×

ชาติแรกในภูมิภาคอาเซียน สว. ลงมติประวัติศาสตร์ ‘เห็นชอบร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมแล้ว’

โดย THE STANDARD TEAM
18.06.2024
  • LOADING...

วันนี้ (18 มิถุนายน) ที่ประชุมวุฒิสภา พล.อ. สิงห์ศึก สิงห์ไพร รองประธานวุฒิสภาคนที่ 1 เป็นประธานในการประชุมวุฒิสภา ครั้งที่ 1 (สมัยวิสามัญ) เพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. หรือกฎหมายสมรสเท่าเทียม ในวาระ 2 และวาระ 3 ภายหลังจากกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมของวุฒิสภาพิจารณาเสร็จแล้ว

 

วัลลภ ตังคณานุรักษ์ สมาชิกวุฒิสภา ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญ เป็นผู้ชี้แจงการพิจารณาร่างกฎหมายในชั้นกรรมาธิการว่า ก่อนที่จะพิจารณาร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมแล้วเสร็จ ที่ประชุมได้นัดประชุมทั้งสิ้นจำนวน 12 ครั้ง โดยคณะกรรมาธิการวิสามัญได้พิจารณากฎหมายดังกล่าวอย่างละเอียดและรอบคอบ

 

โดยการรับฟังข้อมูลและเอกสารประกอบการพิจารณาที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ ตารางเปรียบเทียบร่างกฎหมาย พิจารณาดูจากกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสิทธิ หน้าที่ และสถานะของสามี ภรรยา และรับฟังความเห็นจากผู้เชี่ยวชาญ คณะกรรมการไม่มีการแก้ไข และไม่มีกรรมการสงวนความเห็น แต่มีข้อสังเกตที่สำคัญมาก เช่น ร่างกฎหมายมีเนื้อหาส่วนใหญ่ที่มุ่งเน้นในเรื่องของการหมั้นและการสมรส แต่ไม่ ครอบคลุมเรื่องการสร้างครอบครัว และเรื่องการอุปการะเลี้ยงดูเด็กที่เป็นบุตรของผู้มีความหลากหลายทางเพศ

 

จากนั้นเป็นการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติเป็นรายมาตรา เช่น การกำหนดให้กฎหมายสมรสเท่าเทียมมีผลบังคับใช้ภายใน 120 วัน ซึ่ง พล.ต.ท. ศานิตย์ มหถาวร สมาชิกวุฒิสภา ไม่เห็นด้วยและขอแปรญัตติ ได้อภิปรายว่า มีการโต้เถียงกันมาตลอด ตนจึงตั้งคำถามว่าเหตุใดถึงประกาศไม่ให้มีผลบังคับใช้ในวันถัดไปหลังจากประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา

 

ขณะที่ จิตรพรต พัฒนสิน กรรมาธิการ ชี้แจงว่า การกำหนดวันบังคับใช้ของกฎหมายในบางบริบทขึ้นอยู่กับกฎหมายรองรับ และการเตรียมการของหน่วยงานราชการส่วนต่างๆ เพื่อรองรับการบังคับใช้ของกฎหมาย แต่ในทางปฏิบัติ เช่น การจดทะเบียนครอบครัวมีกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง จึงได้มีการปรับแก้จากให้บังคับใช้หลังประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาเป็นเวลา 120 วัน

 

ทั้งนี้ สว. ส่วนใหญ่ต่างเห็นชอบกับคณะกรรมาธิการ โดยมีสมาชิกอภิปราย 1-2 คนในแต่ละมาตรา ซึ่งหนึ่งในคนที่เป็นที่สังเกตคือ พล.อ. วรพงษ์ สง่าเนตร เป็น สว. ที่ขอสงวนคำแปรญัตติแทบทุกมาตรา โดยพยายามเปลี่ยนนิยามของคำ เช่น คำว่าคู่สมรส เปลี่ยนเป็นสามีภรรยาหรือคู่สมรส และคำว่าบุคคลเปลี่ยนเป็นชายและหญิงหรือผู้หมั้น

 

พล.อ. วรพงษ์ กล่าวย้ำว่า ตนไม่เห็นด้วยกับวิธีการและหลักการในการแก้ไขกฎหมายในครั้งนี้ การเอาคำว่าสามีภรรยา เพศชายหรือเพศหญิงออกไป และใช้คำอื่นมาแทน เช่น คู่สมรสหรือคู่หมั้น ซึ่งไม่ได้ระบุเพศที่ชัดเจน โดยอ้างว่าเพื่อให้ครอบคลุมทุกกลุ่ม การแก้ไขแบบนี้ตนถือว่าเป็นการเซาะกร่อนบ่อนทำลายสถาบันครอบครัวอย่างรุนแรงที่สุด เพราะสถาบันครอบครัวเป็นสถาบันที่สำคัญของสังคมไทย และอยู่ในสภาพที่เปราะบาง การดำเนินการดังกล่าวจะทำให้สถาบันครอบครัวพังทลายลงเร็วขึ้น

 

พล.อ. วรพงษ์ กล่าวต่อว่า การแก้ไขในส่วนนี้จะบานปลายต่อไปอีก เพราะฉะนั้นต้องคิดให้ดีว่าผลกระทบที่เกิดขึ้นจะเป็นอย่างไร ตนจึงบอกว่าการแก้กฎหมายแบบนี้ไม่ได้เป็นการยกระดับ LGBTQIA+ ขึ้นมาให้เท่าเทียมกับเพศชายหรือเพศหญิง แต่เป็นการกดเพศชายและเพศหญิงลงไปให้เข้ากับ LGBTQIA+ จะทำให้ภาพเบลอ ไม่ชัด และอาจก่อให้เกิดปัญหาทางสังคมต่อมา

 

ท้ายที่สุดที่ประชุมที่สภามีมติเห็นชอบต่อร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ฉบับที่ .. พ.ศ. …. หรือร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมในวาระที่ 3 ด้วยคะแนนเสียงเห็นชอบ 130 เสียง ไม่เห็นด้วย 4 เสียง งดออกเสียง 18 เสียง โดยประเทศไทยจะถือเป็นประเทศแรกในภูมิภาคอาเซียนที่มีกฎหมายสมรสเท่าเทียม และเป็นประเทศที่ 38 ของโลก

 

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

X
Close Advertising