วันนี้ (21 พฤษภาคม) ที่พรรคเพื่อไทย ชูศักดิ์ ศิรินิล รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย และ ดนุพร ปุณณกันต์ โฆษกพรรคเพื่อไทย แถลงข่าวครบรอบ 10 ปี การรัฐประหารโดย คสช. เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557
ดนุพรได้อ่านแถลงการณ์พรรคเพื่อไทยระบุว่า 10 ปีที่ผ่านไป จากรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 ‘ยุติวงจรรัฐประหาร ด้วยรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน’ อำนาจอธิปไตยของคนไทยดับสิ้นลงจากคณะรัฐประหารที่ชื่อว่าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ยึดอำนาจรัฐบาลเพื่อไทย รัฐบาลที่มาจากความไว้วางใจของพี่น้องประชาชน
การกระทำการรัฐประหารคือการกระทำที่ผิดกฎหมาย ทำลายประชาธิปไตย ผลักประเทศให้เดินถอยหลังไปสู่ความถดถอยภายใต้อำนาจเผด็จการ สิ่งที่เราสูญเสียไปคือ ‘โอกาสของประเทศ’ ทั้งที่สามารถประเมินมูลค่าได้และอีกนานัปการที่ประเมินมูลค่าไม่ได้
พรรคเพื่อไทยยืนยันว่าเราปฏิเสธการรัฐประหาร ไม่ยอมรับสารตั้งต้นที่อาจเป็นการสร้างเงื่อนไขไปสู่การรัฐประหาร และปฏิเสธการนิรโทษกรรมต่อการรัฐประหารในทุกกรณี ศาลและองค์กรรัฐอื่นๆ ต้องยกเลิกบรรทัดฐานที่ว่าการรัฐประหารโดยใช้กำลังอาวุธสำเร็จเป็นรัฏฐาธิปัตย์
เรายืนยันแนวคิดให้มีการตรากฎหมายต่อต้านการรัฐประหารขึ้น โดยห้ามมิให้ศาลยอมรับการรัฐประหารว่าเป็นรัฏฐาธิปัตย์ และยืนยันในแนวคิดว่าความผิดในการรัฐประหารไม่มีอายุความ โดยให้ถือเป็นประเพณีการปกครองประเทศในระบอบประชาธิปไตย
“พรรคเพื่อไทยยืนยันว่าการรัฐประหารคืออาชญากรรมร้ายแรงต่อมวลมนุษยชาติ เป็นอาชญากรรมต่อระบอบประชาธิปไตย เรายึดมั่นในหลักการว่าอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย เราจะร่วมกันต่อต้านการรัฐประหาร การรัฐประหารจะต้องหมดไปจากประเทศไทย”
การรัฐประหารที่เกิดขึ้นทุกครั้งที่ผ่านมาจะมีข้ออ้างเสมอมาว่ารัฐบาลประชาธิปไตยบริหารประเทศล้มเหลว อ้างสถานการณ์ที่นำไปสู่การยึดอำนาจโดยใช้กำลังอาวุธ แต่ไม่เคยมีเลยสักครั้งที่การรัฐประหารนำพาประเทศไปสู่ความเจริญก้าวหน้า มีแต่นำไปสู่ความตกต่ำ ถดถอย และล้าหลัง ดังที่เห็นกันอยู่ตลอดมา
พรรคเพื่อไทยในฐานะสถาบันการเมือง ในฐานะแกนนำรัฐบาลของพี่น้องประชาชน เราจะบริหารราชการแผ่นดินอย่างดีที่สุด เราจะร่วมมือกันกับคนไทยผู้รักประชาธิปไตย ไม่ให้การรัฐประหารเกิดขึ้นในประเทศไทยอีก
ด้านชูศักดิ์ย้ำจุดยืนของพรรคเพื่อไทยว่า เราต่อต้านการรัฐประหาร จึงอยากสื่อสารกับประชาชนถึงประวัติศาสตร์การเมืองของประเทศ ตั้งแต่ปี 2549 รัฐบาลไทยรักไทย มาจนปี 2557 ในรัฐบาลเพื่อไทย ซึ่งหลังรัฐประหารทุกครั้งประชาชนและสังคมไทยไม่เคยได้รัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยแม้แต่ครั้งเดียว เราได้แต่รัฐธรรมนูญที่ถดถอย เป็นเผด็จการ ตัวอย่างเช่น รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันก็กลายเป็นรัฐธรรมนูญสืบทอดอำนาจ มีบทบัญญัติหลายประการที่ไม่เป็นประชาธิปไตย
“ชัดเจนว่าเมื่อมีการยึดอำนาจปกครองประเทศก็มักตั้งคณะกรรมการขึ้นมาชุดหนึ่งเพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมาฉบับใหม่ จุดยืนของพรรคเพื่อไทยจึงเห็นว่าถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องผลักดันการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่เป็นของประชาชน และมีจุดยืนสำคัญคือมีนโยบายจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่แทนที่รัฐธรรมนูญฉบับปี 2560” ชูศักดิ์กล่าว
และขณะนี้อยู่ในกระบวนการที่กำลังดำเนินการ โดยให้ประชาชนมีส่วนร่วม ซึ่งต่อไปนี้การจัดทำรัฐธรรมนูญจะดำเนินไปในขั้นตอนดังนี้
- จะต้องสอบถามประชาชนว่าสมควรให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่
- จำเป็นต้องแก้รัฐธรรมนูญ มาตรา 256 เพื่อเพิ่มเติมบทบัญญัติว่าด้วยการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
- และเมื่อมีตัวแทนประชาชน และ สสร. ยกร่างขึ้นมา จึงมาถามประชาชนว่า เห็นชอบกับร่างที่ยกขึ้นมาหรือไม่
จึงจะเป็นกระบวนการในการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ หวังว่าจะมีบทบัญญัติต่อต้านรัฐประหารอยู่ในนั้น และคิดว่าจะต้องสำเร็จภายในรัฐบาลของพรรคเพื่อไทยใน 4 ปีนี้ เพื่อเป็นของเป็นของขวัญให้กับประชาชน
ส่วนการเสนอร่าง พ.ร.บ.ต่อต้านการรัฐประหาร สาระสำคัญคือการที่เรายอมรับการรัฐประหารว่าเป็นรัฏฐาธิปัตย์ และเปิดโอกาสให้เขาบริหารประเทศ เป็นเรื่องที่ผิด ดังนั้นกระบวนการของประชาชนในการต่อต้านเป็นสิ่งสำคัญ จึงพยายามจะยกร่างกฎหมายฉบับนี้ให้เรียบร้อยเพื่อเสนอต่อรัฐสภาต่อไป
ในโอกาสครบรอบเช่นนี้ พรรคเพื่อไทยคาดหวังว่าจะต้องมีรัฐธรรมนูญของประชาชนและเป็นประชาธิปไตย และต่อต้านการรัฐประหาร รวมถึงมีกระบวนการจัดทำกฎหมายที่เป็นการจัดทำกระบวนการยุติธรรม โดยเฉพาะกระบวนการต่อต้านการรัฐประหารเพื่อให้หมดสิ้นไปจากสังคมไทย
ส่วนความคืบหน้าการแก้ไข พ.ร.บ.ประชามติ ชูศักดิ์ระบุว่า เป็นข้อตกลงว่าก่อนจะทำประชามติครั้งแรกจะต้องแก้ พ.ร.บ.ประชามติ เสียก่อน ซึ่งตกลงกันว่าจะแก้ในขณะที่เปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎรสมัยวิสามัญเร็วๆ นี้ เพื่อให้รวดเร็วขึ้น ซึ่งนอกเหนือจากการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 ก็จะต่อด้วยการแก้ไข พ.ร.บ.ประชามติ โดยเฉพาะประเด็นเสียงข้างมากสองชั้นทราบว่ามีร่างของพรรคเพื่อไทยและร่างของพรรคก้าวไกลอยู่ในสภาแล้ว ขณะที่ร่างของรัฐบาลมีการตกลงแล้ว อยู่ในกระบวนการทางธุรการ เข้าใจว่าเมื่อเปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎรสมัยวิสามัญแล้ว ร่างของรัฐบาลจะนำเข้าด้วย เพื่อพิจารณา 3 ร่างพร้อมกัน เร่งรัดให้กฎหมายเสร็จสิ้นเร็วขึ้น