×

เปิดที่มารูปแบบฟอนต์และธีมสีดีไซน์ใหม่ของ กทม. ที่ใช้บนป้ายแลนด์มาร์ก ‘กรุงเทพฯ – Bangkok’ สกายวอล์กสี่แยกปทุมวัน

โดย THE STANDARD TEAM
29.05.2024
  • LOADING...
ป้าย กรุงเทพฯ Bangkok

วันนี้ (29 พฤษภาคม) หลังจากที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) ได้ดำเนินการทำความสะอาด พร้อมติดสติกเกอร์ใหม่เป็นคำว่า ‘กรุงเทพฯ – Bangkok’ แทนที่ Bangkok – City of Life ที่บริเวณคานรางรถไฟฟ้าแยกปทุมวัน จุดแลนด์มาร์กถ่ายภาพยอดนิยมของนักท่องเที่ยว โดยดำเนินการติดตั้งในช่วงเวลากลางคืนตั้งแต่ช่วงเที่ยงคืนที่ผ่านมา ซึ่งติดเสร็จแล้ว 1 ฝั่ง ส่วนฝั่งศูนย์การค้า MBK Center จะติดในค่ำคืนนี้

 

สติกเกอร์ใหม่ที่นำมาติด กทม. ระบุว่า ข้อความและดีไซน์ได้สะท้อนอัตลักษณ์ของกรุงเทพมหานคร โดยกราฟิกอัตลักษณ์ดังกล่าวมีที่มาจากตราสัญลักษณ์ของกรุงเทพมหานคร โดยนำ ‘วัชระ’ อาวุธประจำกายของพระอินทร์ที่ใช้ปกป้องคุ้มครองกรุงเทพมหานคร มาครอบตัดภาพให้เป็นลวดลายที่มีความเป็นนามธรรม 

 

โทนสีของกราฟิกชุดนี้จะใช้ระบบสีรอง ซึ่งสะท้อนถึงความสุขของผู้คน และการผสมผสานระหว่างสิ่งใหม่กับวัฒนธรรมเก่าแก่ของกรุงเทพมหานคร ส่วนระบบสีหลักจะเป็นสีเขียวมรกต ซึ่งเป็นสีที่ถูกนำมาใช้งานมากที่สุดในงานกราฟิกส่วนใหญ่ของกรุงเทพมหานคร

 

ทั้งนี้ ผู้ออกแบบดีไซน์อัตลักษณ์องค์กร Corporate Identity (CI) หรือ Brand Identity คือ บริษัท Farmgroup Font Engineer โดย Katatrad Motion Graphic by Worameth S.

 

โดยเพจเฟซบุ๊ก Farmgroup ได้โพสต์ข้อความพร้อมภาพอธิบายแนวคิดการออกแบบดังกล่าว มีใจความดังนี้

 

“เราทำงานร่วมกับกรุงเทพมหานคร (BMA) เพื่อปรับปรุงรูปแบบอัตลักษณ์ของเมืองกรุงเทพฯ การปรับเปลี่ยนอยู่ภายใต้ข้อกำหนดในการรักษาตราสัญลักษณ์ดั้งเดิมไว้ ในขณะเดียวกันการเปลี่ยนแปลงใหม่ต้องทำให้น่าสนใจด้วย 

 

“ทีมงานของเราเริ่มต้นด้วยการค้นคว้าประวัติความเป็นมาของตราสัญลักษณ์ดั้งเดิม ซึ่งวาดด้วยมือโดยสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ‘ช่างฝีมือผู้ยิ่งใหญ่แห่งสยาม’ เมื่อปี 2466 

 

“เราได้ปรับปรุงตราสัญลักษณ์ เครื่องหมาย และแบบอักษร (ฟอนต์) ใหม่ ที่ได้รับแรงบันดาลใจจากต้นฉบับ หลังจากที่ทีมงานปรับปรุงสัญลักษณ์ประจำเมืองอย่างเป็นทางการแล้ว ยังได้สร้างชุดสีใหม่ที่มีความสดใส

 

“โดยองค์ประกอบที่บูรณาการเหล่านี้จะรวบรวมเอกลักษณ์ของกรุงเทพฯ ผสมผสานรากฐานทางประวัติศาสตร์เข้ากับกลิ่นอายร่วมสมัย เพื่อใช้ในงานต่างๆ ของกรุงเทพมหานครในอนาคต”

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

X
Close Advertising