×

เศรษฐกิจไทย 1Q67 ขยายตัว 1.5% สภาพัฒน์หั่นประมาณการ GDP ทั้งปีลงเหลือ 2.5% จาก 2.7%

20.05.2024
  • LOADING...
เศรษฐกิจไทย

เศรษฐกิจไทย ไตรมาสแรกของปีขยายตัว 1.5% เนื่องมาจากการท่องเที่ยวและการบริโภคครัวเรือนเป็นหลัก ด้านสภาพัฒน์หั่นประมาณการ GDP ทั้งปีลงเหลือ 2.5% จาก 2.7% จากการส่งออกและการลงทุนภาคเอกชนที่น่าจะลดลง

 

วันนี้ (20 พฤษภาคม) ดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ไตรมาสแรกของปี 2567 ขยายตัว 1.5%YoY ชะลอตัวเล็กน้อยเมื่อเทียบกับการขยายตัว 1.7% ในไตรมาสที่ 4 ของปี 2566

 

เมื่อปรับผลของฤดูกาลออกแล้ว เศรษฐกิจไทยในไตรมาสแรกของปี 2567 ขยายตัวจากไตรมาสที่ 4 ของปี 2566 1.1%QoQ หลังจากติดลบ 0.4%QoQ ส่งผลให้ไทยรอดจากภาวะถดถอยเชิงเทคนิค (Technical Recession)

 

อย่างไรก็ดี ตัวเลขดังกล่าวยังสูงกว่าคาดการณ์ของผลสำรวจความคิดเห็นของผู้เชี่ยวชาญ (Survey) ที่ 0.8% และสูงกว่าคาดการณ์ของธนาคารแห่งประเทศ (ธปท.) ก่อนหน้านี้ที่ราว 1%

 

โดยปัจจัยหนุนมาจากการส่งออกบริการ (ท่องเที่ยว) และการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนขยายตัวในเกณฑ์สูงถึง 6.9% การลงทุนภาคเอกชนขยายตัวในเกณฑ์ดี แม้ว่าการส่งออกสินค้า การใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคของรัฐบาล และการลงทุนภาครัฐลดลง

 

สำหรับแนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 2567

สภาพัฒน์ได้หั่นแนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 2567 ลง โดยคาดว่า GDP ไทยทั้งปี 2567 จะขยายตัว 2.0-3.0% (ค่ากลางอยู่ที่ 2.5%) จากประมาณการเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ 2.2-3.2% (ค่ากลางอยู่ที่ 2.7%) จากการขยายตัว 1.9% ในปี 2566 จากการส่งออกและการลงทุนภาคเอกชนที่น่าจะลดลง ทั้งนี้ ประมาณการดังกล่าวยังไม่รวมดิจิทัลวอลเล็ต

 

 

สำหรับปัจจัยสนับสนุนในปี 2567 มีดังนี้

 

1. การเพิ่มขึ้นของแรงสนับสนุนจากการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐในช่วงที่เหลือของปี

ภายหลังจากที่ประกาศใช้ พ.ร.บ.งบประมาณ 2567 และการปรับเพิ่มวงเงิน พ.ร.บ.งบประมาณ 2568

 

2. การฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของภาคการท่องเที่ยว

ปัจจัยสนับสนุนจากมาตรการยกเว้นการตรวจลงตราให้แก่กลุ่มนักท่องเที่ยวจากจีน อินเดีย รัสเซีย และไต้หวัน รวมถึงมาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวเพิ่มเติมของภาครัฐ

 

3. การขยายตัวในเกณฑ์ดีของการอุปโภคบริโภคภายในประเทศ
สอดคล้องกับการฟื้นตัวดีของภาคการท่องเที่ยว ประกอบกับมีปัจจัยสนับสนุนจากดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่สูงขึ้นต่อเนื่อง อัตราการว่างงานและแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับต่ำ

 

4. การขยายตัวอย่างต่อเนื่องของการลงทุนภาคเอกชน

ตามการขยายตัวต่อเนื่องของการนำเข้าสินค้าทุน รวมทั้งแนวโน้มการเพิ่มขึ้นของการขอรับการส่งเสริมการลงทุนและพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม

 

5. การกลับมาขยายตัวของภาคการส่งออกสินค้าตามการฟื้นตัวของการค้าโลก

สอดคล้องกับข้อมูลดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตและยอดคำสั่งซื้อสินค้าในกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมที่เพิ่มสูงขึ้น

 

ส่วนข้อจำกัดและปัจจัยเสี่ยงในปี 2567 ได้แก่

 

  1. ภาระหนี้สินครัวเรือนและภาคธุรกิจที่อยู่ในระดับสูง

โดยระดับสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs) และสินเชื่อที่กล่าวถึงเป็นพิเศษ (SML) ยังทรงตัวอยู่ในระดับสูง ขณะที่สถาบันการเงินเพิ่มความระมัดระวังในการให้สินเชื่อกับธุรกิจมากขึ้น โดยเฉพาะ SMEs

 

  1. ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างต่อเนื่องต่อผลผลิตภาคการเกษตร

ผลผลิตทางการเกษตรได้รับผลกระทบจากเอลนีโญที่ส่งผลให้อุณหภูมิสูงกว่าปกติ ขณะที่ในช่วงที่เหลือของปีประเทศไทยมีโอกาสเข้าสู่ลานีญาซึ่งจะทำให้มีความเสี่ยงที่จะเผชิญปัญหาอุทกภัย

 

  1. ความเสี่ยงจากความผันผวนของสถานการณ์เศรษฐกิจโลก

ทั้งความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ การปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ช้ากว่าที่คาดการณ์ การชะลอตัวมากกว่าที่คาดของเศรษฐกิจจีน และความไม่แน่นอนของนโยบายเศรษฐกิจและการค้าในช่วงก่อนและหลังการเลือกตั้งของหลายประเทศ

 

สำหรับแนวทางการบริหารนโยบายเศรษฐกิจมหภาคในปี 2567

 

ดนุชายังแนะว่าควรให้ความสำคัญกับประเด็นต่างๆ ดังนี้ 

 

  1. การเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณ
  2. การดูแลสภาพคล่องให้เพียงพอสำหรับภาคธุรกิจโดยเฉพาะธุรกิจ SMEs
  3. การดูแลการผลิตภาคเกษตรและรายได้เกษตรกร โดยติดตามและวางแผนแนวทางในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างใกล้ชิด ไปจนถึงเตรียมความพร้อมด้านการป้องกัน บรรเทา และแก้ไขปัญหาอุทกภัย เป็นต้น
  4. การขับเคลื่อนการส่งออกควบคู่ไปกับการเร่งรัดปรับโครงสร้างเศรษฐกิจทั้งภาคการผลิตและภาคบริการ
  5. การติดตาม เฝ้าระวัง และเตรียมมาตรการรองรับความเสี่ยงจากความผันผวนของระบบเศรษฐกิจและการเงินโลก
  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X