อาเซียนเคยเป็นหนึ่งในภูมิภาคที่ถูกมองข้ามจากสายตาของบริษัทบิ๊กเทคสหรัฐฯ ต่างๆ มากว่าหลายทศวรรษ จากความน่าสนใจและโอกาสที่ถูกเทไปยังประเทศจีนและญี่ปุ่น แต่วันนี้อาเซียนกำลังกลายมาเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญที่บริษัทบิ๊กเทคมีทีท่าจะปั้นให้ก้าวขึ้นสู่ศูนย์กลางของวงการเทคโนโลยี
ในช่วงเดือนที่ผ่านมา ซีอีโอจากทั้ง Apple, Microsoft และ NVIDIA ต่างพากันเดินสายทำธุรกิจในหลายประเทศแถบอาเซียน พร้อมประกาศการลงทุนมหาศาลระดับหลายหมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ และล่าสุด Starlink ของ Elon Musk ก็ขยับความร่วมมือกับประเทศอาเซียนเช่นเดียวกัน
กำลังซื้อเพิ่ม ประชากรโต สงครามไม่มี สามปัจจัยมัดใจบิ๊กเทค
Bloomberg รายงานว่า ด้วยขนาดประชากรราว 675 ล้านคน ที่มีกลุ่มเจเนอเรชันใหม่เปิดรับเทคโนโลยี เช่น การช้อปปิ้งออนไลน์ สตรีมวิดีโอ และ Generative AI เพิ่มมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ส่งผลให้อาเซียนเป็นที่น่าดึงดูดสำหรับบิ๊กเทค โดยแค่ Data Center อย่างเดียว มูลค่าลงทุนก็มีมากถึง 6 หมื่นล้านบาทแล้ว และเป็นโปรเจกต์ระยะยาวสำหรับภูมิภาคอาเซียน
อีกหนึ่งปัจจัยที่ช่วยหนุนการเปลี่ยนทิศทางการลงทุนให้เข้ามาในอาเซียนมากขึ้น เกิดจากความขัดแย้งระหว่างจีนกับสหรัฐฯ ที่ทำให้บริษัทบิ๊กเทคจำเป็นต้องหาแหล่งทำธุรกิจแห่งใหม่ที่มีความเป็นมิตรกับบริษัทของตน และต้องเป็นพื้นที่ที่มีการเติบโตของทรัพยากรแรงงานกับรายได้ ซึ่งต่างก็กำลังเป็นปัจจัยสนับสนุนให้การทำธุรกิจโดยบริษัทฝั่งตะวันตกลดการพึ่งพาจากฝั่งจีนลงได้
“ประเทศอย่างสิงคโปร์และมาเลเซียถือเป็นสองแห่งที่ค่อนข้างเป็นกลางท่ามกลางเหตุการณ์ความวุ่นวายที่เกิดขึ้นทั้งในจีน สหรัฐฯ รัสเซีย และยูเครน โดยเฉพาะภาวะสงครามที่ดำเนินอยู่ก็ยิ่งทำให้ประเทศในแถบนี้เป็นที่น่าดึงดูดมากขึ้น อีกทั้งภาครัฐก็ยังส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศและพร้อมไปด้วยแรงงานที่มีทักษะด้านเทคโนโลยี” Sean Lim ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร NWD Holdings กล่าวกับ Bloomberg
นอกจากนี้ รายงานจากรัฐบาลสิงคโปร์ยังประเมินว่า ประชากรราว 65% ของอาเซียนกำลังจะกลายไปเป็นกลุ่มชนชั้นกลางภายในปี 2030 จากกำลังการจับจ่ายใช้สอยที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งจะเป็นตัวช่วยดันความต้องการบริการด้านออนไลน์ให้เติบโตขึ้นเป็น 2 เท่าตัวจากระดับปัจจุบัน
บิ๊กเทคสหรัฐฯ เจ้าไหนมาอาเซียน และไปที่ไหนบ้าง?
Tim Cook ซีอีโอของ Apple ได้เดินทางมาเยือนเวียดนาม อินโดนีเซีย และสิงคโปร์ ในปลายเดือนเมษายน เพื่อหารือการลงทุนครั้งใหม่จากการที่ Apple ต้องการจะหาโอกาสขยายธุรกิจนอกเหนือตลาดจีนที่กำลังเจอกับภาวะยอดขายซบเซา โดยหลังจากการเยือนอินโดนีเซียของ Tim Cook ทาง Apple ก็มีรายงานว่า รายได้ในอินโดนีเซียเพิ่มสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ แม้ว่าตัวเลขรายได้ทั่วโลกจะค่อนข้างชะลอตัว
“ประเทศในกลุ่มนี้ถือว่ายังเป็นตลาดที่เรามีส่วนแบ่งตลาดน้อยอยู่ และการเติบโตของประชากรก็กำลังเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งสินค้ากับบริการของเราก็ทำได้ดีขึ้นเรื่อยๆ” Tim Cook กล่าวในการประชุมสายของบริษัท
ด้าน Microsoft เองก็เดินทางมาเยือน 3 ประเทศในอาเซียน เพื่อประกาศลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้าน AI กับคลาวด์ ทั้ง Data Center และแผนการฝึกบุคลากรจำนวนกว่า 2.5 ล้านคนในอาเซียนให้มีทักษะเท่าทันโลกของ AI ที่มีศักยภาพในการเพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจในอาเซียนประมาณ 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐภายในปี 2030
ด้วยกระแสความร้อนแรงของ AI สิ่งที่จะตามมาอย่างเลี่ยงไม่ได้ก็คือ โครงสร้างพื้นฐานอย่าง Data Center ที่จะต้องมีเพื่อใช้รองรับการประมวลผลข้อมูลมหาศาลระหว่างผู้สร้างคอนเทนต์ บริษัท และผู้บริโภค โดยบริษัท Cushman & Wakefield คาดว่า ความต้องการใช้งาน Data Center ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเอเชียเหนือจะขึ้นไปแตะ 25% และจะกลายเป็นภูมิภาคที่สร้างรายได้มากที่สุดเป็นอันดับสองของโลกจากแหล่ง Data Center ที่ไม่อยู่ในสหรัฐฯ ภายในปี 2028
ส่วนฝั่งของ NVIDIA บริษัทก็เลือกวางหมากที่มาเลเซียด้วยการลงทุน 4.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อสร้าง Data Center พร้อมกันกับเล็งเวียดนามเป็นอีกหนึ่งหมุดหมายในแผนขยายธุรกิจที่อาเซียน
ทั้งนี้ ข่าวล่าสุด Elon Musk ร่วมมือกับรัฐมนตรีสาธารณสุขอินโดนีเซีย Budi Gunadi Sadikin เปิดตัวบริการอินเทอร์เน็ตผ่านดาวเทียม Starlink ของ SpaceX เพื่อเปิดโอกาสให้บริการสุขภาพของอินโดนีเซียเข้าถึงได้ง่ายขึ้น โดยเฉพาะบริเวณพื้นที่ห่างไกล เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา (19 พฤษภาคม) โดย Reuters รายงานว่า Starlink จำหน่ายในเชิงพาณิชย์แล้ว แต่รัฐบาลจะเน้นการให้บริการสำหรับภูมิภาคห่างไกลเป็นอันดับแรก
ทั้งหมดนี้เป็นการขยับของบิ๊กเทคที่รีบเข้ามาคว้าโอกาสลงทุนในอาเซียนจากข้อได้เปรียบที่ค่าแรงไม่สูงมาก แต่คนมีคุณภาพ ซึ่งมีความจำเป็นต่อการสร้างเทคโนโลยีอย่าง Generative AI ที่ไม่เพียงแต่ต้องอาศัยเงินลงทุนมหาศาล แต่รวมถึงวิศวกรที่มีทักษะสูงด้วย
อย่างไรก็ตาม Sean Lim ให้มุมมองกับ Bloomberg ว่า เอเชียก็ยังมีความท้าทายของตัวเอง แม้ว่าบริษัทบิ๊กเทคจำนวนมากจะแห่ขนเงินเข้ามาลงทุน ไม่ว่าจะเป็นปัจจัยทางการเมือง วัฒนธรรม และภูมิรัฐศาสตร์ แถมยังมีความเสี่ยงเรื่องวัฒนธรรมการทำงานที่ต่างจากฝั่งตะวันตก รวมถึงปัจจัยค่าเงิน แต่สิ่งที่ต้องยอมรับคือ การเติบโตของรายได้ที่ชะลอลงและต้นทุนที่เพิ่มขึ้นก็เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้บริษัทบิ๊กเทคต้องบริหารค่าใช้จ่ายให้คุ้มทุนที่สุด ซึ่งอาเซียนก็ดูเหมือนจะเป็นภูมิภาคที่ตอบโจทย์เรื่องนี้ได้
อ้างอิง: