วันนี้ (9 พฤษภาคม) พชร อนันตศิลป์ ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) เปิดเผยว่า สบน. เตรียมเสนอหลักการออกพันธบัตรสกุลเงินตราต่างประเทศ (Foreign Currency Bond) ต่อกระทรวงการคลังแล้ว โดยวงเงินที่ศึกษาอยู่ที่ประมาณ 500-1,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ขณะที่ จินดารัตน์ วิริยะทวีกุล ที่ปรึกษาด้านหนี้สาธารณะ กล่าวว่า พันธบัตรดังกล่าวไม่น่าออกทันในปีนี้ แต่ยังย้ำว่าข้อดีของการออกพันธบัตรสกุลต่างประเทศคือทำให้มีเครื่องมือในการกู้เงินที่หลากหลายมากขึ้น (Diversify Instrument) ช่วยลดการแย่งเงินทุนในประเทศของภาคเอกชน (Crowding Out Effect) เป็นตัวช่วยหากเกิดปัญหาสภาพคล่องในประเทศก็ยังมีทางเลือกในการกู้ต่างประเทศได้ นอกจากนี้ยังเป็นอัตราอ้างอิง (Benchmark) ให้กับภาคเอกชนที่ต้องการออกไปกู้ต่างประเทศด้วย
อย่างไรก็ตาม ยังมีข้อจำกัดคือความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยน และทิศทางอัตราดอกเบี้ยของไทยอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าสหรัฐฯ ซึ่ง สบน. ต้องศึกษาเรื่องนี้ให้รอบคอบ
“จากการสำรวจพบว่านักลงทุนต่างชาติสนใจเรื่องพันธบัตรสกุลต่างประเทศของเรามาก เพราะเรื่องปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ทำให้ตอนนี้การลงทุนในภูมิภาคของเราเป็นที่สนใจจากนักลงทุนทั่วโลก ทุกคนที่เข้ามาก็พูดตรงกันหมด เราก็มองว่าทำแล้วออกไปอย่างสง่าผ่าเผยในตอนนี้ดีกว่ารอให้มีปัญหาแล้วค่อยทำ” พชรกล่าว
“ตอนนี้เรามีข้อมูลบ้างแล้ว ก็อยู่ระหว่างเสนอทางกระทรวงให้เห็นชอบในหลักการ แต่ในปีนี้คาดว่าจะยังไม่มีการออกพันธบัตรดังกล่าว โดยเบื้องต้นคาดว่าออกจะอยู่ประมาณ 500-1,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งนักลงทุนต่างประเทศ, World Bank หรือ Asian Development Bank (ADB) ก็บอกว่าไซส์ควรอยู่ที่ 500-1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ”
พชรเปิดเผยอีกว่า แม้แต่ประเทศที่แข็งแกร่งทางเศรษฐกิจก็ยังสนใจหรือได้ออกบอนด์สกุลเงินต่างประเทศ เช่น ประเทศฟิลิปปินส์ที่ได้ออกบอนด์เงินสกุลต่างประเทศราว 2,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เมื่อออกแล้วก็ทำให้มีเม็ดเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศเข้ามาในประเทศทันที ดังนั้นจึงเชื่อว่าการออกพันธบัตรครั้งนี้จะเป็นประโยชน์ต่อประเทศ โดยเฉพาะเรื่องของอันดับความน่าเชื่อถือ (Credit Rating)