×

รัฐบาลยกเลิกนัดพรรคการเมืองคุยกำหนดวันเลือกตั้ง จับตาศาลรัฐธรรมนูญชี้ขาด พ.ร.ป. เลือกตั้ง ส.ส.

30.05.2018
  • LOADING...

ความคืบหน้าการนัดพรรคการเมืองมาพูดคุยเพื่อกำหนดวันเลือกตั้งในเดือนมิถุนายน ล่าสุดเป็นที่แน่นอนแล้วว่ารัฐบาล คสช. ได้ยกเลิกกำหนดการประชุมดังกล่าวไปแล้ว โดยอ้างว่าพรรคการเมืองเงื่อนไขเยอะ และกฎหมายลูกยังไม่แล้วเสร็จตามคาด

 

วันนี้ (30 พ.ค.) นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการนัดพรรคการเมืองมาพูดคุยเพื่อกำหนดวันเลือกตั้งในเดือนมิถุนายนนี้ว่า ตามที่ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้ให้สัมภาษณ์หลังการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 28 พฤษภาคมที่ผ่านมาว่า ต้องให้ร่าง พ.ร.ป. เลือกตั้ง ส.ส. และ ส.ว. ประกาศใช้ก่อน

 

ดังนั้น การพูดคุยจึงไม่น่าจะเป็นในเดือนมิถุนายนอย่างที่เคยระบุไว้ ส่วนจะเป็นหลังเดือนมิถุนายนหรือไม่ยังไม่ทราบ เพราะยังไม่รู้จะพบกันเรื่องอะไร และเดือนมิถุนายนกฎหมายลูกก็เพิ่งจะทูลเกล้าฯ ไป

 

นอกจากนี้บางพรรคการเมืองยังตั้งเงื่อนไขหรือมีข้อแม้ เช่น ขอถ่ายทอดสด หรือต้องมาทุกพรรคจึงจะร่วมคุย ดังนั้น เมื่อไม่มีฝ่ายใดต้องการมา จึงไม่จำเป็นต้องพูดคุยกัน เพราะความตั้งใจของ พล.อ. ประยุทธ์ ไม่ใช่ให้มาพูดคุยในเรื่องการปลดล็อกพรรคการเมือง แต่บางพรรคกลับตั้งข้อแม้ว่า ถ้าไม่คุยเรื่องปลดล็อก ก็จะไม่ร่วมคุย

 

สำหรับการประชุมร่วมกับพรรคการเมืองเพื่อกำหนดวันเลือกตั้งนั้น คือหนึ่งในเงื่อนไขสำคัญของโรดแมปการเลือกตั้ง เนื่องจากตามข้อที่ 8 ของคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 53/2560 กำหนดให้เมื่อ พ.ร.ป. ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ให้ ครม. แจ้งต่อ คสช. เพื่อยกเลิกคำสั่งที่ออกตามอำนาจของ คสช. ที่เป็นอุปสรรคต่อการดำเนินงานของพรรคการเมือง รวมถึงเรียกคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ประธาน สนช. หารือเพื่อกำหนดแผนและขั้นตอนทางการเมืองเพื่อนำไปสู่การเลือกตั้ง ซึ่งจะเปิดทางให้พรรคการเมืองมาหารือด้วยก็ได้

 

ดังนั้นหากพิจารณาจากเงื่อนไขดังกล่าว สิ่งแรกที่จะต้องจับตาคือ 1. ร่าง พ.ร.ป. ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยวันนี้ (30 พ.ค.) ว่าขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ ซึ่งมี 3 แนวทางคือ

  1. ไม่มีส่วนใดขัดต่อรัฐธรรมนูญ
  2. มีบางส่วนขัดต่อรัฐธรรมนูญ แต่ไม่กระทบทั้งฉบับ ซึ่งสามารถดึงออกมาแล้วเสนอรัฐสภาให้รับทราบเท่านั้น
  3. กระทบทั้งฉบับ โดยต้องร่างกฎหมายใหม่ทั้งฉบับ

 

จากนั้นสิ่งที่ต้องจับตาต่อไปคือ หลังกฎหมายลูกประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษาแล้ว คสช. จะใช้เวลานานแค่ไหนในการพิจารณายกเลิกคำสั่ง คสช. ที่เป็นอุปสรรคต่อการดำเนินงานของพรรคการเมือง รวมถึงการเรียกประชุมเพื่อกำหนดวันเลือกตั้ง หลังจากล่าสุดก็เลื่อนจากเดือนมิถุนายนนี้ออกไปอย่างไม่มีกำหนด ทั้งที่ก่อนหน้านี้บุคคลสำคัญในรัฐบาลต่างประกาศกำหนดวันประชุมอย่างชัดเจน

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X