วานนี้ (9 มิถุนายน) ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) แสวง บุญมี เลขาธิการ กกต. แถลงข่าวภายหลังการจัดเลือกสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ระดับอำเภอ โดยระบุว่าขณะนี้การเลือก สว. ทยอยปิดการเลือกเวลาประมาณ 15.00 น. สถานการณ์ในการเลือก สว. ภาพรวมเป็นไปด้วยความเรียบร้อย เพราะได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่ายด้วยดี อย่างไรก็ตาม จะมีปัญหาอยู่บ้าง เช่น
- ผู้สมัครมารายงานตัวไม่ทันตามกำหนดเวลา 09.00 น. ซึ่งมีจำนวนหนึ่ง ไม่มากนัก
- กรณีที่ไม่อนุญาตให้นำอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และโทรศัพท์มือถือเข้าไปในพื้นที่เลือก สว. แต่กลับพบว่ามีการนำหูฟังชนิด Bluetooth ซึ่งสามารถเชื่อมต่อกับโทรศัพท์มือถือได้ จึงมีการร้องทุกข์กล่าวโทษ โดยพบ 1 กรณีในเขตพื้นที่จังหวัดนนทบุรี
- กรณีมีผู้เจ็บป่วยกะทันหันที่อำเภอพรหมบุรี จังหวัดสิงห์บุรี ระหว่างการลงคะแนนรอบที่ 2 ทำให้ต้องออกมานั่งพักนอกพื้นที่เลือก ซึ่งเมื่อแจ้งว่ากรณีออกจากพื้นที่ก็จะเสียสิทธิในการรับเลือกและลงคะแนน ผู้สมัครรายดังกล่าวก็เข้าใจ
- ในพื้นที่ กทม. รับแจ้งว่าไม่มีพื้นที่สังเกตการณ์ หรือไม่มีกล้องวงจรปิดหน้าสถานที่เลือก อย่างไรก็ตาม เนื่องจากบางพื้นที่สถานที่ต่างกันจึงจัดให้สังเกตการณ์ในอีกห้องหนึ่ง และถ่ายทอดภาพผ่านกล้องวงจรปิด ซึ่งทุกพื้นที่มีการติดตั้งกล้องวงจรปิดให้อยู่แล้ว ขึ้นอยู่กับแต่ละพื้นที่ว่าสามารถทำได้ในลักษณะใด
ทั้งนี้ เมื่อสถานที่เลือกแห่งใดดำเนินการเลือก สว. เสร็จสิ้นแล้ว ผู้อำนวยการเลือกระดับอำเภอจะประกาศผลการนับคะแนนหน้าสถานที่เลือก โดยผู้ที่ได้รับคะแนนสูงสุด 3 อันดับแรกของกลุ่มจะเป็นผู้ได้รับเลือกระดับอำเภอของกลุ่มนั้น เพื่อเข้าไปรับการเลือกในระดับจังหวัดต่อไป
โดยในวันนี้ (10 มิถุนายน) ผู้อำนวยการเลือกระดับอำเภอจะส่งบัญชีรายชื่อผู้ได้รับเลือกให้กับผู้อำนวยการเลือกระดับจังหวัด และปิดประกาศ ณ ที่ว่าการอำเภอ ก่อนเผยแพร่ในเว็บไซต์ของสำนักงาน กกต. ตลอดจนแอปพลิเคชัน Smart Vote และภายใน 3 วัน ผู้อำนวยการเลือกระดับจังหวัดจะจัดทำเอกสารแนะนำข้อมูลผู้สมัครส่งให้แต่ละกลุ่มเพื่อพิจารณาเลือก ซึ่งเป็นลักษณะเดียวกับการเลือกระดับอำเภอ ส่วนกรณีผู้สมัครเห็นว่าการดำเนินการเลือกไม่ชอบด้วยกฎหมาย ก็ให้ร้องคัดค้านที่ศาลฎีกาภายใน 3 วัน
แสวงกล่าวขอบคุณผู้สมัคร สว. กว่า 40,000 คน ที่ให้ความร่วมมือในการเลือกครั้งนี้ ทั้ง 928 หน่วยเลือกด้วยดี และขอขอบคุณคณะกรรมการระดับอำเภอ และผู้อำนวยการเลือกระดับอำเภอ คณะกรรมการประจำสถานที่เลือก เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย และเจ้าหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อย ทั้งสิ้น 67,744 คน ผู้ช่วยเหลือการปฏิบัติงานของผู้อำนวยการเลือกระดับอำเภอ 18,560 คน ซึ่งรวมผู้ปฏิบัติงานในการเลือกระดับอำเภอ รวมทั้งสิ้น 92,773 คน ที่ร่วมกันจัดการเลือก สว. ให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย
สื่อมวลชนถามถึงผลนับคะแนนพื้นที่ปทุมวัน มีลักษณะเหมือนเป็นกลุ่มก้อนเดียวกัน และไม่ได้ใส่คะแนนให้ตัวเอง เข้าข่ายเป็นการฮั้วหรือไม่ จะตรวจสอบอย่างไร แสวงกล่าวว่า เป็นสมมติฐานหนึ่ง ซึ่งข้อสังเกตนำไปใช้ประโยชน์ว่ามีการฮั้วหรือดำเนินการไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ แต่อยู่ที่ข้อเท็จจริง เหมือนคนสมัครร่วมกันมาใส่เสื้อชุดเดียวกัน ตอนนี้ยังไม่ผิด แต่เป็นข้อสมมติฐานในการหาข้อเท็จจริงได้
“ทุกอย่างเป็นข้อสันนิษฐาน เป็นเรื่องความเห็น ระบบกฎหมายในโลก ใช้ความเห็นลงโทษคนไม่ได้ ต้องอยู่ที่ข้อเท็จจริงนั้นเข้าองค์ประกอบความผิดตามกฎหมายหรือไม่ อย่างไรก็ตาม ตอนนี้มีคำร้องประมาณ 22 คำร้อง และสิ่งที่ปรากฏในสื่อด้วย การจะตรวจสอบได้เรื่องหนึ่งคือศักยภาพในการตรวจสอบ และมีข้อเท็จจริงอย่างที่ว่าหรือไม่ การทำงานของสำนักงานเป็นเรื่องของการสืบสวนสอบสวนไม่ใช่เรื่องของการประชาสัมพันธ์ ในเรื่องลักษณะนี้มีคนได้คนเสีย มีผลกระทบ เราต้องรอบคอบ คงไม่สามารถนำสำนวนมาพูดหรือเปิดเผยได้” แสวงระบุ
ส่วนกรณีที่จังหวัดนครศรีธรรมราชมีผู้เข้าไปสมัครแล้วยอมรับว่าได้รับการว่าจ้างมาจริง แสวงกล่าวว่า ไม่แน่ใจว่าเรื่องนี้ดำเนินการถึงไหนแล้ว เพราะมีคณะกรรมการสืบสวนระดับจังหวัด ต้องรวบรวมข้อมูลว่าใครเป็นผู้ว่าจ้างเขา ไม่ใช่ว่าตัวเขารับสารภาพแล้วเขาผิดคนเดียว ดังนั้นต้องสืบให้ได้ก่อนว่าใครเป็นคนจ้าง
แสวงกล่าวถึงรางวัลนำจับสำหรับผู้แจ้งเบาะแสทุจริตเรื่องเลือก สว. ว่า ใช้คำว่าไม่เกิน 1 ล้านบาท จะได้เงินต่อเมื่อคดีไปถึงศาล และศาลตัดสินว่ากระทำผิด ตอนนี้ยังไม่มีใครได้รับเงิน และยังไม่มีใครแจ้ง มีแต่มีคำร้อง โดยถ้าคำร้องมีหลักฐานและเป็นสาระสำคัญในการลงโทษ จึงจะได้ค่าเงินรางวัล โดยเงินรางวัลอยู่ในกฎหมาย ไม่ใช่ กกต. ตั้งเอง ซึ่งใช้มาตั้งแต่เลือกตั้งท้องถิ่นและเลือกตั้ง สส.
สำหรับการประเมินความตื่นตัวของประชาชนในการเข้าสังเกตการณ์การเลือก สว. แสวงมองว่าคนที่น่าจะตื่นตัวที่สุดคือกลุ่มที่เคลื่อนไหวเพื่อให้การเมืองเราดี เช่น iLaw เป็นต้น แต่ประชาชนทั่วไปอาจจะสนใจน้อย เพราะไม่มีสิทธิเลือกแต่ต้น ซึ่งส่วนตัวประเมินไม่ถูกว่าตื่นตัวแค่ไหน อย่างไร เพราะกฎหมายออกแบบมาแบบนี้ ก็ต้องตอบว่าเราอยากให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม จึงทำให้ประชาชนไม่สนใจเท่าที่ควร พร้อมมองว่าผู้ร่างกฎหมายคงมีเจตนาดี แต่ต้องทบทวนในภาพใหญ่มากกว่ามาดูการปฏิบัติหรือทางเทคนิคที่เราทำอยู่แล้ว