×

อะไรที่ทำให้ชาวแอฟริกันผูกขาดแชมป์มาราธอน?

16.05.2024
  • LOADING...
มาราธอน

เอเลียด คิปโชเก, เคลวิน คิปตัม, เคเนนิซา เบคเคเล, ซิเซย์ เลมมา, เบนสัน คิปรูโต, เดนนิส คิเมตโต, ทิกิสต์ อัสเซฟา, บริจิด คอสเก และ รูธ เชปเงติช เหล่านี้คือชื่อนักวิ่งระยะไกลชั้นนำของโลก แต่ไม่ว่าชื่อที่กล่าวมาจะเป็นชายหรือหญิง พวกเขาและเธอมีจุดร่วมเดียวกันคือ การเป็นชาวแอฟริกัน

 

แม้แต่ ซีฟาน ฮัสซัน ยอดนักวิ่งระยะไกลหญิงแห่งเนเธอร์แลนด์ ก็ยังมีถิ่นกำเนิดอยู่ที่ เอธิโอเปีย

 

ยอดนักวิ่งระยะไกล ไม่ว่าจะเป็นระยะฮาล์ฟมาราธอนหรือระยะมาราธอนนั้น ล้วนแล้วแต่เป็นชาวแอฟริกัน หรือหากให้ระบุลึกลงไปกว่านั้นคือ พวกเขาและเธอล้วนแล้วแต่เป็นชาวแอฟริกันแถบแอฟริกาตะวันออก แถบเคนยา เอธิโอเปีย ยูกันดา และแทนซาเนีย ทั้งสิ้น

 

ดังนั้นจึงเกิดคำถามที่น่าสนใจว่า ‘เพราะอะไรเชื้อสายชนชาติจากประเทศแถบนี้ถึงทำผลงานได้ยอดเยี่ยมในการวิ่งระยะไกล จนสามารถผูกขาดความสำเร็จในกีฬาชนิดนี้ได้?’

 

แล้วอะไรถึงทำให้พวกเขาและเธอเหล่านี้วิ่งระยะไกลได้ยอดเยี่ยมชนิดที่ไม่มีชนชาติหรือเผ่าพันธุ์ใดในโลกทำได้ 

 

BORN to RUN

 

มาราธอน

 

ความสงสัยว่าทำไมชาวแอฟริกันแถบแอฟริกาตะวันออกถึงผูกขาดความยอดเยี่ยมในการทำสถิติโลกการวิ่งระยะไกลทั้งมาราธอน, ฮาล์ฟมาราธอน หรืออาจจะรวมไปถึงระยะ 10,000 เมตร และ 5,000 เมตรนั้น นับว่าไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะที่ผ่านมามีผู้คนมากมายทั้งนักวิทยาศาสตร์ นักเขียน นักข่าว หรือคอลัมนิสต์สายกีฬา พยายามค้นหาคำตอบในเรื่องนี้มาก่อนแล้ว

 

มีหลายปัจจัยที่ทำให้ชาวแอฟริกันเป็นนักวิ่งที่ยอดเยี่ยม หนึ่งในเรื่องที่ถูกพูดถึงกันเป็นอันดับแรกๆ คือ เรื่องของ ‘ยีน’ ที่ส่งต่อกันมาตามสายเลือดในเผ่าพันธุ์

 

ยีนตัวนี้ทำให้พวกเขามีร่างกายที่ผอมกว่าชนชาติอื่นๆ มีการบันทึกสถิติว่า นักวิ่งชาวแอฟริกามีน้ำหนักโดยเฉลี่ยน้อยกว่าชาวยุโรปอยู่ที่ 400 กรัม ซึ่งเหตุผลนี้เองที่ทำให้พวกเขาได้เปรียบในการวิ่งระยะไกลอยู่เล็กน้อย

 

จากข้อมูลค้นพบว่า นักวิ่งเคนยาส่วนใหญ่มาจากชนเผ่าพื้นเมืองชื่อคาเลจิน (Kalejin) ซึ่งมีนักวิทยาศาสตร์บางกลุ่มพยายามอธิบายว่า ยีนของเผ่าคาเลจินมีส่วนช่วยให้พวกเขาสามารถวิ่งได้อึดกว่ามนุษย์ทั่วไป

 

โดยนักวิทยาศาสตร์จาก National Institute of Health (NIH) พบว่า ยีนของคนแอฟริกันตะวันออกในประเทศเคนยา เอธิโอเปีย และยูกันดา มีความแตกต่างจากคนแอฟริกันตะวันตกอย่างไอวอรีโคสต์ เซเนกัล หรือกานา

 

ร่างกายของชาวแอฟริกันตะวันตกมียีนที่จะสร้างกล้ามเนื้อมัดใหญ่ที่แข็งแกร่งกว่าชาวแอฟริกันตะวันออก นั่นทำให้กล้ามเนื้อของพวกเขาสามารถระเบิดพลังงานสูงสุดในระยะสั้นๆ ได้ดีกว่า กล่าวคือพวกเขาจะสร้างกล้ามเนื้อได้ง่ายกว่า มัดใหญ่กว่า รับแรงปะทะได้มากกว่า แต่ในระยะยาวจะไม่อึดและทนทานเท่านักกีฬาแอฟริกันตะวันออก

 

นั่นพอจะอธิบายได้เบื้องต้นว่า ชาวแอฟริกันตะวันออกถึงพอจะเรียกได้ว่า ‘เกิดมาเพื่อวิ่ง’ อย่างแท้จริง

 

‘อิเตน’ ดินแดนศักดิ์สิทธิ์แห่งวิธีมาราธอน

 

 

นอกจากร่างกายที่เหมาะสมสำหรับการวิ่ง ซึ่งมาพร้อมกับยีนของชาวคาเลจินอย่างที่ได้กล่าวไปแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่ส่งเสริมพรสวรรค์ที่ได้มาพร้อมกับร่างกายของพวกเขาคือสภาพแวดล้อม

 

ชาวเคนยาจะมีศูนย์ฝึกวิ่งระยะไกลที่มีชื่อเสียงที่สุดในโลกอยู่ที่อีเตน เมืองเล็กๆ ในหุบเขาริฟต์วัลเลย์ ซึ่งสูงกว่าระดับน้ำทะเลถึง 2,500 เมตร

 

สถานที่แห่งนี้นับเป็นดินแดนศักดิ์สิทธิ์สำหรับนักวิ่งเลยก็ว่าได้ เพราะอิเตนไม่ใช่เพียงแค่สถานที่เท่านั้น แต่มันยังครอบคลุมไปถึงการฝึกซ้อม การกิน การอยู่ หรืออาจเรียกรวมได้ว่าเป็นวิถีชีวิตเลยทีเดียว

 

โดยมีคำนิยามเกี่ยวกับการใช้ชีวิตอยู่ในสถานที่แห่งนี้ว่าวิถีแห่งอิเตน หรือ Iten Way

 

โดยเมื่อ 15 ปีก่อน อาดาห์ราแนนด์ ฟินน์ นักวิ่งและนักเขียนจากสหราชอาณาจักร ได้เดินทางไปยังอิเตน เพื่อใช้ชีวิตอยู่ที่นั่นและเก็บข้อมูลเคล็ดลับความสำเร็จในการวิ่งของพวกเขา ก่อนจะกลายเป็นหนังสือ Running with the Kenyans ที่โด่งดังไปทั่วโลก

 

ซึ่งฟินน์สรุปว่า กุญแจสู่ความสำเร็จของบรรดานักวิ่งเคนยานั้นมีอยู่ 3 อย่าง นั่นคือ การดำรงชีวิต ภูมิประเทศ และสภาพแวดล้อม และทั้ง 3 ปัจจัยนั้นกลายเป็นสิ่งที่หาได้ เฉพาะที่อิเตนเท่านั้น

 

เคล็ดไม่ลับจากวิถีแห่งอิเตน

 

มาราธอน

 

นอกจาก อาดาห์ราแนนด์ ฟินน์ แล้ว ยังมีอีกหลายคนที่เคยเข้าไปใช้ชีวิตที่อิเตน ซึ่งปัจจุบันดึงดูดนักวิ่งมากหน้าหลายตาให้ไปเก็บตัวเพื่อเตรียมการแข่งขันที่นั่น ทำให้วิถีแห่งอิเตนไม่ใช่ความลับอีกต่อไป 

 

โดยครั้งหนึ่ง เนล โรฮาส นักมาราธอนหญิงชาวอเมริกัน ก็ได้ไปสัมผัสวิถีแห่งอิเตนเช่นกัน เนื่องจาก Nike และนิตยสาร RUN ได้ส่งเธอไปเข้าแคมป์เก็บตัวที่นั่น

 

โรฮาสได้จดบันทึกประสบการณ์ที่เธอได้สัมผัสตลอดเวลาที่อยู่ที่อิเตนก่อนนำมาเผยแพร่

 

โรฮาสบอกว่า ในเมืองอิเตนมีนักวิ่งอาชีพหมุนเวียนมาเก็บตัวกว่าปีละ 2,000 คน ส่วนใหญ่เป็นนักวิ่งท้องถิ่น พวกเขารวมตัวฝึกซ้อมเป็นกลุ่มเล็กๆ แบบไม่มีกฎกติกา ไม่มีข้อบังคับ

 

ที่น่าแปลกใจคือ ทุกคนรู้หน้าที่ของตัวเองเป็นอย่างดี รักษากฎและมีระเบียบวินัยเหมือนกับอยู่ในค่ายทหาร แต่ที่ต่างจากค่ายทหารจริงๆ ก็คือ ทุกคนดูมีความสุขแม้ต้องเจอโปรแกรมฝึกซ้อมอันแสนหฤโหด

 

นอกเวลาฝึกซ้อมพวกเขาจะอ่านหนังสือ พักผ่อน และนอนหลับ เพื่อเตรียมร่างกายสำหรับการฝึกซ้อมมื้อต่อไปอย่างมีระเบียบ พวกเขากินอยู่ หลับนอน เวลาเดิมทุกวัน และไม่เปลืองสมองกับความเครียดใดๆ ทั้งสิ้น

 

อย่างไรก็ตาม ภาวะเศรษฐกิจในแอฟริกาเป็นที่ขึ้นชื่อกันว่าแร้นแค้นและยากลำบาก แต่นั่นเองที่เป็นเคล็ดลับอีกอย่างหนึ่งของที่อิเตน เพราะพวกเขากินพืชผัก ผลไม้ แบบออร์แกนิกที่ปลูกกันเอง

 

ขณะที่อาหารท้องถิ่นซึ่งนักวิ่งทุกคนกินเป็นประจำคืออูกาลี (Ugali) เป็นอาหารจานหลักที่ทำมาจากแป้งข้าวโพดผสมน้ำ ซึ่งมีคาร์โบไฮเดรตสูงมาก

 

นอกจากนี้การที่อิเตนอยู่เหนือกว่าระดับน้ำทะเลถึง 2,500 เมตร ทำให้มีออกซิเจนเบาบางกว่าที่ราบลุ่มหรือตัวเมืองทั่วไป ซึ่งจะใช้ฝึกฝนความอึดและกล้ามเนื้อหัวใจได้เป็นอย่างดี

 

โดยโรฮาสเล่าว่า ในตอนแรกที่เธอซ้อมที่อิเตนเธอเหนื่อยง่ายกว่าปกติมาก แต่สำหรับคนท้องถิ่นหรือนักวิ่งที่ซ้อมที่นี่มานานแล้ว นี่คือสิ่งที่พวกเขาคุ้นเคย 

 

นั่นทำให้นักวิ่งชาวเคนยาที่ซ้อมวิ่งบนที่สูงแล้วลงไปแข่งที่ต่ำ สถิติวันแข่งจึงดีกว่าวันซ้อมเสมอ 

 

นอกจากนี้ด้วยภูมิประเทศของอิเตนยิ่งทำให้พวกเขาเลือกที่จะวิ่งแทนการใช้ยานพาหนะ โดยภาพที่ชินตาคือ การที่เด็กๆ วิ่งเท้าเปล่าไปโรงเรียนเป็นระยะทางไป-กลับราว 5-20 กิโลเมตร นั่นจึงเหมือนกับการซ้อมวิ่งอยู่ตลอดเวลา

 

นี่คือส่วนหนึ่งจากบันทึกของโรฮาส และหากอ่านดีๆ จะพบว่า สิ่งที่เธอเล่ามาสอดคล้องกับใจความจากหนังสือ Running with the Kenyans ของ อาดาห์ราแนนด์ ฟินน์ ที่พูดถึงไปก่อนหน้านี้ นั่นคือมีเรื่องของการดำรงชีวิต ภูมิประเทศ และสภาพแวดล้อม มาเกี่ยวข้องนั่นเอง

 

พรสวรรค์ผสานพรแสวง

 

 

อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ชาวคาเลจินหรือชาวแอฟริกันตะวันออกทุกคนจะเป็นนักวิ่งที่ยอดเยี่ยม 

 

แม้จะเห็นชื่อนักวิ่งแอฟริกันมากมายผลัดกันสร้างความสำเร็จในการแข่งขันรายการต่างๆ แต่นั่นก็เหมือนจะเป็นเพียงยอดภูเขาน้ำแข็งเท่านั้น เพราะในความเป็นจริงแล้วยังมีนักวิ่งชาวแอฟริกันอีกหลายคนที่ไม่ประสบความสำเร็จในเส้นทางสายนี้

 

นักวิ่งชาวแอฟริกันหลายคนไม่ได้ตัดสินใจมาวิ่งเพราะระยะไกล แต่เพราะใจรัก บางคนตัดสินใจมาวิ่งเพราะแค่ทำมันได้ดี และการวิ่งเป็นลู่ทางให้พวกเขาลืมตาอ้าปากได้

 

อย่างที่เรียนไปก่อนหน้านี้ว่า ภาวะเศรษฐกิจที่แอฟริกานั้นไม่ดีนัก ดังนั้นการมาเป็นนักวิ่งแล้วคว้าแชมป์ในรายการต่างๆ เพื่อรับเงินรางวัลนั้น ถือเป็นลู่ทางที่นักวิ่งหลายคนใช้เพื่อเปลี่ยนแปลงชีวิตตัวเอง หากทำผลงานได้ดีและสม่ำเสมอเพียงพอก็อาจมีสปอนเซอร์สนับสนุนด้วย

 

ทำให้นักวิ่งชนพื้นเมืองหลายๆ คนตัดสินใจเดินไปในเส้นทางนี้ แต่ก็มีไม่น้อยที่ไม่เข้าเส้นชัยของชีวิตตามที่พวกเขาหวังไว้ 

 

นักวิ่งมาราธอนที่ประสบความสำเร็จนั้น นอกจากพรสวรรค์แล้ว ยังต้องมุมานะฝึกซ้อมอย่างหนักด้วย

 

ซึ่งในเรื่องนี้นักวิ่งที่เป็นตัวอย่างที่ดีที่สุดเห็นจะหนีไม่พ้น เอเลียด คิปโชเก เพราะแม้จะเคยถือครองสถิติโลกแล้ว เขาก็ยังมีแพสชันในการวิ่งอย่างเต็มเปี่ยมและซ้อมหนักแทบจะตลอดเวลา

 

ดังนั้นลำพังแค่เกิดเป็นชาวแอฟริกันไม่เพียงพอที่จะทำให้พวกเขาผูกขาดความสำเร็จในมาราธอนได้ แต่พวกเขาต้องทุ่มเท มีวินัย และฝึกซ้อมอย่างหนักด้วย

 

นั่นเองถึงจะทำให้พวกเขาก้าวขึ้นสู่แชมป์มาราธอนได้

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X