ประเด็นร้อนล่าสุดของตลาดหุ้นไทยหนีไม่พ้นการมาของรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีกระทรวงการคลังคนใหม่ ‘พิชัย ชุณหวชิร’ และมาตรการท้าชนอย่างการฟื้นคืนชีพกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (Long-Term Equity Fund) หรือ LTF
ข้อได้เปรียบของ LTF เมื่อเทียบกับกองทุนลดหย่อนอื่นๆ อย่างกองทุนรวมเพื่อการออม (SSF) และกองทุนรวมไทยเพื่อความยั่งยืน (TESG) ที่เห็นได้ชัดเจนประกอบด้วย มูลค่าการลดหย่อนที่สูงกว่า (5 แสนบาท), ระยะเวลาการลงทุนที่น้อยกว่า (7 ปีปฏิทิน ไม่ได้นับจากวันที่ซื้อ) และสัดส่วนหุ้นไทยที่มากกว่า (หุ้นไทยไม่ต่ำกว่า 65%)
ฟังดูน่าสนใจและเป็นประโยชน์กว่าทั้งต่อผู้ลงทุน (ผู้เสียภาษี) และตลาดทุนไทย คำถามคือ ถ้า LTF กลับมาจะช่วยให้หุ้นไทยปรับตัวขึ้นจริงๆ หรือเปล่า เม็ดเงินที่ไหลเข้ามากน้อยขนาดไหน และ LTF จะพาหุ้นไทยทะลุ 1,400 จุดได้ไหม
ในบทความนี้ผมนำข้อมูลและสถิติมาวิเคราะห์ให้นักลงทุนได้ทราบกันครับ
หากพิจารณาในเชิงคุณภาพ (Qualitative Analysis) สิ่งที่เห็นได้ชัดที่สุดคือ TESG ที่เปิดตัวในปี 2023 ได้รับความนิยมน้อยกว่ามากเมื่อเทียบกับ LTF ในอดีต โดยเม็ดเงินที่ไหลเข้าสุทธิของ TESG ในปี 2023 มีเพียง 5 พันล้านบาท เทียบกับ LTF ราว 2.5 หมื่นล้านบาท หรือต่างกัน 5 เท่า (คำนวณจากการเปลี่ยนแปลงของมูลค่าสินทรัพย์ภายใต้การจัดการ หรือ AUM)
ในส่วนของสาเหตุนั้นผมเชื่อว่ามูลค่าการลดหย่อนและระยะเวลาถือครองนั้นมีผลอย่างมากต่อการตัดสินใจของนักลงทุน รวมถึงการเปิดตัวของกองทุน TESG ที่ช้า หรือช่วงเดือนธันวาคม 2023 และ TESG มีการลงทุนในตราสารหนี้ไทยนอกเหนือไปจากหุ้น
หากพิจารณาในเชิงปริมาณ (Quantitative Analysis) อ้างอิงจากสถิติปี 2013-2024 ผมพบว่า ค่าสหสัมพันธ์ หรือ Pearson’s Correlation ระหว่าง SET Index กับเม็ดเงินของ LTF จะอยู่ที่ 0.79 หรือ 79% กล่าวคือ SET Index ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น กับเม็ดเงินของ LTF ที่ไหลเข้า สัมพันธ์กันถึง 79%
และหากคำนวณเฉพาะปี 2013-2019 ซึ่งเป็นปีที่มีเม็ดเงินไหลเข้าของ LTF ค่าสหสัมพันธ์จะเพิ่มขึ้นเป็น 0.85 หรือ 85% ถือว่าสูงมากทีเดียว
ประการต่อมาผมพบว่า ความอ่อนไหว (Sensitivity Analysis) ต่อทุกๆ การไหลเข้าของเม็ดเงินใหม่ 1 หมื่นล้านบาท จะช่วยสนับสนุน SET Index ได้ราว 18 จุด (คำนวณจากการเปลี่ยนแปลงของมูลค่าสินทรัพย์ภายใต้การจัดการ หรือ AUM)
เมื่อคำนวณจากเม็ดเงินที่ไหลเข้าเฉลี่ยของ LTF ที่ 2.5 หมื่นล้านบาท และ Correlation ในอดีตที่ 0.79 SET Index ควรจะปรับตัวขึ้นได้ราว 35-40 จุดหากมีการนำกลับมาของ LTF อีกครั้ง
ทั้งการวิเคราะห์เชิงคุณภาพและเชิงปริมาณต่างบ่งชี้ไปในทิศทางเดียวกันว่า ผลประโยชน์ต่อผู้ลงทุนของ LTF ได้เปรียบกว่า จูงใจกว่า และส่งผลโดยตรงต่อตลาดหุ้นไทยมากกว่า
ทั้งนี้ทั้งนั้น คำถามที่จะละเลยไปไม่ได้เลยคือ ‘เกณฑ์’ ของ LTF ตัวใหม่นี้จะยังจูงใจดังเช่นในอดีตหรือไม่ เพราะหากใช่ SET Index ก็ควรจะกลับไปยืนเหนือ 1,400 จุดได้อย่างไม่ยากเย็นนัก
แต่ถ้าหากว่าไม่และมีการเปลี่ยนเกณฑ์ LTF ให้ไม่เหมือนเดิม โดยเฉพาะประเด็นมูลค่าการลดหย่อนและสัดส่วนการลงทุนในหุ้นไทย ผลลัพธ์ที่ออกมาก็อาจจะซ้ำรอย TESG อีกก็เป็นได้ หรือกล่าวในภาษานักกลยุทธ์การลงทุนอาจเรียกได้ว่ามาตรการนี้มีผล ‘Neutral’ หรือ ‘เฉยๆ’ เป็นภาษาบ้านๆ นั่นเองครับ