หากคลี่ผลประกอบการของ บมจ.ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น หรือ WHA Group ที่ทำ All Time High 2 ปีซ้อน (ปี 2565 และ 2566) จาก 4 กลุ่มธุรกิจของบริษัท ได้แก่ ธุรกิจนิคมอุตสาหกรรม ธุรกิจโลจิสติกส์ ธุรกิจสาธารณูปโภคและพลังงาน และธุรกิจบริการดิจิทัล จะพบว่าธุรกิจสาธารณูปโภคและพลังงานภายใต้การดำเนินงานของ บมจ.ดับบลิวเอชเอ ยูทิลิตี้ส์ แอนด์ พาวเวอร์ หรือ WHAUP คือหนึ่งในแกนสำคัญที่ขับเคลื่อนเป้าหมายของ WHA Group ให้ประสบความสำเร็จ
ตัวเลขรายได้และส่วนแบ่งกำไรปี 2566 ที่ 4,228 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 52% และกำไรสุทธิซึ่งรวมผลกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยน จำนวน 1,631 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 259% เมื่อเทียบกับปีก่อน คือบทพิสูจน์ที่ชี้ชัดถึงศักยภาพและกลยุทธ์ที่มีประสิทธิภาพของ WHAUP
ภาพรวมความสำเร็จปี 2566
สมเกียรติ เมสันธสุวรรณ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ดับบลิวเอชเอ ยูทิลิตี้ส์ แอนด์ พาวเวอร์ เผยว่า “ปี 2566 ถือว่าเป็นปีที่ดีที่สุดปีหนึ่งของ WHAUP” พร้อมทั้งฉายภาพความสำเร็จของกลุ่มธุรกิจสาธารณูปโภค (น้ำ) ปีที่ผ่านมามีปริมาณยอดจำหน่ายและบริหารน้ำทั้งในประเทศและต่างประเทศรวมกัน 155 ล้านลูกบาศก์เมตร เพิ่มขึ้น 7% เมื่อเทียบกับปี 2565 ปัจจัยหลักในประเทศมาจากปริมาณยอดจำหน่ายน้ำดิบ (Raw Water) 32 ล้านลูกบาศก์เมตร และผลิตภัณฑ์น้ำมูลค่าเพิ่ม (Value Added Product) 6 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งเพิ่มขึ้นกว่าปีก่อน
“ธุรกิจน้ำเป็นเหมือน Cash Cow ที่แข็งแกร่ง เนื่องจากลูกค้าใช้น้ำสม่ำเสมอและผลจากการเติบโตของนิคมอุตสาหกรรม โดยปีที่ผ่านมา WHA มียอดขายที่ดินรวมสูงสุดเป็นประวัติการณ์ 2,767 ไร่ แบ่งเป็นประเทศไทย 1,986 ไร่ และเวียดนาม 781 ไร่ เมื่อขายที่ดินได้ก็มียอดขายการเซ็นสัญญาซื้อน้ำเพิ่มขึ้น นอกจากนั้นเรายังต่อยอดธุรกิจรีไซเคิลน้ำ นำน้ำเสียไปปรับปรุงคุณภาพให้เป็นผลิตภัณฑ์น้ำมูลค่าเพิ่ม (Reclaimed Water) (Value Added Product) ทั้งน้ำปราศจากแร่ธาตุ (Demineralized Water) และน้ำอุตสาหกรรมคุณภาพสูง (Premium Clarified Water) เพื่อเป็นทางเลือกให้แก่ผู้ใช้น้ำอุตสาหกรรมได้ใช้น้ำที่มีคุณภาพ”
สำหรับธุรกิจน้ำในเวียดนาม สมเกียรติเผยว่า ยอดจำหน่ายน้ำรวมตามสัดส่วนการถือหุ้นอยู่ที่ 34 ล้านลูกบาศก์เมตร เติบโตขึ้นจากปีที่ผ่านมาถึง 18% ปัจจัยหลักมาจากปริมาณยอดจำหน่ายน้ำของโครงการ Duong River ที่เพิ่มขึ้นตามการขยายพื้นที่การให้บริการ และปริมาณความต้องการใช้น้ำที่เพิ่มขึ้นจากทั้งกลุ่มลูกค้าเดิมและกลุ่มลูกค้าใหม่
“การลงทุนที่เวียดนามเป็นการลงทุนตามการขยายนิคมอุตสาหกรรมของ WHA Group ส่วนหนึ่ง และอีกส่วนเป็นการลงทุนกับโรงงานน้ำประปา 2 บริษัท คือ Duong River Surface Water Plant Joint Stock Company ที่ฮานอย และ Cua Lo Water Supply Joint Stock Company ที่เหงะอาน”
ด้านภาพรวมความสำเร็จของธุรกิจไฟฟ้าปี 2566 มีส่วนแบ่งกำไรปกติจากธุรกิจไฟฟ้า จำนวน 1,424 ล้านบาท เพิ่มขึ้นถึง 200% สมเกียรติย้ำว่า นอกจากกลุ่มโรงไฟฟ้า SPP และธุรกิจโรงไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ (IPP) ปีที่ผ่านมายังโฟกัสเรื่อง Renewable Energy เป็นหลัก ทั้งการซัพพอร์ตลูกค้านิคมอุตสาหกรรมที่ต้องการใช้พลังงานหมุนมากขึ้น รวมถึงลูกค้านอกนิคมอุตสาหกรรม
“เราทำระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แบบลอยน้ำ (Solar Floating) บนพื้นที่บ่อน้ำในนิคมอุตสาหกรรมให้กับลูกค้า อีกทั้งขยายโครงการ Solar Rooftop ทั้งในและนอกนิคมอุตสาหกรรมของ WHA อย่างต่อเนื่อง เราเพิ่งได้ลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้าโครงการ Private PPA เพิ่มจำนวน 42 สัญญา จำนวนรวม 50 เมกะวัตต์ ทำให้ตอนนี้มีจำนวนสัญญาโครงการ Private PPA สะสมทั้งสิ้น 183 เมกะวัตต์
“นอกจากนั้นยังได้รับการคัดเลือกจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ได้สิทธิ์เป็นผู้พัฒนาโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) เฟส 1 สำหรับโครงการระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน (Solar Farm) จำนวน 5 โครงการ โดยมีกำลังผลิตไฟฟ้าตามสัดส่วนการถือหุ้น 125 เมกะวัตต์”
เดือนมีนาคมที่ผ่านมา WHAUP เซ็นสัญญากับ สหฟาร์ม และโกลเด้น ไลน์ บิสซิเนส เพื่อผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ในรูปแบบ Solar Floating, Solar Farm และ Solar Rooftop รวม 14 โครงการ กำลังผลิตไฟฟ้ารวม 46.36 เมกะวัตต์ จะทำให้มีกำลังการผลิตไฟฟ้าสะสมเข้าใกล้เป้า 1,000 เมกะวัตต์จากโรงไฟฟ้าทุกประเภทมากขึ้น
เปิดกลยุทธ์ธุรกิจปี 2567
เมื่อถามถึงเป้าหมายและแผนการเติบโตในอนาคต สมเกียรติบอกว่า ธุรกิจสาธารณูปโภคน้ำต้องบูรณาการทั้งระบบตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ ธุรกิจผลิตภัณฑ์น้ำมูลค่าเพิ่ม และขยายการให้บริการน้ำทุกประเภทในโครงการนิคมอุตสาหกรรมใหม่ๆ ของ WHA และนอกนิคมอุตสาหกรรมของ WHA ทั้งในประเทศและต่างประเทศ
“หน้าที่หลักของเราคือบริหารจัดการน้ำ ตั้งแต่จัดหาและจำหน่ายน้ำดิบ ผลิตและจำหน่ายน้ำเพื่ออุตสาหกรรม ไปจนถึงบริหารจัดการน้ำเสีย อนาคตตั้งใจที่จะขยับขึ้นไปอยู่ต้นน้ำมากขึ้น เช่น หาแหล่งน้ำของเราเองบางส่วน เพื่อตอกย้ำความเชื่อมั่นให้กับลูกค้าว่าจะมีความหลากหลายของแหล่งน้ำและมีน้ำใช้เพียงพอ ส่วนของปลายน้ำเราไม่หยุดพัฒนาผลิตภัณฑ์น้ำมูลค่าเพิ่ม และขยายการให้บริการน้ำทุกประเภททั้งในนิคมอุตสาหกรรมและนอกนิคมอุตสาหกรรม รวมไปถึงการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ เช่น การพัฒนา Smart Water Platform ด้วยการนำ Artificial Intelligence (AI) เข้ามาประยุกต์ใช้”
สมเกียรติบอกว่า นั่นเป็นเพียงส่วนหนึ่งของแผน เพราะนอกเหนือจากเรื่องการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ สิ่งที่ WHAUP มองคือเรื่องการส่งต่อองค์ความรู้
“ในฐานะที่ WHAUP เป็นบริษัทที่มีการบริหารจัดการน้ำอันดับต้นๆ ของประเทศ เรามี Know-How และ Core Knowledge เรื่องของระบบน้ำที่จะนำไปพัฒนาต่อยอดได้ หรือการออกไปร่วมลงทุนในเวียดนาม ไม่ได้มองแค่เรื่องการขยายธุรกิจ แต่ไปเพื่อพัฒนา นำหลักคิดและแนวทางปฏิบัติไปใช้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการจัดการสิ่งแวดล้อม การบริหารจัดการน้ำเสีย เพื่อให้เห็นว่า WHAUP เป็นองค์กรที่มีศักยภาพ”
ในส่วนของธุรกิจไฟฟ้า สมเกียรติมองเห็นโอกาสมากมาย โดยเฉพาะ Renewable Energy “กลยุทธ์ด้านธุรกิจพลังงานไฟฟ้าคงเปิดโอกาสด้านการลงทุนไปยังต่างประเทศ โดยมองที่เอเชีย-แปซิฟิก ในลักษณะของการร่วมทุนเพื่อพัฒนาธุรกิจ การต่อยอด โดยมีหลากหลายปัจจัยในการพิจารณา นอกจากนี้แน่นอนว่า ‘เทคโนโลยีและนวัตกรรม’ จะเป็นเครื่องมือหนึ่งที่อยู่ในแผนอนาคตของธุรกิจพลังงานไฟฟ้าด้วยเช่นกัน
“ศูนย์ควบคุมส่วนกลาง (Unified Operation Center: UOC) เป็นตัวอย่างของการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับลูกค้า ตอนนี้เราสามารถดึงข้อมูลของทุกโรงไฟฟ้าที่เป็น Solar Rooftop กว่า 100 โครงการ มาดูได้ว่าที่ไหนมีประสิทธิภาพการทำงานอย่างไร เพื่อนำมาพัฒนาและปรับปรุง นอกจากนี้เรากำลังพัฒนาแพลตฟอร์มการซื้อขายพลังงานไฟฟ้าแบบ Peer-to-Peer Energy Trading ของผู้ใช้ในอุตสาหกรรม และการซื้อขายใบรับรองเครดิตการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน (I-REC)
“ธุรกิจ New S-Curve อื่นๆ ที่น่าสนใจแต่ก็ต้องดูจังหวะเวลาที่เหมาะสม อย่างเช่นระบบกักเก็บพลังงานด้วยแบตเตอรี่ (BESS), ไฮโดรเจน, การซื้อขายคาร์บอนและการใช้และกักเก็บคาร์บอน (CCUS) และ New S-Curve ที่เรากำลังมุ่งเน้นในตอนนี้ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของ WHA Group คือ Green Logistics ซึ่งในส่วนของ WHAUP เราก็มุ่งเน้นการพัฒนา Charging Station เพื่อรองรับนโยบายดังกล่าว ซึ่งธุรกิจนี้มีศักยภาพในการเจริญเติบโตมาก”
มุมมองของ WHAUP ต่อสภาวะแวดล้อมที่เปลี่ยนไป
“ตอนนี้เราอยู่ในจุดที่โลกเดือดไม่ใช่แค่โลกร้อน ทุกคนต้องตระหนักและตื่นตัว โดยเฉพาะคนทำธุรกิจต้องเข้าใจว่าโมเดลธุรกิจถ้าไม่ปรับตัวก็อาจจะแข่งขันไม่ได้ ความยั่งยืนไม่ได้มีต้นทุนที่เพิ่มขึ้นเสมอไปหากมีการบริหารจัดการที่ดี เช่น การบริหารจัดการน้ำ การใช้พลังงานทดแทน นั่นเป็นเหตุผลที่เราสนใจที่จะต่อยอดจากการบริหารจัดการน้ำเสียมาเป็น Premium Clarified Water รวมถึง Renewable Energy และจะนำเรื่องนี้มาเป็นกลยุทธ์หลักในการทำธุรกิจของเรา ซึ่งจะมีผลดีต่อธุรกิจในระยะยาวและตอบโจทย์เรื่องความยั่งยืน นอกจากแนวทางการทำธุรกิจแล้ว เรายังมีโครงการต่างๆ ที่สนับสนุนดูแลทั้งสิ่งแวดล้อมและสังคม ไม่ว่าจะเป็นโครงการ Clean Water for Planet ที่ใช้ระบบบำบัดน้ำเสียแบบบึงประดิษฐ์ ที่น้อมนำแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มาปรับใช้ ซึ่งเป็นระบบบำบัดน้ำเสียที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เหมาะกับการดำเนินงานในนิคมอุตสาหกรรม อาศัยกระบวนการทางธรรมชาติ โดยใช้พืชและแบคทีเรียที่มีความสามารถในการดูดซับของเสียที่ออกจากโรงงานและน้ำที่ผ่านกระบวนบำบัดแล้วนำกลับมาใช้ภายในโรงงานได้อีก”
สำหรับการดูแลสังคม WHAUP ร่วมส่งมอบองค์ความรู้ที่มีไปต่อยอดให้กับชุมชน ไม่ว่าจะเป็นความรู้เรื่องการจัดการน้ำ การบำบัดน้ำ การใช้พลังงานสะอาด และร่วมส่งมอบ Solar Rooftop ให้แก่โรงเรียนนิคมสร้างตนเองจังหวัดระยอง 9 ภายใต้โครงการ Shine Brighter with WHA เพื่อส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาด และลดภาระค่าใช้จ่ายด้านสาธารณูปโภคของโรงเรียน เพื่อให้สามารถจัดสรรงบประมาณกับการเรียนการสอนได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
วิธีสร้างคน เพื่อรับการเป็น ‘Technology Company’ แบบ WHAUP
นอกจากเป้ากำไรและแผนการลงทุนข้างต้น อีกหนึ่งภารกิจที่น่าสนใจคือการบรรลุเป้าหมายที่จะเป็น ‘Technology Company’ เต็มตัว สมเกียรติเล่าว่า 4 ปีก่อนหน้า คำว่า Digitization เป็นเรื่องแปลกใหม่และดูไม่เกี่ยวข้องกับธุรกิจนิคมอุตสาหกรรมเลย
“ต้องยอมรับว่าผู้นำของเรา (จรีพร จารุกรสกุล ประธานคณะกรรมการบริหาร และประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม WHA Group) ท่านมีวิสัยทัศน์อย่างมาก เพราะ WHA Group ทำเรื่อง Digitization มา 3-4 ปีแล้ว นอกจากวิชั่นของผู้นำที่ชัดเจนแล้ว สิ่งที่จะขับเคลื่อนวิชั่นได้คือ ‘บุคลากร’ ที่สำคัญคือเราทำกันเอง คิดกันเอง ทำให้พนักงานทุกคนเข้าใจและรู้สึกมีส่วนร่วมกับการเปลี่ยนแปลงในทุกช่วงเวลา มันจึงไม่ใช่แค่เปลี่ยนระบบหรือนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ แต่มันเปลี่ยน Mindset คนในองค์กร
“นวัตกรรมหรือธุรกิจใหม่ๆ มันเกิดจากความต้องการของตลาดที่เกิดใหม่ ทำให้เราต้องหาโซลูชันใหม่เสมอ ซึ่งโซลูชันมันก็คือนวัตกรรม สิ่งที่ทำให้ WHAUP เข้าใกล้การเป็น Technology Company เต็มตัว ก็เพราะพนักงานทุกคนมี Mindset ที่ไม่หยุดมองหานวัตกรรมใหม่ๆ มีคอมฟอร์ตโซนที่กว้างขึ้น และปรับตัวเร็ว ทุกอย่างต้องเร็วให้ทันยุค ‘ปลาเร็วกินปลาช้า’”
สมเกียรติยังบอกด้วยว่าหนึ่งในเป้าของการเป็น Technology Company ก็เพื่อ ‘ทำให้ลูกค้ามีความสุข’
“ปลายทางคือการพัฒนาผลิตภัณฑ์และมอบบริการที่สร้างความพึงพอใจให้ลูกค้า นี่คือวัตถุประสงค์ของการเริ่มต้นทั้งหมด อย่างการนำเรื่อง Digital Transformation เข้ามาใช้ภายในองค์กร ก็เพื่อให้การทำงานรวดเร็วขึ้น สามารถตอบโจทย์ลูกค้าได้เร็วขึ้นและดียิ่งขึ้น”
วันนี้ WHAUP พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าตลอดระยะเวลา 6 ปีของการดำเนินธุรกิจบริการด้านสาธารณูปโภคน้ำและพลังงาน สร้างความสุขและความพึงพอใจให้กับลูกค้าได้จริง การันตีด้วย 2 รางวัลใหญ่ ได้แก่ Best Innovative Company Awards ด้านนวัตกรรม: Peer-to-Peer Energy Trading: Future of Energy Market จากเวที SET Awards 2022 และรางวัล Commended Sustainability Awards จากเวที SET Awards 2023
“รางวัล Best Innovative Company Awards เป็นรางวัลอันทรงเกียรติที่สะท้อน DNA ของ WHAUP ถึงความมุ่งมั่นสร้างสรรค์ผลงานที่มีคุณภาพ สร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับสังคม ในขณะที่รางวัล Commended Sustainability Awards มันตอกย้ำตัวตนของเรา เป็นภาพสะท้อนแนวทางการทำงานที่จัดเจนขององค์กรว่าเราเป็นองค์กรที่ยั่งยืนอย่างแท้จริง เพราะนี่คือการทำงานจริง ทุกอย่างเกิดขึ้นจากทุกคนในองค์กรที่มีเป้าหมายเดียวกัน ถ้าให้เปรียบก็เหมือนการวิ่งมาราธอนที่ค่อยๆ สะสมความสำเร็จทุกระยะ ผมว่านี่แหละความยั่งยืนที่ถูกต้อง สุดท้ายแล้วเมื่อเราทำองค์กรให้ยั่งยืนได้ ก็ไม่ใช่เรื่องยากที่จะส่งมอบความยั่งยืนเช่นนี้ไปสู่ลูกค้า พันธมิตร พาร์ตเนอร์ รวมถึงโลกของเรา ซึ่งสอดคล้องกับพันธกิจของบริษัท WHA : WE SHAPE THE FUTURE” สมเกียรติกล่าวทิ้งท้าย