×

เงื่อนไขกองทุน LTF ที่จูงใจนักลงทุนและเป็นประโยชน์อย่างแท้จริงต้องมีอะไรบ้าง

29.05.2024
  • LOADING...
LTF

ธนาคารไทยพาณิชย์มองการฟื้นกองทุน LTF ควรแยกวงเงินสิทธิลดหย่อนภาษีออกจากสิทธิอื่น เพื่อจูงใจนักลงทุน-กำหนดให้ลงทุนหุ้นไทย 100% หวังช่วยเพิ่มสภาพคล่อง รวมถึงเพิ่มวอลุ่มการซื้อขาย

 

ศรชัย สุเนต์ตา, CFA รองผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงาน Investment Office and Product กลุ่มธุรกิจ Wealth ธนาคารไทยพาณิชย์ ให้สัมภาษณ์ผ่านรายการ Morning Wealth ว่า กรณีที่ พิชัย ชุณหวชิร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง มีแนวคิดในการฟื้นกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (Long-Term Equity Fund: LTF) กลับมาใช้ แม้ LTF จะสามารถนำมาใช้ลดหย่อนภาษีได้

 

อย่างไรก็ดียังต้องติดตามว่าเงื่อนไขของกองทุน LTF ที่ออกมาจะเป็นอย่างไร ซึ่งมองว่าหากเป็นประโยชน์อย่างแท้จริง เงื่อนไขของ LTF ที่จะนำกลับมาใช้เป็นแบบเดิมคือ มีการแยกวงเงินการใช้สิทธิประโยชน์จากการลดหย่อนประเภทอื่นๆ, กองทุนรวมเพื่อการออม (Super Savings Fund: SSF) และกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (Provident Fund) เพราะหากนำสิทธิการลดหย่อนภาษีของกองทุน LTF มารวมกับสิทธิประโยชน์อื่นๆ แล้ว ก็จะได้สูงสุดไม่เกิน 5 แสนบาทเช่นเดียวกับปัจจุบัน ก็จะไม่สร้างแรงจูงใจ

 

ทั้งนี้หากมีการแยกวงเงินสิทธิลดหย่อนภาษีเฉพาะกองทุน LTF เป็นเงื่อนไขเดิมเช่นในอดีตไม่เกิน 5 แสนบาท ก็ถือว่าเป็นผลดีในเชิงบวกในการช่วยเพิ่มสภาพคล่อง รวมถึงเพิ่มวอลุ่มการซื้อขาย อีกทั้งจะช่วยให้เม็ดเงินลงทุนไหลเพิ่มเข้าสู่ตลาดหุ้นไทยด้วย

 

นอกจากนี้กองทุน LTF ควรกำหนดเงื่อนให้ลงทุนในตลาดหุ้นไทยสัดส่วน 100% เพราะหากกำหนดเงื่อนไขคล้ายกับกองทุน RMF ที่สามารถลงทุนได้ในสินทรัพย์ทั่วโลก อาจส่งผลให้เม็ดเงินจากกองทุน LTF ไม่ได้ไหลเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นไทย รวมถึงกำหนดถือครองไม่เกิน 5-7 ปี ก็จะช่วยเพิ่มความน่าสนใจมากขึ้นสำหรับผู้ลงทุน

 

ทั้งนี้มีข้อสังเกตว่ากองทุน LTF ก่อนปี 2562 ซึ่งเป็นปีที่ครบอายุพบว่ามีเม็ดเงินจากกองทุนไหลเข้าตลาดหุ้นไทยอยู่ที่ประมาณ 5 หมื่นล้านบาทต่อปี และในช่วงปีสุดท้ายเข้ามาสูงถึงประมาณ 7 หมื่นล้านบาท ขณะที่หลังจากปี 2562 เป็นต้นมา เม็ดเงินที่ไหลเข้ามาลดลงอย่างต่อเนื่อง

 

โดยมียอดเงินคงค้างที่ลงทุนในตลาดหุ้นที่มาจากกองทุน LTF ลดลง จากระดับที่เคยสูงประมาณ 4 แสนล้านบาท เหลือราว 2.5 แสนล้านบาทเท่านั้น ขณะที่นักลงทุนสถาบันไทย หรือบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) มีการขายสุทธิในหุ้นไทยออกมาอย่างต่อเนื่องจากการไถ่ถอนกองทุน LTF ในช่วงที่ผ่านมา เพราะกองทุนครบกำหนดอายุ ส่วนเงื่อนไขในการซื้อกองทุน RMF กับ SSF ก็มีข้อจำกัดลง

 

ตลาดหุ้นสหรัฐฯ T+1 เป็นประโยชน์กับนักลงทุนสถาบัน

 

สำหรับสำนักงาน ก.ล.ต. สหรัฐอเมริกา ที่ให้เปลี่ยนระยะเวลาการชำระราคาและส่งมอบหลักทรัพย์ (Settlement) ให้เร็วขึ้นจาก T+2 มาเป็น T+1 ถือเป็นเรื่องที่ดี เพราะเป็นการเพิ่มสภาพคล่องให้กับตลาดหุ้นมากขึ้น และส่งผลให้ตลาดหุ้นทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น ยกตัวอย่างเช่น กรณีนักลงทุนที่ลงทุนในตลาดหุ้นสหรัฐฯ เมื่อขายหุ้นสหรัฐฯ ก็จะได้รับเงินเร็วขึ้นเพิ่มอีก 1 วัน และนำเงินที่ได้กลับมาไปลงทุนต่อได้เร็วขึ้นจากเดิม

 

อีกทั้งเป็นการลดความเสี่ยงในด้านการชำระราคาให้น้อยลง รวมถึงลดความเสี่ยงในเรื่องคู่สัญญาในการทำสัญญาป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน (Counterparty Risk)

 

อย่างไรก็ดี สำหรับกลุ่มนักลงทุนทั่วไป เช่น นักลงทุนชาวไทย ผลลัพธ์ในเชิงบวกอาจไม่ได้เปลี่ยนแปลงจากเดิม เนื่องจากนักลงทุนไทยเมื่อจะเข้าไปลงทุนซื้อหุ้นสหรัฐฯ จะต้องแลกเงินบาทเป็นดอลลาร์สหรัฐก่อน โดยเตรียมเงินดอลลาร์สหรัฐไว้ในบัญชี ซึ่งในวันที่ซื้อหุ้น เงินก็จะถูกตัดเงินจากบัญชีทันที ดังนั้นการเปลี่ยนจาก T+2 มาเป็น T+1 จะเป็นประโยชน์กับนักลงทุนสถาบันเป็นหลักที่ใช้การซื้อขายแบบบัญชีมาร์จิ้น (Margin Account) ที่ไม่ต้องมีการจ่ายเงินก่อน

 

พัฒนาความฉลาด AI ต่อยอดบริการลูกค้า

 

ศรชัยกล่าวต่อถึงการนำเทคโนโลยี AI มาให้บริการลูกค้า Wealth ของธนาคารไทยพาณิชย์ ซึ่งแบ่งเป็น 2 บริการใหม่ ได้แก่

 

  1. นำ AI เปิดบริการแชตบอตให้ข้อมูลการลงทุน เพื่อช่วยตอบคำถามเบื้องต้นในการลงทุนให้กับลูกค้า โดยเริ่มจากการตอบคำถามเกี่ยวกับการลงทุนในกองทุนรวมก่อน จากนั้นมีแผนที่จะพัฒนาต่อยอดในการตอบคำถามการลงทุนในด้านอื่นๆ เพิ่มขึ้นในอนาคต ซึ่งปัจจุบันภาษาที่ใช้ในการตอบคำถามของแชตบอตมีความเป็นธรรมชาติเพิ่มขึ้นจากอดีต โดยมีข้อดีซึ่งลูกค้าสามารถใช้บริการถาม-ตอบได้ตลอด 24 ชั่วโมง โดยสามารถใช้บริการได้ผ่าน LINE: SCB Connect

 

  1. นำ AI มาให้บริการแจ้งเตือน MY ALERT โดยนำ AI เป็นผู้ช่วยดูแลพอร์ตการลงทุนรายบุคคลตลอด 24 ชั่วโมง มี AI แชตบอตที่จะมาช่วยในเรื่องของ Wealth Management โดยมีระบบบริการช่วยแจ้งเตือนลูกค้า รวมถึงให้คำแนะนำในการลงทุนแบบรายบุคคลผ่านแอปพลิเคชัน SCB EASY ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มที่ลูกค้าสามารถทำธุรกรรมทางการเงิน รวมถึง Wealth Management ซึ่ง AI จะช่วยมอนิเตอร์และมีระบบแจ้งเตือนลูกค้าเพื่อใช้ประกอบกับมุมมองการลงทุนของผู้เชี่ยวชาญในการลงทุน เช่น CIO House View ของธนาคารไทยพาณิชย์ นักวิเคราะห์หรือนักวางกลยุทธ์การลงทุนสนับสนุนในด้านข้อมูลให้กับ AI

 

สำหรับแผนการพัฒนาการให้บริการด้วย AI ในอนาคต หลังจากเริ่มมีลูกค้าหรือ Use Case เข้ามาใช้บริการเพิ่มขึ้น ส่งผลให้มีข้อมูลมากขึ้น ซึ่งพัฒนา AI ให้เรียนรู้และฉลาดเพิ่มมากขึ้น พัฒนาการตอบคำถามให้เป็นภาษาที่เป็นธรรมชาติมากยิ่งขึ้น อีกทั้งการใช้ AI เข้ามาช่วยในการทำงานถือเป็นกลยุทธ์หนึ่งที่สำคัญของธนาคารไทยพาณิชย์ ซึ่งจะช่วยสร้างประสบการณ์ใหม่ๆ กับลูกค้า รวมถึงการบริการที่ดีมากขึ้นให้กับลูกค้าในการเพิ่มความสะดวกสบาย ความรวดเร็วในการบริการ จึงจะเป็นการดำเนินการต่อเนื่องในอนาคต

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

X
Close Advertising