×

SCB EIC เตือน เศรษฐกิจไทยครึ่งปีหลังเสี่ยงมากขึ้น หลังหั่น GDP เหลือ 2.5% หนุน กนง. ลดดอกเบี้ย ชี้ไม่ทำให้คนก่อหนี้เพิ่ม เหตุแบงก์คุมเข้มปล่อยสินเชื่อ

19.06.2024
  • LOADING...
SCB EIC

SCB EIC ระบุว่าเศรษฐกิจไทยช่วงที่เหลือของปีมีความเสี่ยงขาลง ‘มากกว่า’ ขาขึ้น ทำให้ กนง. มีโอกาสลดดอกเบี้ยลง 1 ครั้งในปีนี้ เชื่อการลดดอกเบี้ยไม่ทำให้คนก่อหนี้เพิ่ม เหตุสถาบันการเงินคุมเข้ม-ไม่กล้าปล่อยสินเชื่อ หลังคุณภาพสินเชื่อไทยแย่ลง เพราะคนผิดนัดชำระมากขึ้น ทำให้สัดส่วนหนี้เสียเพิ่ม เตือนหาก กนง. ไม่ลดดอกเบี้ย อาจทำให้ปัญหาเศรษฐกิจไทยรุนแรงขึ้น

 

เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน ดร.สมประวิณ มันประเสริฐ รองผู้จัดการใหญ่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มงาน Economic Intelligence Center (EIC) และรองผู้จัดการใหญ่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มงานกลยุทธ์องค์กร ประเมินว่า เศรษฐกิจไทยปี 2567 จะขยายตัว 2.5% ลดลงจากประมาณการเดือนมีนาคม 2567 ที่คาดว่า GDP ไทยในปีนี้จะขยายตัวได้ 2.7%

 

โดยพิจารณาลึกลงไปในองค์ประกอบของ GDP แต่ละตัวพบว่า SCB EIC ปรับลดมุมมอง (Outlook) ขององค์ประกอบส่วนใหญ่ลง โดยเฉพาะการลงทุนจากภาครัฐ จากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัวได้ 1.1% เหลือหดตัว 0.5% โดยองค์ประกอบของ GDP ที่มีการปรับขึ้นมีเพียงการบริโภคเอกชนและมูลค่านำเข้าสินค้าเท่านั้น

 

 

สรุป ‘แรงส่ง’ เศรษฐกิจไทยปี 2567

 

  • การท่องเที่ยวในประเทศเติบโตดี โดยจังหวัดเมืองรองมีแนวโน้มได้รับความสนใจมากขึ้นจากมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวของภาครัฐ
  • ภาคบริการฟื้นตัว ตามจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ จากการออกมาตรการดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มเติม ทั้งมาตรการวีซ่าฟรีและ VOA รวมถึงการกลับมาของนักท่องเที่ยวจีน

 

เปิด ‘แรงกดดัน’ เศรษฐกิจไทยปีนี้

 

  • การส่งออกสินค้าที่จะขยายตัวจำกัดส่วนหนึ่ง เพราะการส่งออกไทยเริ่มฟื้นตัวไม่สอดคล้องกับปริมาณการค้าโลกมากขึ้น โดยเฉพาะสินค้ากลุ่มเหล็ก ผลไม้ และ HDD ที่จะหดตัวในปีนี้
  • ภาคการผลิตที่จะฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยมีแรงกดดันทั้งปัจจัยภายนอกจากสินค้าจีนที่เข้ามาตีตลาด เนื่องจากจีนมีปัญหา Overcapacity ในประเทศ รวมถึงปัจจัยภายในจากอุปสงค์ในประเทศที่เริ่มมีสัญญาณแผ่วลง
  • การลงทุนภาครัฐที่แม้จะกลับมาเร่งตัวจากการเร่งรัดเบิกจ่าย หลัง พ.ร.บ.งบประมาณปี 2567 ล่าช้ากว่าครึ่งปี แต่จะไม่สามารถชดเชยการหดตัวรุนแรงในช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้ได้

 

นอกจากนี้ มองไปข้างหน้าเศรษฐกิจไทยยังเผชิญความเปราะบางมากขึ้นทั้งภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจ

 

ภาคครัวเรือน: กลุ่มคนรายได้น้อยขาดกันชนทางการเงินที่เพียงพอในระยะข้างหน้า เช่น เงินสำรองฉุกเฉินและประกันความเสี่ยงรูปแบบต่างๆ

 

ภาคธุรกิจ: แม้โดยรวมมีแนวโน้มฟื้นตัว แต่บางกลุ่มยังเปราะบางค่อนข้างมาก โดยเฉพาะธุรกิจขนาดเล็กที่มีหนี้สูงมากขึ้น ท่ามกลางปัญหาโครงสร้างของภาคการผลิตไทย SCB EIC ประเมินว่า แม้จะมีมาตรการการเงินเน้นช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางภาคครัวเรือนและธุรกิจมากขึ้น แต่ยังต้องใช้เวลากว่ามาตรการจะเห็นผลในวงกว้าง

 

เตือน! ประมาณการ GDP ไทยมีโอกาสถูกหั่นอีก

 

กระนั้น ดร.สมประวิณยังกล่าวว่า ในช่วงที่เหลือของปี มีโอกาสที่ประมาณการเศรษฐกิจไทยปีนี้จะถูกหั่นลงอีก เนื่องจากความเสี่ยงขาลง (Downside Risk) มีมากกว่าความเสี่ยงขาขึ้น (Upside Risk)

 

ตัวอย่างเช่น 1. หากการเลือกตั้งในสหรัฐฯ นำไปสู่ความไม่สงบ 2. เกิดเหตุความขัดแย้งในภูมิภาค เช่น จีนและไต้หวัน และ 4. หากปัญหาในภาคการเงินน่ากังวลมากขึ้น

 

ดร.สมประวิณอธิบายว่า ปัจจุบันภาคการเงินของไทยมีความสัมพันธ์ (Interact) กับภาคเศรษฐกิจจริง (Real Sector) มากขึ้นเรื่อยๆ เห็นได้ชัดจากกรณี ‘รถยนต์มือสอง’

 

“เมื่อตลาดรถมือสองราคาลดลง ผู้ประกอบการเต็นท์รถจึงกดราคารับซื้อรถยนต์จากผู้ขายลง ทำให้โอกาสขายรถยากขึ้น สร้างแรงกดดันให้สถาบันการเงินในการปล่อยสินเชื่อรถยนต์มือสอง เพราะโอกาสซื้อ-ขายรถยากขึ้น ทำให้ราคารถยนต์มือสองลดลงไปอีก และวนกลับมาที่สถาบันการเงินปล่อยสินเชื่อยากอีก เนื่องจากมองว่ารถยนต์มือสองราคาเสื่อมเร็ว” ดร.สมประวิณกล่าว

 

ปัจจัยเสี่ยง ‘มากกว่า’ หนุน เศรษฐกิจไทยวิกฤตหรือยัง?

 

แม้ความเสี่ยงและความท้าทายของเศรษฐกิจไทยจะมีมาก อย่างไรก็ดี ดร.สมประวิณมองว่าเศรษฐกิจไทยไม่เข้าข่ายวิกฤต แต่เปรียบเปรยว่าเศรษฐกิจเหมือนผู้ป่วยมะเร็งมากกว่า อีกทั้งยังติดเชื้อง่าย

 

“ผมมองว่าวิกฤตมักเป็นเรื่องสั้น เช่น ภาวะหัวใจวาย (Heart Attack) แต่เศรษฐกิจไทยเป็นเรื่องยาวเหมือนมะเร็ง คือค่อยๆ ซึมไป ผมจึงคิดว่าไม่ใช่คำว่าวิกฤต” ดร.สมประวิณกล่าว

 

พร้อมระบุว่า “แต่หากถามว่ามีปัญหาหรือไม่ คำตอบคือมี แต่เป็นปัญหาสุขภาพร่างกายอ่อนแอเรื่อยๆ ถามว่าวิกฤตจะมาเมื่อไร ผมตอบได้แค่ว่าตอนนี้ร่างกายเราอ่อนแอ เมื่อไรก็ตามที่เศรษฐกิจโลกชะลอตัวลงชัดเจน เช่น มีสงครามเกิดขึ้นหรือมีวิกฤตในประเทศอื่นลามมาไทย วันนั้นไทยก็จะติดเชื้อ เนื่องจากสิ่งเหล่านั้นจะกระทบไทยได้ง่ายขึ้น”

 

SCB EIC คาด กนง. มีโอกาสลดดอกเบี้ยในไตรมาสสุดท้ายของปีนี้

 

โดย SCB EIC ยังมีมุมมองว่า กนง. จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 1 ครั้งปลายปี 2567 เหลือ 2.25% และปรับลดอีกครั้งเหลือ 2% ในช่วงต้นปี 2568 เนื่องจากเหตุผลต่างๆ ดังนี้

 

แรงส่งอุปสงค์ในประเทศในระยะข้างหน้า ที่อาจได้รับผลกระทบเพิ่มเติมจากฐานะครัวเรือนที่ยังเปราะบางและปัญหาเชิงโครงสร้างที่ยังมีอยู่ ภาวะการเงินตึงตัวที่จะส่งผลกระทบชัดเจนขึ้น และความเสี่ยงเศรษฐกิจในปีหน้ามีโอกาสเพิ่มขึ้น

 

นอกจากนี้ ในระยะยาวก็มีความเป็นไปได้ว่า ศักยภาพของเศรษฐกิจไทยจะลดลงก็ปรากฏชัดเจนขึ้น และกระทบต่อ Neutral Rate ที่ต่ำลง

 

 

เห็นต่าง กนง. มองลดดอกเบี้ย ไม่ทำให้หนี้ครัวเรือนเพิ่ม

 

SCB EIC ยังระบุว่า อีกเหตุผลที่มองว่า กนง. มีโอกาสลดดอกเบี้ยในปีนี้ เนื่องจากต้นทุนการลดดอกเบี้ยของ กนง. ลดลง หลังสถาบันการเงินที่เข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อ ซึ่งจะทำให้การลดดอกเบี้ยไม่ได้กระตุ้นการก่อหนี้มากอย่างที่ กนง. กังวลในปัจจุบัน

 

“EIC มีการศึกษาคู่ขนานไปกับ ธปท. ว่า หากลดดอกเบี้ยแล้วจะมีผลทำให้คนก่อหนี้เพิ่มขึ้นหรือไม่ เนื่องจากสิ่งที่ กนง. กังวลใจคือว่า ลดดอกเบี้ยแล้วคนจะก่อหนี้เพิ่ม แต่เราอยู่แบงก์จริง เรารู้ว่าถึงวันนี้ลดดอกเบี้ยคนก็ก่อหนี้เพิ่มไม่ได้ เพราะแบงก์ไม่ปล่อยสินเชื่อ” ดร.สมประวิณกล่าว

 

ในทางกลับกัน “เราเชื่อว่า กนง. ยังลดดอกเบี้ยได้ และการลดดอกเบี้ยจะไม่ทำให้คนเป็นหนี้มากขึ้น แต่การลดดอกเบี้ยจะไปช่วยทำให้สภาพเศรษฐกิจผ่อนคลายมากขึ้น คนมีรายได้มากขึ้น คนลงทุนมากขึ้น อุปสงค์มากขึ้น ก็จะกลับมาช่วยเรื่องหนี้อีกที ดังนั้นเราคิดในทางตรงกันข้ามกับ ธปท.”

 

นอกจากนี้ ดร.สมประวิณยังมองว่า หาก ธปท. ไม่ลดดอกเบี้ย ก็มีโอกาสที่จะทำให้ปัญหาสะสมต่างๆ ของเศรษฐกิจไทย ‘รุนแรงขึ้น’ อีกด้วย

 

ภาวะการเงินไทยตึงตัวมากแค่ไหน?

 

ดร.ฐิติมา ชูเชิด ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยเศรษฐกิจมหภาค กล่าวว่า ปัจจุบันการปล่อยสินเชื่อในฝั่งธนาคารพาณิชย์ชะลอตัวไปค่อนข้างเยอะเมื่อเทียบจากช่วงก่อนโควิด ที่การปล่อยสินเชื่อสูงกว่าการขยายตัวของ GDP

 

“เมื่อก่อนการปล่อยสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์อาจสูงกว่าการเติบโตของเศรษฐกิจราว 1.5 เท่า แต่ตอนนี้ไม่ใช่แล้ว เพราะคุณภาพของสินเชื่อแย่ลง”

 

อย่างไรก็ดี ดร.ฐิติมามองว่าทั้งปีนี้การปล่อยสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ในประเทศก็ยังน่าจะเป็นบวกอยู่ ไม่ถึงติดลบ

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X