สภาทองคำโลก หรือ World Gold Council เปิดเผยรายงานสถานการณ์ทองคำโลกล่าสุด พบว่า นอกจากปริมาณความต้องการทองคำทั่วโลกจะเพิ่มสูงขึ้นแล้ว การที่ประเทศในกลุ่มตลาดเกิดใหม่ (Emerging Markets) ในภูมิภาคเอเชียมีความต้องการทองคำที่พุ่งสูงขึ้นอย่างมาก กำลังดันให้สิงคโปร์มีแนวโน้มที่จะกลายเป็น Hub หรือศูนย์กลางตลาดทองคำโลกแห่งใหม่ ท่ามกลางแนวโน้มความต้องการทองคำที่เคลื่อนตัวมายังซีกโลกตะวันออกมากขึ้น
Shaokai Fan หัวหน้าภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (ไม่รวมจีน) และหัวหน้าฝ่ายธนาคารกลางระดับโลกของสภาทองคำโลก ระบุว่า นอกจากความต้องการทองคำในกลุ่มเศรษฐกิจเกิดใหม่ในเอเชียที่เพิ่มขึ้นแล้ว อีกปัจจัยที่ทำให้สิงคโปร์กลายเป็นศูนย์กลางซื้อขายทองคำยังมาจากความใกล้ชิดของสิงคโปร์กับธนาคารกลางประเทศต่างๆ ซึ่งขณะนี้ธนาคารกลางเหล่านี้ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่มีการเร่งซื้อทองคำ เนื่องจากต้องการเพิ่มปริมาณสำรองทองคำ
Fan กล่าวในระหว่างการประชุม Asia Pacific Precious Metals Conference ซึ่งจัดขึ้นที่สิงคโปร์ว่า ศูนย์กลางของตลาดทองคำได้เคลื่อนตัวไปทางตะวันออก โดยที่สิงคโปร์ได้รับตำแหน่งโดยบังเอิญให้เป็นจุดศูนย์กลางที่มีศักยภาพของความสมดุลใหม่นี้
ปัจจุบันจีนยังคงเป็นผู้บริโภคทองคำรายใหญ่ที่สุดของโลก และธนาคารกลางของจีนยังเป็นผู้ซื้อทองคำรายใหญ่ที่สุด ขณะที่ญี่ปุ่นยังคงมีความต้องการทองคำออกมาอย่างต่อเนื่อง โดยช่วงไตรมาสแรกของปี 2024 ความต้องการเครื่องประดับทองของญี่ปุ่นเติบโตอย่างแข็งแกร่งที่สุดนับตั้งแต่ปี 2019 สอดคล้องกับเกาหลีใต้มียอดซื้อทองคำรายไตรมาสเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วที่สุดในรอบกว่า 2 ปี
นอกจากนี้สิงคโปร์ยังอยู่ใกล้กับศูนย์จัดหาเหมืองแร่ทองคำประมาณ 25% ของโลก เช่น จีน ออสเตรเลีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ปาปัวนิวกินี และ สปป.ลาว
ความจำเป็นในการหาแหล่งสำรองทองคำอย่างเป็นทางการ กลายเป็นข้อกังวลที่เพิ่มขึ้นสำหรับนายธนาคารกลางทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งท่ามกลางบรรยากาศทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ผันผวน ซึ่ง Fan ประเมินว่า สิงคโปร์อาจกลายเป็น ‘ทางเลือกที่เป็นไปได้อย่างแท้จริง’ สำหรับลอนดอนและนิวยอร์ก ในฐานะศูนย์กลางการเก็บทองของธนาคารกลาง
Fan จากสภาทองคำโลกสรุปว่า สิงคโปร์มีความพร้อมที่จะเป็นผู้นำตลาดทองคำในอนาคต โดยมีปัจจัยเสริมอย่างความมุ่งมั่นของประเทศต่อเสถียรภาพทางการเมือง และการยกเลิกภาษีการขายทองคำเพื่อการลงทุน ทำให้สิงคโปร์มีแนวโน้มที่จะมีบทบาทสำคัญต่อตลาดทองคำ
ทั้งนี้ นับตั้งแต่เดือนตุลาคม 2012 รัฐบาลสิงคโปร์ได้ยกเว้นภาษีสินค้าและบริการ (Goods and Services Tax: GST) หรือที่เรียกว่าภาษีการขาย
อ้างอิง: