กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ ( กบข. ) ถือเป็นนักลงทุนสถาบันไทยที่มีพอร์ตลงทุนขนาดใหญ่อันดับต้นๆ ของไทย ด้วยมูลค่าพอร์ตกว่า 1.3 ล้านล้านบาท ล่าสุดได้แต่งตั้ง ทรงพล ชีวะปัญญาโรจน์ เลขาธิการคณะกรรมการกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการคนใหม่ เริ่มทำงานตั้งแต่วันที่ 11 มีนาคม 2567 และได้มาแถลงวิสัยทัศน์และมุมมองการลงทุนสินทรัพย์ต่างๆ
ทรงพลเปิดเผยว่า ในช่วงไตรมาส 3/67กบข. มีแผนจะจัดประชุมเพื่อจัดทำ Strategic Asset Allocation (SAA) ฉบับใหม่ ที่จะกำหนดกรอบนโยบายการลงทุนระหว่างปี 2568-2570 อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ยังไม่สามารถให้รายละเอียดได้ชัดเจนว่าจะเปลี่ยนแปลงไปจากฉบับเดิมอย่างไร
ทั้งนี้ในการจัดทำแผน SAA ฉบับใหม่กบข. จะว่าจ้างที่ปรึกษาให้มาแนะนำและจัดทำแผนร่วมกับทีมกบข. โดยจะนำปัจจัยเสี่ยง 3 เรื่องสำคัญที่ยังไม่เคยอยู่แผนฉบับที่ใช้ปัจจุบัน มาร่วมพิจารณาในการกำหนดกลยุทธ์ ได้แก่
- สถานการณ์ความขัดแย้งภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitics) รวมถึงภาวะสงคราม
- การแข่งขันกีดกันทางการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งรวมถึงสงครามการค้า (Trade War)
- ภัยธรรมชาติ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่รุนแรง
เนื่องจากปัจจัยเหล่านี้ล้วนมีผลกระทบต่อการค้า การลงทุน รวมถึงการเปลี่ยนแปลงอัตราแลกเปลี่ยนของโลก ดังนั้นจึงต้องกำหนดการทำแผน SAA ให้เหมาะสมกับสถานการณ์โลกที่เปลี่ยนแปลงไป
ปัจจุบันพอร์ตการลงทุนของกบข.ตามกรอบกฎหมาย กำหนดให้ต้องลงทุนในกลุ่มสินทรัพย์มั่นคงสูง สัดส่วนไม่น้อยกว่า 60% เช่น กลุ่มตราสารหนี้ที่มีเครดิตเรตติ้งสูง และหากแยกเป็นสินทรัพย์ลงทุนในและต่างประเทศ ปัจจุบันพอร์ตลงทุนของกบข. มีนโยบายการลงทุนในสินทรัพย์ต่างประเทศ สัดส่วนไม่เกิน 60% และในประเทศอีก 40% โดยมีสัดส่วนการลงทุนในตลาดหุ้นไทยประมาณ 4% ตราสารหนี้ไทยอีกประมาณ 16% และที่เหลือเป็นสินทรัพย์อื่นๆ เช่น อสังหาริมทรัพย์
ทรงพล ชีวะปัญญาโรจน์ เลขาธิการ กบข.
“ตอนนี้มีการลงทุนในตลาดหุ้นไทยไม่มากนัก เพราะการลงทุนในต่างประเทศในช่วงนี้มีผลการดำเนินงานที่สูงกว่าในประเทศ ทำให้เรามีสัดส่วนการลงทุนมากกว่าในประเทศ ซึ่งตอนนี้ก็ลงทุนเต็มเพดานที่กำหนดไว้ที่ 60% ของพอร์ต อีกทั้งในช่วงที่มีสงครามระหว่างอิสราเอล-อิหร่าน ก็มีการเพิ่มสัดส่วนการลงทุนในสินค้าโภคภัณฑ์ เช่น ทองคำ และน้ำมัน เพิ่มขึ้นเป็น 1% ของพอร์ต ซึ่งก็เต็มเพดานของส่วนนี้แล้ว ขณะที่สถานการณ์โลกที่ผันผวนมากขึ้น ทีมด้านการลงทุนของกบข. จะมอนิเตอร์สถานการณ์และปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อการลงทุนใกล้ชิดมากขึ้น จากเดิมประชุม 1 ครั้งต่อเดือน ตอนนี้ได้เพิ่มความถี่เป็น 1 ครั้งต่อสัปดาห์”
สำหรับนโยบายการลงทุนในสินทรัพย์ต่างประเทศที่กำหนดไว้ในสัดส่วนไม่เกิน 60% นั้น มองว่าเป็นระดับที่เหมาะสมแล้ว และสำหรับมุมมองต่อสินทรัพย์ดิจิทัลนั้น ปัจจุบันกบข. ยังไม่มีความสนใจ เนื่องจากยังไม่มีความเข้าใจมากพอ ประกอบกับปัจจุบันกบข. สามารถเลือกลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความหลากหลายได้อยู่แล้ว ทั้งหุ้น ตราสารหนี้ อสังหา และสินทรัพย์ทางเลือกอื่นๆ
นอกจากนี้ ปัจจุบันกบข. อยู่ระหว่างศึกษาการสร้างที่อยู่อาศัยหลังเกษียณ (Retirement Complex) ซึ่งคาดว่าจะได้ข้อสรุปการลงทุนที่ชัดเจนในสิ้นปี 2567 เพื่อเพิ่มทางเลือกในการรับผลตอบแทนรูปแบบอื่นให้กับสมาชิก โดยจะหาผู้ร่วมลงทุนที่สนใจพัฒนาอาคารอยู่อาศัยสำหรับวัยเกษียณที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นของกลุ่มประชากรสูงวัยที่เพิ่มขึ้น
โดยในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2567 พอร์ตลงทุนของกบข. สามารถสร้างผลตอบแทนเฉลี่ยได้ประมาณ 3% โดย ณ วันที่ 15 พฤษภาคม พอร์ตลงทุนของกบข. มีมูลค่าสินทรัพย์สุทธิประมาณ 1.35 ล้านล้านบาท มีจำนวนสมาชิกรวมประมาณ 1.24 ล้านราย โดยมีการกำหนดเป้าหมายสร้างผลตอบแทนการลงทุนที่ดีในระยะยาวมากกว่าอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ย 10 ปี บวก 2% ต่อปี
ข้อมูลพอร์ตลงทุน กบข. ณ วันที่ 17 พฤษภาคม 2567
สำหรับผลการดำเนินงานปี 2566กบข. สามารถสร้างผลตอบแทนได้ 1.46% หลังหักค่าใช้จ่าย โดยได้รับผลดีจากการลงทุนทั้งในและต่างประเทศในตราสารหลากหลายประเภท และการจัดการติดตามการลงทุนอย่างใกล้ชิด
ส่วนในปี 2567 มีปัจจัยเสี่ยงที่ยังต้องติดตามอย่างใกล้ชิดเพื่อปรับกลยุทธ์การลงทุนในระยะสั้นได้ทันการณ์ ทั้งสงครามตะวันออกกลาง, ความขัดแย้งอิสราเอล-อิหร่าน, ความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครน, ผลการเลือกตั้งและแนวนโยบายในหลายประเทศ โดยเฉพาะประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาคนใหม่, แนวนโยบายการค้าระหว่างสหรัฐฯ-จีน, อัตราดอกเบี้ยที่คงอยู่ในระดับสูงในช่วงที่ผ่านมา จะลดทอนความสามารถในการใช้จ่ายภาคครัวเรือนลง, เงินเฟ้อปรับตัวลดลงแบบชะลอตัวและยังคงสูงกว่าเป้าหมายระยะยาวของธนาคารกลาง ส่วนเศรษฐกิจไทยยังต้องติดตามการเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณ และนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ ทั้งนี้มีความเชื่อมั่นในการทยอยฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยว และการกดดันด้านเงินเฟ้อลดลง โดยปี 2567 มีเป้าหมายสร้างผลตอบแทนที่สูงกว่าปี 2566