะทำได้ที่ราคาที่สูงกว่าราคาซื้อขายครั้งสุดท้าย (Uptick) แทนที่เกณฑ์ปัจจุบันที่ Short Selling ได้ที่ราคาเท่ากับหรือสูงกว่า (Zero-Plus Tick) โดยจะเริ่มใช้ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2567
รวมทั้งการพยายามควบคุมในด้านอื่นๆ เช่น การปรับเกณฑ์พิจารณาการเข้าจดทะเบียนให้เข้มข้นมากขึ้น หรือการเตือนผู้ลงทุนเกี่ยวกับหุ้นที่อาจปฏิบัติไม่ตามเกณฑ์หรือมีข้อน่าสังเกต และการพิจารณาถอดถอนหุ้นที่ไม่มีธุรกิจติดต่อกัน 3 ปี