วันนี้ (20 พฤษภาคม) ที่ห้องรัตนโกสินทร์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ประชุมคณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 8/2567 (เพิ่มเติม) โดยได้เน้นย้ำในที่ประชุมเรื่องการป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในปีนี้ พร้อมกำชับให้เจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์เมื่อฝนตกว่ามีน้ำท่วมขังหรือไม่ เพื่อเร่งแก้ปัญหาได้อย่างรวดเร็ว
ภายหลังการประชุม วิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้ให้สัมภาษณ์ถึงความคืบหน้าการดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมว่า จากฐานข้อมูลจุดเสี่ยงน้ำท่วมปี 2565 จุดเสี่ยงน้ำท่วมในพื้นที่กรุงเทพฯ มีจำนวนทั้งสิ้น 737 จุด โดยเป็นจุดเสี่ยงน้ำฝน 617 จุด และเป็นจุดเสี่ยงแนวริมแม่น้ำ (น้ำเหนือ น้ำทะเลหนุน) 120 จุด ได้ใช้งบปี 2565-2566 แก้ไขแล้วเสร็จ 179 จุด คาดว่าจะแล้วเสร็จทันฝนอีก 190 จุด ซึ่งจะรวมแก้ไขแล้วเสร็จทันฝนประมาณกว่า 50% ส่วนจุดที่เหลือได้รับงบปี 2567 จำนวน 72 จุด และของบปี 2568 เพื่อดำเนินการต่อเนื่อง
สำหรับการเตรียมการป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่กรุงเทพมหานครปี 2567 ได้ดำเนินการดังนี้
- ลดระดับน้ำรองรับสถานการณ์ฝน
- เตรียมความพร้อมระบบระบายน้ำ เช่น การขุดลอกคลอง ขณะนี้ดำเนินการแล้ว 179 คลอง 217 กิโลเมตร (67%) การเปิดทางน้ำไหล ขณะนี้ดำเนินการแล้ว 1,310 คลอง 1,965 กิโลเมตร (75%) การล้างทำความสะอาดท่อระบายน้ำ ขณะนี้ดำเนินการแล้ว 4,234 กิโลเมตร (63%) และได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง
- เตรียมความพร้อมอุปกรณ์และเจ้าหน้าที่
- ล้างทำความสะอาด บำรุงรักษาอุโมงค์ระบายน้ำ ประตูระบายน้ำ และสถานีสูบน้ำ ประจำปี 2567
- ตรวจ บำรุงรักษา และติดตั้งเครื่องสูบน้ำไฟฟ้า ตู้เมนไฟฟ้า ตู้ควบคุมเครื่องสูบน้ำ และติดตั้งเครื่องสูบน้ำชนิดเครื่องยนต์
ชัชชาติกล่าวต่อว่า ในปีนี้ยังมีจุดที่เป็นห่วงที่บริเวณสุขุมวิท 101/1, 103 ซึ่งอุโมงค์ระบายน้ำบึงหนองบอนถล่มไป โดยปี 2566 อุโมงค์บางส่วนยังใช้ระบายน้ำได้ แต่ช่วงนี้จะมีการปิดอุโมงค์บางส่วนเพื่อนำดินที่ค้างอยู่ข้างในออก และเตรียมก่อสร้างให้เสร็จภายใน 3 ปี จึงยังเป็นจุดที่เปราะบางอยู่ และต้องให้ความสำคัญเป็นพิเศษ นอกจากนี้ยังมีจุดที่ต้องบูรณาการกับหน่วยงานอื่น เช่น ลาดกระบังและถนนพระราม 2 ซึ่งจะต้องบูรณาการกันให้มากขึ้น รวมถึงยังมีจุดที่ต้องปรับปรุง เช่น ถนนช่างอากาศอุทิศและดอนเมือง ที่ต้องติดตั้งปั๊มเพิ่ม
ชัชชาติกล่าวว่า เชื่อว่าสถานการณ์น่าจะดีขึ้น อาจมีเรื่องที่ต้องระวังคือปริมาณฝนที่ตกมากเป็นจุดๆ ซึ่งเป็นผลมาจากภาวะโลกร้อน โดยได้ใช้เทคโนโลยี AI ของประเทศญี่ปุ่น พยากรณ์และวิเคราะห์สถานการณ์เสริมกับสมรรถภาพของเรดาร์กรุงเทพมหานคร เพื่อคาดการณ์ฝนล่วงหน้า 3 ชั่วโมงให้ดีขึ้น เพื่อจัดทรัพยากรลงไปในพื้นที่ได้ละเอียดและถูกจุดมากขึ้น