×

สนามงู สนามกอล์ฟกลางรันเวย์ของกองทัพอากาศที่รัฐอยากเรียกคืน

06.05.2024
  • LOADING...
สนามงู

ถ้าท่านขึ้นเครื่องบินที่ดอนเมือง เวลาเครื่องบินออกตัว โดยปกติแล้วก็จะวิ่งออกจากอาคารผู้โดยสารแล้วเลี้ยวซ้าย เคลื่อนที่ผ่านแท็กซี่เวย์ไปเรื่อยๆ จนเลี้ยวขวาไปขึ้นบินบนรันเวย์ ระหว่างที่เครื่องบินขึ้นนั้น ถ้ามองไปทางซ้ายก็จะเห็นรถกอล์ฟวิ่งหรือนักกอล์ฟกำลังเล่นกอล์ฟกันอยู่ในสนามที่ชื่อว่าสนามกอล์ฟกานตรัตน์ หรือที่เราเรียกกันว่า ‘สนามงู’

 

เหตุที่มีสนามกอล์ฟตรงนี้ก็เพราะว่า ก่อนที่จะสร้างรันเวย์ที่ 2 ในฝั่งทหารนั้น พื้นที่แถบนี้เคยเป็นสนามกอล์ฟมาก่อน พอมีการสร้างรันเวย์ที่ 2 ก็ตัดพื้นที่สนามกอล์ฟบางส่วนออกไป แต่ยังคงเก็บสนามกอล์ฟเอาไว้ตรงกลางรันเวย์

 

เรื่องที่ว่าทำไมทหารถึงชอบเล่นกอล์ฟกันนัก หรือทำไมถึงมีสนามกอล์ฟเต็มไปหมดตามค่ายทหารต่างๆ นั้น คงเป็นเรื่องที่ต้องไปคาดเดากันเอาเอง แต่ปัญหาของเรื่องนี้ก็คือสนามกอล์ฟมันมาอยู่ในพื้นที่กลางรันเวย์ทั้งสอง ซึ่งหลายคนมองว่ามีความเสี่ยง โดยเฉพาะเรื่องความปลอดภัย

 

ซึ่งตรงนี้กองทัพอากาศชี้แจงมาหลายครั้ง โดยยืนยันว่า ความเสี่ยงแม้จะมีแต่ถือว่ายอมรับและจัดการได้ โดยเมื่อครั้งที่ประเทศไทยถูกองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ หรือ ICAO ติดธงแดงให้กับการบินของไทยนั้น ก็มีการเข้ามาตรวจพื้นที่สนามงู และนำมาสู่การปรับปรุงต่างๆ เช่น การย้ายคลับเฮาส์ออกไป หรือการมีข้อกำหนดว่าต้องตรวจสอบสัมภาระของนักกอล์ฟก่อนเข้าพื้นที่

 

กองทัพอากาศยังแจ้งว่า มีความพยายามในการจัดการความปลอดภัยอย่างต่อเนื่อง เช่น ตัดแต่งต้นไม้ไม่ให้สูงเกินไปนักจนเป็นที่อยู่ของนกหรือบดบังสายตาของเจ้าหน้าที่ควบคุมการจราจรทางอากาศ มีการติดสัญญาณไฟเพื่อบอกนักกอล์ฟว่าเครื่องบินกำลังจะขึ้นลง ให้หยุดเล่นหรือหยุดขับรถกอล์ฟชั่วคราว ไปจนถึงให้ความมั่นใจว่าตั้งแต่ตั้งสนามกอล์ฟมายังไม่เคยมีเหตุที่นักกอล์ฟตีลูกกอล์ฟไปโดนเครื่องบิน

 

นอกจากนั้นยังมีประเด็นเรื่องความมั่นคง โดยระบุว่า พื้นที่นี้เป็นพื้นที่ที่จะตั้งระบบอาวุธเพื่อป้องกันฐานบินในกรณีที่เกิดสงคราม การเป็นสนามกอล์ฟก็ทำให้เป็นพื้นที่ที่กองทัพอากาศควบคุมได้ และถ้าเกิดสงครามก็สามารถบริหารจัดการได้ง่าย ซึ่งเป็นเหตุผลเดียวกับการสงวนพื้นที่ในสนามกอล์ฟธูปะเตมีย์เอาไว้

 

และสุดท้ายต้องยอมรับว่า สนามงูเป็นสนามกอล์ฟหนึ่งในไม่กี่แห่งของโลกที่มาอยู่ระหว่างสองรันเวย์ ทำให้มีความพิเศษไม่เหมือนใคร จึงควรอนุรักษ์และรักษาเอาไว้เป็นเอกลักษณ์ของประเทศ

 

แต่ในอีกด้านหนึ่งก็มีหลายฝ่ายแสดงความกังวล โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องความปลอดภัย เพราะกองทัพอากาศก็บอกเองว่ามันมีหลายเหตุการณ์ที่นักกอล์ฟไม่ได้สนใจคำเตือนจากไฟสนาม และการที่ไม่เคยเกิดเหตุในอดีตก็ไม่ได้รับประกันว่าจะไม่มีเหตุของการที่นักกอล์ฟตีลูกกอล์ฟไปโดนเครื่องบินในอนาคต รวมไปถึงถ้าเครื่องบินเกิดไถลออกนอกรันเวย์ก็อาจจะมากวาดนักกอล์ฟตายกันเป็นจำนวนมากได้ ยังไม่นับการจัดการการจราจรทางอากาศที่ถ้าไม่มีต้นไม้เลยก็จะดีกว่า เพราะถึงจะตัดแต่งกิ่งแล้วก็ยังบังอยู่ดี

 

โดยเฉพาะอย่างยิ่งความคิดของฝ่ายที่ไม่สบายใจก็คือ ทำไมจะต้องมีสนามกอล์ฟอยู่ตรงกลางระหว่างสองรันเวย์ ทั้งที่พื้นที่ใกล้ๆ กันก็มีสนามกอล์ฟธูปะเตมีย์อยู่แล้ว ซึ่งกองทัพอากาศก็แสดงเจตนาว่าไม่ได้อยากจะเปลี่ยนเป็นสวนสาธารณะ ดังนั้นก็น่าจะไปร่วมเล่นกอล์ฟกันในพื้นที่เดียวกันได้ ไม่น่าจะต้องมีถึงสองสนามกอล์ฟใกล้ๆ กัน

 

เรื่องมันเข้มข้นก็ตรงที่บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ AOT ที่เข้ามาให้การกับคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการถ่ายโอนธุรกิจของกองทัพไปอยู่ในความดูแลของหน่วยงานอื่น หรือย้ายไปสถานที่อื่นที่เหมาะสม ผู้แทนราษฎรตั้งขึ้นมาเพื่อดูแลและศึกษาการจัดการธุรกิจกองทัพนี่แหละ เพราะทาง AOT ยืนยันค่อนข้างหนักแน่นว่า ถ้าได้พื้นที่ของสนามงูไปพัฒนาท่าอากาศยานดอนเมืองจะทำให้ขีดความสามารถของท่าอากาศยานดอนเมืองเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะแนวคิดของการสร้าง Parallel Taxiway เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับอากาศยาน เพราะจะช่วยให้สามารถบริหารจัดการเครื่องบินให้เข้าไปยังอาคารผู้โดยสารได้เร็วขึ้น

 

AOT บอกว่า ปัจจุบันท่าอากาศยานดอนเมืองรองรับเครื่องบินได้ 53 เที่ยวบินต่อชั่วโมง แต่คำนวณแล้ว ถ้าเพิ่มขีดความสามารถให้รองรับเพิ่มขึ้น 1 เที่ยวบิน จะเพิ่มผู้โดยสารที่มาใช้งานได้สูงสุด 1 ล้านคนต่อปี ดังนั้นขอเพิ่มแค่ 3 เที่ยวบินต่อชั่วโมงเท่านั้น ก็จะได้ผู้โดยสารเพิ่มขึ้นสูงสุด 3 ล้านคนต่อปี สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจถึงปีละ 6 พันล้านบาท เมื่อคิดจากค่าตั๋วคนละ 2 พันบาท ซึ่ง AOT ถือว่าเยอะมาก และจะสร้างโอกาสต่อเนื่องให้กับกรุงเทพฯ และเมืองอื่นๆ ที่เที่ยวบินเหล่านี้จะไปลงได้อีกมาก ดังนั้นผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจากสนามงูจะคุ้มค่าในมุมมองของ AOT

 

แต่ในทางกลับกันกองทัพอากาศก็บอกว่า ถ้ารัฐบาลจะให้ AOT เช่าใช้ก็ได้ แต่กองทัพอากาศขอปีละ 100 ล้านบาท ถ้าให้เช่า 30 ปีก็เป็นเงิน 3 พันล้านบาท ซึ่งตัวเลขค่อนข้างเยอะจนน่าตกใจ แต่กองทัพอากาศก็บอกว่าตัวเลขนี้เป็นเงินเดือนของแคดดี้ 264 คน และพนักงาน 51 คน ไปแล้วปีละ 75 ล้านบาท และเป็นกำไรที่กองทัพอากาศได้ในแต่ละปี และส่งเข้ากองทุนสวัสดิการอีก 5.5 ล้านบาท นอกนั้นก็เป็นค่าใช้จ่ายต่างๆ โดยเฉพาะค่าก่อสร้าง Sport Complex ใหม่ที่กองทัพอากาศต้องการให้ AOT สร้างให้ทดแทนสนามงู

 

ซึ่งตรงนี้ค่อนข้างน่าสงสัยในตรรกะความคิดของการคำนวณมูลค่านี้ของกองทัพอากาศ เนื่องจากถ้าจะให้ AOT ชดเชยรายได้ของแคดดี้และพนักงานปีละ 75 ล้านบาทเป็นเวลา 30 ปี นั่นแปลว่า AOT จ่ายเงินให้คนมานั่งเฉยๆ เดือนละเกือบ 20,000 บาทไปอีก 30 ปีหรือ และถ้า AOT บอกว่ายินดีรับคนเหล่านี้ไปเป็นพนักงาน AOT ทั้งหมด นอกจากจะได้เงินเดือนดีกว่านี้แล้ว ก็แปลว่าไม่ต้องมีเงินจำนวนนี้ไปจ่ายกองทัพอากาศ และที่สำคัญ ไม่เข้าใจว่ากองทัพอากาศจะไปเอาเงินเดือนที่ต้องจ่ายให้พนักงานของตัวเองมาเรียกกับ AOT เพื่อเข้ากระเป๋าใครได้อย่างไร

 

และที่สำคัญ ที่ดินของกองทัพอากาศตรงนี้ก็คือที่ราชพัสดุ ซึ่งตาม พ.ร.บ.ที่ราชพัสดุ พ.ศ. 2562 นั้น กระทรวงการคลังคือผู้ถือกรรมสิทธิ์ พูดง่ายๆ คือตามกฎหมายแล้วเจ้าของคือกระทรวงการคลัง ไม่ใช่กองทัพอากาศ ดังนั้นถ้า AOT จะมาใช้งานก็ควรจะต้องจ่ายค่าเช่าให้กรมธนารักษ์แทนที่จะเป็นกองทัพอากาศ นั่นหมายถึงโดยหลักแล้วรัฐบาลควรเรียกคืนพื้นที่สนามงูแล้วไปทำสัญญาเช่ากับ AOT มากกว่า เหมือนที่ AOT จ่ายค่าเช่าที่สนามบินดอนเมืองให้กับกรมธนารักษ์ กองทัพอากาศไม่ควรจะมีสิทธิในการมาเรียกเก็บเงินตรงนี้

 

แต่พอกองทัพอากาศชนมาแบบนี้ก็เลยเกิดเสียงวิจารณ์อย่างมาก ซึ่งก็ไม่แน่ใจว่ากองทัพอากาศคิดอะไรอยู่ถึงมาเรียกเงินถึง 3 พันล้านบาท แต่เท่าที่ฟังเหตุผลของการเรียกเงินดูมันไม่ค่อยสมเหตุสมผลนัก และมันทำให้หลายคนจากที่ไม่มีความเห็นกับกรณีนี้มากนักก็เริ่มจะเห็นว่า ถ้าที่ดินตรงนี้มีมูลค่าขนาดนี้กองทัพอากาศจะถือไว้ทำไม ผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นมันอยู่ตรงไหน และเอาเข้าจริง เพราะจำนวนเงินมูลค่าปีละ 100 ล้านบาทนี่หรือไม่ที่ทำให้กองทัพอากาศสู้ยิบตาไม่อยากจะคืนสนามงูให้รัฐบาลเอาไปพัฒนาการบินของชาติ

 

จนมีบางคนแซะแรงๆ ว่า ถ้าตอนนั้นกองทัพอากาศหวงแหนน่านฟ้าไทยเหมือนที่หวงแหนสนามงู MiG-29 ของเมียนมาคงจะไม่มารุกล้ำน่านฟ้าไทยแล้วมั้ง

 

ภาพ: Yellowj via ShutterStock

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X