วันนี้ (23 พฤษภาคม) หลังศาลรัฐธรรมนูญประชุมปรึกษาคดีสำคัญ กรณี 40 สมาชิกวุฒิสภา (สว.) เข้าชื่อขอให้ส่งเรื่องยังศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยความเป็นรัฐมนตรีของ เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ผู้ถูกร้องที่ 1 และ พิชิต ชื่นบาน รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ผู้ถูกร้องที่ 2 สิ้นสุดลงเฉพาะตัว ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 170 วรรคหนึ่ง (4) ประกอบมาตรา 160 (4) (5) หรือไม่
ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาข้อเท็จจริงตามคำร้องและเอกสารประกอบคำร้องแล้วเห็นว่า กรณีเป็นไปตามรัฐธรรมนูญมาตรา 170 วรรคสาม ประกอบมาตรา 82 วรรคหนึ่ง และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 มาตรา 7 (9)
ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเสียงข้างมาก (6 ต่อ 3) รับคำร้องผู้ถูกร้องที่ 1 ไว้พิจารณา และให้ผู้ถูกร้องที่ 1 ยื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาต่อศาลรัฐธรรมนูญภายใน 15 วันนับแต่วันที่ได้รับสำเนาคำร้องตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 มาตรา 54 โดยตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเสียงข้างน้อยคือ นครินทร์ เมฆไตรรัตน์, อุดม รัฐอมฤต และ สุเมธ รอยกุลเจริญ มีคำสั่ง
สำหรับกรณีของผู้ถูกร้องที่ 2 ได้มีคำร้องของผู้ถูกร้องที่ 2 ลงวันที่ 23 พฤษภาคม 2567 แจ้งว่า เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2567 ผู้ถูกร้องที่ 2 ได้ลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีแล้ว ศาลพิจารณาแล้วเห็นว่า เมื่อความเป็นรัฐมนตรีของผู้ถูกร้องที่ 2 สิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญมาตรา 170 วรรคหนึ่ง (2) กรณีไม่มีเหตุที่จะต้องวินิจฉัยคดีต่อไปตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 มาตรา 51 ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเสียงข้างมาก (8 ต่อ 1) มีคำสั่งไม่รับคำร้องเฉพาะส่วนของผู้ถูกร้องที่ 2 ไว้พิจารณาวินิจฉัย โดยตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเสียงข้างน้อย อุดม สิทธิวิรัชธรรม
ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณากรณีขอให้ผู้ถูกร้องที่ 1 หยุดปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรีจนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 82 วรรคสอง แล้วเห็นว่าข้อเท็จจริงตามคำร้องและเอกสารประกอบคำร้องในชั้นนี้ ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเสียงข้างมาก (5 ต่อ 4) ไม่สั่งให้ผู้ถูกร้องที่ 1 หยุดปฏิบัติหน้าที่แจ้งให้คู่กรณีทราบ
ทั้งนี้ ตุลาการเสียงข้างมากที่ไม่สั่งให้เศรษฐาหยุดปฏิบัติหน้าที่ประกอบด้วย นครินทร์ เมฆไตรรัตน์, นภดล เทพพิทักษ์, บรรจงศักดิ์ วงศ์ปราชญ์, อุดม รัฐอมฤต และ สุเมธ รอยกุลเจริญ ขณะที่เสียงข้างน้อยคือ ปัญญา อุดชาชน, อุดม สิทธิวิรัชธรรม, วิรุฬห์ แสงเทียน และ จิรนิติ หะวานนท์
นายกฯ ย้ำ ตั้งพิชิตด้วยความบริสุทธิ์ใจ
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ก่อนหน้านี้ เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ระบุว่า ต้องให้เกียรติกับทางศาลด้วยเช่นกัน และตนเองก็มีหน้าที่ในการชี้แจงให้ครบถ้วน เหมาะสม และถูกต้อง เป็นไปตามข้อเท็จจริงต่อไปเท่านั้นเอง พร้อมยืนยันว่ามั่นใจในการแต่งตั้ง พิชิต ชื่นบาน คิดว่าทำถูกต้องด้วยความบริสุทธิ์ใจ
ขณะที่ พิชิต ชื่นบาน อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้ยื่นลาออกเมื่อช่วงเย็นของวันที่ 21 พฤษภาคมที่ผ่านมา โดยระบุเหตุผลในการลาออกไว้ในหนังสือช่วงหนึ่งว่า ถึงแม้ว่าตนเองได้ตรวจสอบและเชื่อมั่นโดยสุจริตแล้วว่ามีคุณสมบัติครบถ้วนตามกฎหมายทุกประการก็ตาม แต่เรื่องนี้ได้มีการพาดพิงไปถึงท่านนายกรัฐมนตรี หัวหน้าผู้บริหารราชการแผ่นดินต่อศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อให้ประเทศเดินหน้าต่อไปได้ และไม่กระทบต่อการบริหารราชการแผ่นดินของนายกรัฐมนตรีที่มีความจำเป็นต้องเดินหน้าด้วยความต่อเนื่อง ข้าพเจ้าจึงไม่ยึดติดกับตำแหน่งในลักษณะยึดถือประโยชน์ส่วนตนยิ่งกว่าประโยชน์ส่วนรวม” พิชิตกล่าวช่วงหนึ่ง