สถานีโทรทัศน์ CNN เปิดเผยรายงานประจำปีของ Demographia International Housing Affordability Report ซึ่งติดตามราคาบ้านมาเป็นเวลา 20 ปี และคอยจัดอันดับราคาที่อยู่อาศัยของเมืองต่างๆ ทั่วโลกทั้งหมด 94 แห่งใน 8 ประเทศ พบเขตปกครองพิเศษฮ่องกงขึ้นแท่นกลายเป็นเมืองที่มีราคาที่ดินแพงที่สุดในโลก เมื่อเทียบกับค่าครองชีพของคนในท้องถิ่น จนทำให้ชนชั้นกลางหนึ่งคนกับการอยากมีบ้านเป็นของตนเองกลายเป็นความฝันที่แทบจะเป็นไปไม่ได้ (Impossibly Unaffordable)
รายงานนี้รวบรวมโดยนักวิจัยจาก Center for Demographics and Policy ของ Chapman University ในแคลิฟอร์เนีย และ Frontier Centre for Public Policy ซึ่งเป็น Think Tank ด้านนโยบายสาธารณะในแคนาดา ซึ่งระบุว่า ทางกลุ่มได้เปรียบเทียบรายได้เฉลี่ยกับราคาบ้านโดยเฉลี่ย โดยพบว่าความต้องการบ้านที่มีพื้นที่ภายนอกซึ่งขับเคลื่อนด้วยโควิด บวกกับนโยบายการใช้ที่ดินที่มุ่งจำกัดการขยายตัวของเมือง และนักลงทุนที่เข้ามาในตลาด ส่งผลให้ราคาพุ่งสูงขึ้น
ทั้งนี้ การศึกษาพบว่า 5 เมืองทางชายฝั่งตะวันตกและฮาวายของสหรัฐฯ ครองตำแหน่ง 5 จาก 10 อันดับแรกที่มีราคาเอื้อมไม่ถึง โดยเมืองที่แพงที่สุดในการซื้อบ้านในสหรัฐฯ อยู่ในรัฐแคลิฟอร์เนีย ขณะที่เมืองซานโฮเซ ลอสแอนเจลิส ซานฟรานซิสโก และซานดิเอโก ล้วนติด 10 อันดับแรก ส่วนโฮโนลูลู เมืองหลวงของฮาวาย จัดอยู่ในอันดับที่ 6
ด้านออสเตรเลียถือเป็นประเทศเดียวนอกเหนือจากสหรัฐฯ ที่ครองรายชื่อ ‘เมืองที่บ้านยังไม่สามารถหาซื้อได้’ โดยเมืองที่บ้านราคาแพงที่สุดในออสเตรเลียคือซิดนีย์และเมลเบิร์น เมืองทางตอนใต้ในรัฐวิกตอเรีย และเมืองแอดิเลดในรัฐเซาท์ออสเตรเลีย
อย่างไรก็ตาม อันดับหนึ่งยังคงเป็นเขตปกครองพิเศษฮ่องกง ซึ่งครองตำแหน่งเบอร์หนึ่งราคาที่อยู่อาศัยแพง โดยศูนย์กลางการเงินขนาดเล็กในเอเชียแห่งนี้ขึ้นชื่อเรื่องอพาร์ตเมนต์ขนาดเล็กและค่าเช่าที่สูงลิ่ว
ปัจจุบันฮ่องกงมีอัตราการเป็นเจ้าของบ้านต่ำที่สุดในบรรดาเมืองทั้งหมดที่สำรวจ คือเพียง 51% เมื่อเทียบกับคู่แข่งในเอเชียอย่างสิงคโปร์ ซึ่งมีอัตราการเป็นเจ้าของบ้านสูงสุด 89% อานิสงส์จากความมุ่งมั่นของรัฐบาลที่ยาวนานหลายทศวรรษในการสร้างและจัดสรรอาคารสาธารณะ
ทั้งนี้ การจัดทำรายงาน Demographia International Housing Affordability Report จะวัดความสามารถในการจ่าย โดยใช้อัตราส่วนราคาต่อรายได้ของราคาบ้านเฉลี่ยหารด้วยรายได้เฉลี่ยของครัวเรือน โดยเชื่อมโยงการเพิ่มขึ้นของการทำงานจากที่บ้านในช่วงวิกฤตโควิดระบาดที่เกิด Demand Shock ขณะที่บ้านนอกใจกลางเมืองซึ่งมีพื้นที่ภายนอกมากขึ้นก็ยังคงมีราคาแพง อันเป็นผลมาจากนโยบายการใช้ที่ดิน ซึ่งรวมถึงการจำกัดพื้นที่ในเมือง ซึ่งเป็นการวางแผนประเภทหนึ่งที่ออกแบบมาเพื่อหยุดยั้งการขยายตัวของเมือง
รายงานระบุว่า ชนชั้นกลางตกอยู่ภายใต้การปิดล้อม สาเหตุหลักมาจากการเพิ่มขึ้นของราคาที่ดิน เนื่องจากที่ดินได้รับการจัดสรรเพื่อลดการขยายตัวของเมือง และอุปสงค์ที่มากเกินอุปทานทำให้ราคาสูงขึ้น
นอกจากนี้ ราคาบ้านและที่ดินของหลายประเทศทั่วโลกยังปรับตัวสูงขึ้น เนื่องจากมีนักลงทุนส่วนหนึ่งกระโดดเข้ามาหาช่องทางลงทุนทำกำไรในตลาดอสังหาริมทรัพย์
ทั้งนี้ 10 เมืองที่มีราคาที่อยู่อาศัยแพงที่สุดในโลกได้แก่
- ฮ่องกง
- ซิดนีย์
- แวนคูเวอร์
- ซานโฮเซ
- ลอสแอนเจลิส
- โฮโนลูลู
- เมลเบิร์น
- ซานฟรานซิสโก / แอดิเลด
- ซานดิเอโก
- โทรอนโต
ขณะเดียวกัน รายงานยังได้หยิบยกนิวซีแลนด์เป็นตัวอย่างการหาโซลูชันในการแก้ปัญหาราคาที่ดินแพงเกินเอื้อม ด้วยการเพิ่มพื้นที่ว่างเพื่อการพัฒนาในทันที ภายใต้นโยบาย ‘Going for Housing Growth’ ซึ่งกำหนดให้หน่วยงานท้องถิ่นต้องกำหนดเขตการเติบโตของที่อยู่อาศัยในระยะเวลา 30 ปีโดยทันที
สำหรับผู้ที่ไม่สามารถรอให้มีการเปลี่ยนแปลงนโยบายหรืออุปสงค์ที่ลดลง รายงานยังระบุเมืองที่มีราคาเหมาะสมที่สุดจาก 94 เมืองที่สำรวจทั่วโลก ได้แก่ เมืองพิตต์สเบิร์ก, โรเชสเตอร์ และเซนต์หลุยส์ ในสหรัฐฯ เมืองเอดมันตันและคาลการีในแคนาดา เมืองแลงคาสเชอร์และกลาสโกว์ในอังกฤษ และเมืองเพิร์ทกับบริสเบนในออสเตรเลีย
อ้างอิง: