วันนี้ (16 พฤษภาคม) ที่อาคารรัฐสภา สมคิด เชื้อคง รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ในฐานะโฆษกคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) นิรโทษกรรม พร้อมด้วย นิกร จำนง เลขาธิการ กมธ. แถลงผลการประชุมของวันนี้
สมคิดกล่าวว่า ที่ประชุมได้พิจารณาเรื่องที่กลุ่มทะลุฟ้ามายื่นหลังการเสียชีวิตของ เนติพร เสน่ห์สังคม หรือ บุ้ง ทะลุวัง โดยได้พิจารณาในหลายเรื่อง เนื่องจากเกี่ยวเนื่องกับรัฐบาล ซึ่ง กมธ. ได้เสนอความเห็นที่หลากหลาย จึงต้องนำเสนอไปยังรัฐบาลว่าจะแก้ปัญหาอย่างไร เนื่องจากกลุ่มทะลุฟ้าถามมา 4 ข้อ คือ
- ให้ตรวจสอบการเสียชีวิตของเนติพร
- ให้ดำเนินการใดๆ โดยให้ผู้ต้องขังได้รับสิทธิในการประกันตัว
- ชะลอการดำเนินคดี ไม่ว่าจะเป็นถอนฟ้อง ถอนคำร้องที่ร้องมา ซึ่งทั้ง 3 ข้อเป็นหน้าที่ของรัฐบาล
และ 4. เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับ กมธ. โดยตรงคือ การออกกฎหมายนิรโทษกรรม ฉะนั้น กมธ. จึงมีมติส่งหนังสือความคิดต่างไปยังรัฐบาล ซึ่งรัฐบาลจะประชุมกันในวันที่ 20 พฤษภาคม เวลา 15.00 น.
“เรื่องดังกล่าวเป็นความร้อนใจของ กมธ. ทุกคน และเชื่อว่าทุกคนคงไม่มีแค่คำว่าเสียใจ แม้ กมธ. ชุดนี้จะไม่มีอำนาจโดยตรงในการแก้ปัญหา แต่เราสามารถออกความเห็นไปยังรัฐบาลได้” สมคิดกล่าว
▪️แนะออกมติ ครม. คลี่คลายคดีการเมือง
ในวันเดียวกัน ก่อนการประชุม ชัยธวัช ตุลาธน สส. แบบบัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ในฐานะ กมธ. กล่าวถึงกรณีการเสียชีวิตของเนติพร โดยระบุว่า สะท้อนให้เห็นปัญหา ประเด็นคดีทางการเมืองยังเป็นเรื่องสำคัญในสังคมไทยปัจจุบัน รวมถึงคดีที่ถูกกล่าวหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ที่มักไม่ได้รับสิทธิประกันตัว ควรจะทบทวนว่าจะแก้ไขปัญหาอย่างไรให้ดีกับทุกฝ่าย
ทั้งนี้ ในระหว่างที่ยังไม่มีการตรา พ.ร.บ.นิรโทษกรรม รัฐบาลมีหลายเรื่องที่ทำได้ เช่น การมีนโยบายที่ชัดเจนว่าจะปรับปรุงกระบวนการยุติธรรมอย่างไร การลดความตึงเครียดในคดีทางการเมือง ตั้งแต่ชั้นตำรวจที่อยู่ในอำนาจของรัฐบาล การกลั่นกรองคดีต่างๆ ในชั้นตำรวจ สามารถทำให้ดีขึ้นได้ หรือการคืนสิทธิประกันตัวก็ทำได้ตั้งแต่ชั้นตำรวจ ถ้าตำรวจยึดหลักต้องเคารพสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน โดยไม่มีเหตุยกเว้นให้ประกันตัวไม่ได้
ชัยธวัชยังเห็นว่า คดีความจำนวนมากที่เกี่ยวข้องกับมาตรา 112 หรือแกนนำในคดีสำคัญ อาจเป็นเป้าหมายแรกในการส่งศาลฝากขังตลอด ไม่ให้ประกันตัวในชั้นตำรวจ จึงทำให้เกิดปัญหา แต่หากคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเป็นนโยบายที่ชัดเจนก็สามารถประสานอัยการได้ เพื่อรับมตินโยบายไปพิจารณาว่าจะสั่งฟ้องหรือไม่สั่งฟ้องในคดีที่ไม่เป็นประโยชน์สาธารณะ เพื่อสั่งไม่ฟ้อง หรือแม้แต่ฝ่ายตุลาการเองก็สามารถพูดคุยหารือกันได้ โดยไม่ใช่การแทรกแซงอำนาจตุลาการ