ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคงคาดการณ์ GDP ไทยปี 2567 ขยายตัวที่ 2.6% เหตุมองเศรษฐกิจไทยครึ่งปีหลังจ่อเร่งตัวขึ้น แต่จับตาความเสี่ยงจากมาตรการกีดกันทางการค้าและการเบิกจ่ายภาครัฐ อาจเป็นความเสี่ยงขาลง คาด กนง. ไม่ลดดอกเบี้ยทั้งปีนี้ เว้นตัวเลขแย่ลงหนัก ท่ามกลางการอ่อนค่าของเงินบาท และการไหลออกของเงินจากตลาดหุ้นและบอนด์
วันนี้ (20 มิถุนายน) บุรินทร์ อดุลวัฒนะ กรรมการผู้จัดการ และ Chief Economist บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด เปิดเผยว่า ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้คงคาดการณ์เศรษฐกิจไทยปี 2567 ไว้ที่ขยายตัวที่ 2.6% เนื่องจากมองว่าในครึ่งหลังของปีนี้เศรษฐกิจมีแนวโน้มเร่งตัวขึ้นตามการเร่งเบิกจ่ายงบประมาณ และการส่งออกที่ขยายตัวเป็นบวกมากขึ้นจากปัจจัยฐานต่ำในปี 2566
อย่างไรก็ดี บุรินทร์กล่าวเพิ่มเติมว่า เศรษฐกิจไทยยังมีความเสี่ยงขาลงจากภายนอก เช่น ภูมิรัฐศาสตร์และมาตรการกีดกันทางการค้า และความเสี่ยงภายใน เช่น ปัญหาเชิงโครงสร้างและความสามารถในการแข่งขันที่ลดลง
นอกเหนือจากความเสี่ยงที่กล่าวมา ณัฐพร ตรีรัตน์ศิริกุล รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด ก็กล่าวเพิ่มเติมว่า การเบิกจ่ายของภาครัฐ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่อาจไม่เกิดขึ้น และส่งออกที่อาจไม่เป็นไปตามคาด ก็อาจเป็นปัจจัยกดดันให้ต้องปรับลดประมาณการลงได้
“ประมาณการ GDP ที่ 2.6% มาจากการนำมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจภาครัฐบางส่วนใส่เข้าไปแล้ว ดังนั้นหากผลของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจบางส่วนไม่เกิดขึ้นก็อาจจะเป็นความเสี่ยงขาลง (Downside) และอีกปัจจัยคือเรื่องส่งออก ที่ต้องติดตามเนื่องจากมีปัจจัยจากภายนอกที่อาจเข้ามากระทบเยอะ โดยหากส่งออกช่วงครึ่งปีหลังไม่เป็นไปตามคาด ก็อาจจะมีการปรับลดได้” ณัฐพรกล่าว
มอง กนง. ไม่ลดดอกเบี้ยนโยบายทั้งปีนี้ เว้นแต่เศรษฐกิจจะแย่หนัก
สำหรับแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทย เกวลิน หวังพิชญสุข รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด มองว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 2.5% ตลอดทั้งปี อย่างไรก็ดี หากข้อมูลหรือตัวเลขในระยะข้างหน้าเปลี่ยนไปในเชิงที่มีภาพลบมากๆ ก็คาดว่า กนง. อาจลดดอกเบี้ยเพื่อประคับประคองเศรษฐกิจ
บุรินทร์กล่าวเพิ่มเติมว่า คาดว่า กนง. จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 2.5% ตลอดทั้งปี เนื่องมาจากจุดยืน (Stance) ของ กนง. ที่สื่อสารออกมาก ท่ามกลางการคาดการณ์ที่ว่าธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา (Fed) จะลดอัตราดอกเบี้ยเพียงครั้งเดียวในเดือนธันวาคม เนื่องจาก Fed คงไม่ลดดอกเบี้ยก่อนการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ หรืออาจจะไม่ลดดอกเบี้ยเลย
ปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยอยู่ที่ 2.5% ขณะที่ดอกเบี้ยของ Fed อยู่ที่ 5.25-5.50% สะท้อนว่าช่องว่างระหว่างดอกเบี้ยนโยบายของไทยและสหรัฐฯ อยู่ที่ประมาณ 3%
ทั้งนี้ ตั้งแต่ต้นปี (YTD) ต่างชาติขายหุ้นไทยและบอนด์ไปแล้ว 106,681.19 ล้านบาทและ 58,392 ล้านบาท ตามลำดับ ขณะที่เงินบาทไทยก็อ่อนค่าไปกว่า 7% แล้ว หนักสุดเป็นอันดับที่ 2 ของเอเชียรองจากเงินเยนญี่ปุ่น (ข้อมูลถึงวันที่ 18 มิถุนายน)
ห่วงอุตสาหกรรมไทย ‘ฟุบ’
เกวลินยังเน้นย้ำถึงความเร่งด่วนในการแก้ปัญหาในภาคอุตสาหกรรมไทย เนื่องจากเตือนว่าในช่วงข้างหน้า การผลิตอุตสาหกรรมไทย (ซึ่งสร้างรายได้ราว 4.5 ล้านล้านบาทต่อปี) กำลังเผชิญกับปัจจัยกระทบรุมเร้าดังนี้
- ความไม่แน่นอนของการเบิกจ่ายภาครัฐที่จะกระทบอุตสาหกรรมก่อสร้าง
- สินค้านำเข้าที่ไหลเข้าไทยเพิ่มขึ้นจากผลของสงครามการค้า ซึ่งจะกระทบอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ รถยนต์ และเหล็ก
- ต้นทุนทางธุรกิจเพิ่มขึ้น ทั้งราคาน้ำมันดีเซลที่ภาครัฐทยอยลดการอุดหนุน และค่าแรงที่มีทิศทางสูงขึ้น จะกระทบต่อ SMEs โดยเฉพาะกลุ่มที่ใช้แรงงานเข้มข้น
ทั้งนี้ เพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ภาครัฐควรเร่งเบิกจ่ายงบประมาณ กวดขันสินค้านำเข้า และสนับสนุนการใช้วัตถุดิบในประเทศ (Local Content) รวมถึงเติมสภาพคล่องให้กับ SMEs และเน้นวางแผนการจัดการน้ำ
ขณะเดียวกัน ถึงเวลาที่ทุกภาคส่วนจะต้องปรับโครงสร้างเศรษฐกิจขนานใหญ่ ด้วยการเพิ่มประสิทธิภาพในทุกมิติ ทำให้รายได้เติบโตเร็วกว่าการเพิ่มขึ้นของต้นทุน