วันนี้ (8 พฤษภาคม) จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยกับผู้สื่อข่าว กรณีกระแสข่าวลาออกของ กฤษฎา จีนะวิจารณะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ว่าทราบจากข่าวแล้ว แต่ส่วนตัวยังไม่ได้โทรหากฤษฎา พร้อมทบทวนการแบ่งงานใหม่
เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า ได้คุยกับ พิชัย ชุณหวชิร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง หรือยังเกี่ยวกับกรณีนี้ โดยจุลพันธ์ตอบว่า ให้รอฟังจากท่านเอง (พิชัย) พร้อมระบุว่า ภารกิจของกระทรวงการคลังมีกว้างมาก และข้ามไปถึงภารกิจของรองนายกรัฐมนตรี
นอกจากนี้ยังปฏิเสธว่า สาเหตุที่กฤษฎาลาออกไม่น่ามาจากการหลีกเลี่ยงโครงการดิจิทัลวอลเล็ต เนื่องจากให้ความร่วมมือมาโดยตลอด
ขณะที่ เผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวถึงกระแสข่าวการลาออกของกฤษฎาว่า เห็นตามข่าวเท่านั้น แต่ยังไม่รู้ข้อเท็จจริง
ส่วนประเด็นปัญหาการแบ่งงาน ตนไม่ทราบจริงๆ และยังไม่ได้ยกหูคุยกับกฤษฎา
สำหรับความเป็นไปได้ที่มีการแบ่งงานใหม่ เผ่าภูมิกล่าวว่า ไม่ใช่หน้าที่ของตน เป็นอำนาจของพิชัยจะเป็นคนดูเรื่องความเหมาะสม
ท่ามกลางกระแสข่าวเกี่ยวกับการคาดเดาว่าอาจมีปมมาจากอำนาจหน้าที่และการแบ่งงานที่ลดลง
ย้อนกลับไปในยุคที่ เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ยังดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กฤษฎามีอำนาจในการสั่งการ การอนุญาต การอนุมัติ การกำกับดูแล และการปฏิบัติราชการหรือดำเนินการอื่นที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง โดยส่วนราชการในสังกัด ดังนี้
- กรมบัญชีกลาง
- กรมสรรพสามิต
- สำนักงานปลัดกระทรวงการคลัง
ส่วนเรื่องที่เป็นราชการอันเกี่ยวกับงานของรัฐวิสาหกิจในสังกัด ดังนี้
- ธนาคารกรุงไทย
- ธนาคารออมสิน
- ธนาคารอาคารสงเคราะห์
- ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย
- บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม
- องค์การสุรา
- การยาสูบแห่งประเทศไทย
- สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล
แต่ในปัจจุบัน กฤษฎามีส่วนราชการในสังกัดเพียงสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะเท่านั้น และดูแลงานของรัฐวิสาหกิจและหน่วยงานของรัฐในกำกับ ดังนี้
- การยาสูบแห่งประเทศไทย
- สถาบันคุ้มครองเงินฝาก
- บริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน)
- สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย
- สำนักงานความร่วมมือพัฒนาเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน (องค์การมหาชน)