วันนี้ (5 มิถุนายน) เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงความคืบหน้าการทำคำชี้แจงต่อศาลรัฐธรรมนูญ หลัง 40 สว. ยื่นร้องกรณีแต่งตั้ง พิชิต ชื่นบาน เป็นรัฐมนตรีว่า ตนยังไม่ได้ประชุมร่วมกับ วิษณุ เครืองาม ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช เลขาธิการนายกรัฐมนตรี และ ณัฐฏ์จารี อนันตศิลป์ เลขาธิการคณะรัฐมนตรี เพื่อจัดทำคำชี้แจงต่อศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งใกล้เวลาครบ 15 วันที่ให้ส่งคำชี้แจงแต่อย่างใด ขณะนี้อยู่ระหว่างการปรับแก้คำชี้แจง ซึ่งต้องให้เวลาวิษณุดูในรายละเอียด โดยจะครบกำหนดที่จะต้องส่งคำชี้แจงในวันจันทร์ที่ 10 มิถุนายน 2567 ยอมรับว่าเวลานี้ตนกังวลทุกเรื่อง
ส่วนกรณีที่ แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรค เพื่อไทย ได้กล่าวในที่ประชุมพรรค โดยให้ สส. สนับสนุนนายกรัฐมนตรี ซึ่งอาจมีบางส่วนไม่พอใจการแต่งตั้งวิษณุเป็นที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี เศรษฐากล่าวว่า เป็นธรรมดาที่จะพอใจบ้างไม่พอใจบ้าง แต่เชื่อว่าคำอธิบายชัดเจน ยืนยันว่าตนไม่ได้หลีกเลี่ยงจะไม่เข้าพรรค ซึ่งหากว่างจะเข้าตลอด และขณะนี้อยู่ระหว่างการปิดสมัยประชุมสภา ยังไม่มีเรื่องอะไร แต่หากสภาเปิดแล้วก็คงจะเข้าไปอยู่ที่สภาทุกวันพฤหัสบดีเหมือนเดิม และหากว่างก็จะเข้าไปประชุมพรรคในวันอังคารเพื่อจะได้มีเวลาพบปะกับ สส.
ส่วนการเข้าไปชี้แจงด้วยตนเองจะทำให้ สส. สบายใจมากกว่าให้คนอื่นพูดหรือไม่ เศรษฐากล่าวว่า เป็นอีกแนวคิดหนึ่ง หากว่างหรือมีเวลาก็จะเข้าไป หากมีคำถามก็จะชี้แจงต่อไปเรื่อยๆ เหมือนกับคำถามที่ถามแล้วถามอีก ซึ่งเป็นหน้าที่ที่ต้องชี้แจง ไม่ได้คิดอะไรมาก เข้าใจว่าหากมีการถามซ้ำแสดงว่ามีความกังวลอยู่
พร้อมชี้แจง สส. เพื่อไทย
เมื่อถามย้ำว่าจะยิ่งเป็นช่องว่างระหว่างนายกรัฐมนตรีกับ สส. ในพรรคมากขึ้นหรือไม่ เศรษฐากล่าวว่าไม่ เนื่องจากตนลงพื้นที่เยอะ ส่วนไหนที่พูดรู้เรื่องกันแล้วมันก็รู้เรื่อง แต่ก็เป็นเรื่องของการอยู่ร่วมกัน ก็ไม่ได้สบายใจในทุกเรื่องเสมอไป แต่เรื่องที่สบายใจอาจจะ 80 เรื่องที่ไม่สบายใจอาจจะ 20 เราก็ต้องทำให้เรื่องไม่สบายใจลดลงไปเรื่อยๆ ซึ่งถือเป็นหน้าที่ที่ต้องพยายามทำต่อไปเพื่อให้ความกระจ่างกับคนที่ทำงานด้วยกัน
ส่วนการพูดคุยกับ สส. เป็นกลุ่มภาคนั้นทำอยู่แล้ว โดยนำนโยบายต่างๆ ไปพูดคุยกับ สส. ไม่ว่าจะอยู่ในพรรคใด มานั่งฟังความคิดเห็นเพื่อปรับนโยบายให้ตรงกับความต้องการของประชาชน เพราะ สส. คือตัวแทนของประชาชน
เศรษฐากล่าวด้วยว่ามีแผนลงพื้นที่ในบางจังหวัดที่มีปัญหาน้ำท่วม เช่น อุบลราชธานี ซึ่งคณะทำงานกำลังพิจารณาว่าจะลงพื้นที่เมื่อไร และตนต้องลงไปดูเอง ยอมรับว่าเป็นห่วงทุกเรื่อง กังวลทุกเรื่อง แต่เราไม่ได้กังวลเฉยๆ ต้องมีการวางแผนงานและพูดคุยกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แต่เหนือสิ่งอื่นใด จากนี้ไปถึงต้นเดือนสิงหาคมตนไม่ได้เดินทางไปไหน ก็จะดูเรื่องโครงการ 72 พรรษา เรื่องน้ำท่วม เรื่องเศรษฐกิจ
เรียก ‘คลัง’ ถกมาตรการจัดเก็บภาษี
เศรษฐากล่าวถึงกรณีกระทรวงการคลังเตรียมเข้าพบว่า ยังไม่มีรายงานเรื่องโครงการดิจิทัล เพราะวันนี้จะมีการประชุมเรื่องการจัดเก็บรายได้ของทั้ง 3 กรม คือ กรมสรรพากร กรมสรรพสามิต และกรมศุลกากร ว่าตรงไหนที่สามารถทำได้อีก หรือตรงส่วนไหนที่เราสามารถเร่งทำให้รายได้ของประเทศเพิ่มขึ้นก็จะทำ
ส่วนแนวโน้มเศรษฐกิจในภาพรวมรายได้ของเราจะเพียงพอหรือไม่ จำเป็นต้องมีการกู้ใช่หรือไม่ เศรษฐากล่าวว่า ขณะนี้ทุกอย่างยังเป็นไปตามแผนงานอยู่ แต่ว่าตอนนี้ครึ่งปีแล้ว ก็ต้องมานั่งดูว่าตรงไหนที่จะต้องมีการลดหรือเพิ่ม โดยจะต้องดูเรื่องการบริหารจัดการรายจ่ายให้ดี เช่น มาตรการสนับสนุนทางด้านภาษีที่ให้นักลงทุนต่างประเทศ เพราะเรื่องรายได้เป็นเรื่องสำคัญ
เมื่อถามว่าวานนี้ (4 มิถุนายน) เผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า อีก 1-2 สัปดาห์จะมีการเสนอมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเข้ามาอีก เศรษฐากล่าวว่า กำลังดูอยู่ ซึ่งเป็นเรื่องสืบเนื่องมาจากมีการประชุมคณะทำงานที่เกี่ยวกับเรื่องเศรษฐกิจ ก็จะดูว่าเศรษฐกิจมีปัญหาอะไร และเราจะขับเคลื่อนเศรษฐกิจอย่างไร ซึ่งกระทรวงการคลังและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำลังทำอยู่
ไตรมาส 4 เศรษฐกิจดีขึ้นแน่นอน
ขณะที่ไตรมาส 4 เศรษฐากล่าวว่า เศรษฐกิจดีขึ้นแน่นอน ดีขึ้นมาก แต่ตอนนี้ตนกำลังดูไตรมาส 3 อยู่ว่าทำอย่างไรที่จะให้ดีขึ้นกว่าเดิมอีกหน่อย เพราะตอนนี้เงินงบประมาณก็เริ่มจ่ายออกไปได้บ้างแล้ว และคงมีการพูดคุยถึงเรื่องปัญหาว่ามีหรือไม่หากจะมีการผันเงินงบประมาณออกไปให้ได้เร็วที่สุด