×

เยอรมนี อดีตอันยิ่งใหญ่ และการล่มสลายของ ‘Turniermannschaft’

14.06.2024
  • LOADING...
เยอรมนี

หากเอ่ยถึงคำว่า ‘Made in Germany’ ภาพจำในความรู้สึกของคนส่วนมากคือ เรื่องของประสิทธิภาพในระดับสูงสุดที่แม่นยำและวางใจได้

 

แต่สำหรับฟุตบอลยูโร 2024 ที่กำลังจะเริ่มต้นขึ้นในอีกไม่กี่ชั่วโมงข้างหน้านี้ หนึ่งในคำเตือนที่น่าตกใจที่สุดจากคนเยอรมันถึงแฟนฟุตบอลจากทั่วยุโรปและทั่วโลก ที่จะเดินทางมาร่วมเฉลิมฉลองในบรรยากาศและเทศกาลลูกหนัง ณ ประเทศที่เคยขึ้นชื่อว่าเป็นเจ้าภาพที่ดีที่สุดคือ ‘อย่าเชื่อใจรถไฟเยอรมนี’

 

“Deutsche Bahn ไม่เหมือนดอยช์เลย มันไม่เคยมาตรงเวลา”

 

สำหรับทีมฟุตบอลเยอรมนีก็เช่นกัน ดูเหมือนชาวเยอรมันจะทำใจและไม่ได้คาดหวังอะไรมากนักกับทีมของพวกเขา

 

ทีมที่เคยได้ชื่อว่า ‘Turniermannschaft’ หรือ ‘Tournament Team’ ที่ยิ่งเล่นยิ่งเก่งในอดีต วันนี้มันเป็นแค่เรื่องเล่าครั้งเก่าไปเสียแล้ว

 

ต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา หนังสือพิมพ์ Die Zeit ในเยอรมนี ได้ตีพิมพ์บทความเกี่ยวกับเรื่องแฟนฟุตบอลชาวต่างชาติที่วางแผนว่าจะเดินทางไปเมืองต่างๆ ในระหว่างช่วงฟุตบอลยูโร 2024 ซึ่งแฟนบอลที่มีตั๋วเข้าชมการแข่งขันสามารถเดินทางได้ฟรีในระยะเวลา 36 ชั่วโมง โดยใช้เครือข่ายการรถไฟเยอรมนี ‘Deutsche Bahn’ ว่าขอให้คิดดีๆ

 

เพราะถึงแม้คำว่า Made in Germany จะขึ้นชื่อลือชาในเรื่องของประสิทธิภาพและความเชื่อใจได้ แต่นั่นไม่ใช่สำหรับรถไฟของพวกเขา ที่แม้แต่คนดอยช์ด้วยกันยังแซวว่า “ถ้าอยากได้ประสิทธิภาพแบบเยอรมนี ขอให้ไปขึ้นรถไฟที่สวิตเซอร์แลนด์”

 

คำแซวนั้นยังกระทบชิ่งไปถึงทีม ‘Die Mannschaft’ หรือทีมชาติเยอรมนี ของพวกเขาเองด้วย

 

 

ทีมชาติเยอรมนีนั้นขึ้นชื่อว่าเป็นหนึ่งในโคตรทีมของโลก พวกเขาเป็นแชมป์ฟุตบอลโลก 4 สมัย เป็นรองเพียงแค่บราซิลที่ได้ 5 สมัยเพียงทีมเดียว

 

ในยุโรป พวกเขาคือชาติที่คว้าแชมป์ฟุตบอลยูโร (European Championship) มาครองได้มากที่สุด 3 สมัยเท่ากับฝรั่งเศส (หนึ่งในนั้นคือการคว้าแชมป์สมัยแรกที่มีทีมเข้าแข่งเพียง 4 ทีม)

 

จุดแข็งตลอดกาลสำหรับทีมลูกหนังสัญชาติเยอรมันคือ ความตายยาก การสามารถทำผลงานได้ดีที่สุดในยามที่สถานการณ์ยากลำบากและกดดันที่สุด แกร่งจนเหมือนหัวใจเสริมใยเหล็ก

 

คนเยอรมันยังเรียกความหินของทีมเยอรมนีเองว่า ‘Turniermannschaft’ หรือทีมที่ชอบเล่นบอลแบบทัวร์นาเมนต์ ยิ่งเข้ารอบลึกมากเท่าไร ใจของพวกเขาก็ยิ่งน่ากราบมากขึ้นเท่านั้น

 

ในยุคทอง รอยต่อระหว่างปี 80-90 ตอนปลาย พวกเขาเข้าผ่านชิงฟุตบอลโลก 1986 (รองแชมป์) และ 1990 (แชมป์) ก่อนจะเข้าชิงฟุตบอลยูโรอีก 2 สมัยในปี 1992 (รองแชมป์) และ 1996 (แชมป์)

 

ก่อนที่จะเข้าชิงฟุตบอลโลก 2002 (รองแชมป์), ยูโร 2008 (รองแชมป์) และมาได้แชมป์ฟุตบอลโลกในปี 2014 

 

แต่นับจากได้แชมป์โลกครั้งล่าสุด ทีมชาติเยอรมนีก็ตกต่ำลงอย่างน่าใจหาย

 

ฟุตบอลยูโร 2016 พวกเขาไปได้แค่รอบ 16 ทีมสุดท้าย ขณะที่ฟุตบอลยูโร 2020 (ซึ่งแข่งในปี 2021 ด้วยเหตุผลเรื่องโรคโควิด-19 ระบาด) พวกเขาแพ้ให้กับอังกฤษ ตกรอบ 16 ทีมเช่นกัน

 

หนักกว่านั้นคือ ในฟุตบอลโลก 2 สมัยหลังสุด ทั้งปี 2018 ที่ประเทศรัสเซีย และปี 2022 ที่ประเทศกาตาร์ ‘อินทรีเหล็ก’ ขนร่วงหล่นลงพื้นดังแกร๊งๆ เพราะตกรอบแรกทั้งสองครั้ง

 

เยอรมนี

 

แต่สิ่งที่เลวร้ายที่สุดคือ การที่ความล้มเหลวไม่เท่ากับการที่พวกเขามองไม่เห็นความหวัง

 

ความตกต่ำของทีมชาติเยอรมนีไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจ พวกเขาเคยผ่านเรื่องราวแบบนี้มาหลายครั้ง เช่น ในยุค 90 หลังได้แชมป์ฟุตบอลยูโร 1996 ที่ประเทศอังกฤษ ซึ่งเป็นความสำเร็จในระดับเมเจอร์ต่อจากแชมป์ฟุตบอลโลก 1990 ทีมชาติเยอรมนีก็ตกต่ำอย่างรู้สึกได้

 

ปัญหาในยุคนั้นเกิดจากขุมกำลังที่ใช้งานมาอย่างยาวนานเริ่มแก่และหมดสภาพ ทำให้คนในวงการฟุตบอลเยอรมนีต้องวางแผน Reinvent ตัวเองครั้งใหญ่ ซึ่งมีการบันทึกเอาไว้ในหนังสือ Das Reboot โดย ราฟาเอล โฮนิกสไตน์ ผู้สื่อข่าวคนดังชาวเยอรมัน

 

การปฏิวัติวงการครั้งนั้นใช้เวลานานหลายปี เปลี่ยนแปลงระบบโครงสร้างฟุตบอลภายในประเทศใหม่ ซึ่งแม้จะไม่ได้ผลิดอกออกผลได้ทันเวลาในฟุตบอลโลก 2006 ที่พวกเขาเป็นเจ้าภาพ (เข้าถึงรอบรองชนะเลิศ) แต่ก็เป็นต้นทุนต่อยอดให้ โยอาคิม เลิฟ พาทีมคว้าแชมป์โลกในปี 2014

 

ขณะที่ปัญหาในยุคนี้ดูเหมือนจะหนักหนาและลำบากกว่ามาก

 

วงการฟุตบอลเยอรมนีไม่ได้เฟื่องฟูเหมือนในอดีต พวกเขาแทบผลิตนักฟุตบอลในระดับชั้นเลิศเหมือนในอดีตที่มีแต่นักเตะในระดับโลกหรือระดับอินเตอร์ (ตามการจัดอันดับสไตล์ลูกหนังเมืองเบียร์) ไม่ได้เลย และแทบมองไม่เห็นมานานแล้ว

 

อาจจะพอมองเห็นความหวังบ้างกับนักเตะอย่าง จามาล มูเซียลา หรือ ฟลอเรียน เวิร์ตซ์ ที่เป็น Wunderkind ของวงการ เปี่ยมด้วยพรสวรรค์ แต่หากเทียบกับในอดีตแล้ว เด็กทั้งคู่ยังเป็นแค่เด็กเดินเตาะแตะในเกมลูกหนังระดับชาติ

 

 

การที่นักเตะอย่าง โทนี โครส ขอกลับมาช่วยทีมชาติเป็นรายการสุดท้ายของชีวิตในยูโรที่แข่งบนแผ่นดินเกิดของตัวเอง เป็นเครื่องสะท้อนที่ดีว่าพวกเขาอ่อนแอในระดับไหน และเยอรมนีก็เป็นทีมที่มีอายุเฉลี่ยรวมมากที่สุดในรายการด้วย

 

และบางครั้งความอ่อนแอก็ไม่ได้หมายถึงเรื่องของฝีเท้าผู้เล่นเพียงอย่างเดียว เพราะความจริงแล้วสิ่งที่ทำให้เยอรมนีไม่เป็นเยอรมนีก็คือเรื่องของ Mentality หรือจิตใจ ความเป็นทีมเวิร์ก และความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน

 

คนเยอรมันมองไม่เห็นสิ่งนี้ในทีมของพวกเขา และทำให้ไม่อยากฝากความหวังอะไรมากมายนัก

 

ฮันซี ฟลิก กลายเป็น ‘บุนเดสเทรนเนอร์’ คนแรกในประวัติศาสตร์ของชาติที่ถูกปลดจากตำแหน่งในเดือนกันยายนปีกลาย หลังจากทำผลงานเลวร้ายต่อเนื่องในฟุตบอลโลก 2022 ต่อด้วยการแพ้ต่อเบลเยียม, โปแลนด์, โคลอมเบีย, ญี่ปุ่น, ตุรกี และออสเตรีย ในรอบปฏิทินเดียว

 

แต่กลายเป็นว่าการที่ทีมชาติต้องหันไปหาโค้ชอย่าง ยูเลียน นาเกิลส์มันน์ ซึ่งยังเป็นแค่โค้ชคนหนุ่มที่ไม่ได้ประสบความสำเร็จหรือพิสูจน์ตัวเองได้มากพอ ก็เป็นอีกหนึ่งเครื่องสะท้อนถึงความล้มเหลวของระบบฟุตบอลของประเทศ ที่ไม่สามารถสร้างโค้ชที่เก่งกาจให้เป็นตัวเลือกได้มากพอ

 

หรือแม้แต่การที่นาเกิลส์มันน์ต้องออกมาขอ ‘กำลังใจ’ จากแฟนๆ แปลว่าแฟนๆ เองก็ไม่เคยมั่นใจในทีมของพวกเขาเลยเช่นกัน

 

ทุกสิ่งทุกอย่างที่ผ่านมาทำให้บรรยากาศก่อนยูโร 2024 ไม่ได้คึกคักอะไรมากมายนัก

 

แฟนๆ ไม่อยากคาดหวัง เพราะไม่อยากผิดหวัง

 

เยอรมนี

 

อย่างไรก็ดี เพราะนี่คือทีมเยอรมนี ทุกอย่างยังเปลี่ยนแปลงได้เสมอ ทีมของนาเกิลส์มันน์ยังมีโอกาสที่จะจุดกระแสและเรียกศรัทธาจากแฟนๆ กลับคืนมา

 

เยอรมนีใต้การนำของนาเกิลส์มันน์​อาจจะเริ่มต้นได้ไม่ดีนัก แต่ผลงานในช่วงหลังเริ่มมองเห็นประกายอะไรบางอย่าง

 

ประกายนั้นปฏิเสธไม่ได้ว่ามาจาก โทนี โครส ที่กลับมารับใช้ทีมชาติอีกครั้งในเดือนมีนาคม และใช้เวลาแค่ 7 วินาทีในการผ่านบอลให้เพื่อนทำประตูได้

 

ใน 4 นัดหลังสุดพวกเขาชนะรวด รวมถึงการบุกไปเอาชนะฝรั่งเศสได้ถึงถิ่น 2-0

 

เกมคืนนี้กับสกอตแลนด์คือโอกาสดีสำหรับพวกเขาที่จะแสดงให้คนในชาติได้เห็นว่า Turniermannschaft ยังไม่ตาย

 

แต่ถ้าทำไม่ได้ ก็ไม่ต่างอะไรจากรถไฟเยอรมนี

 

มา…ในเวลาที่สายเกินไป

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

X
Close Advertising