×

ชัยธวัชเผย กมธ.นิรโทษกรรม เห็นพ้องตั้งคณะกรรมการกลั่นกรองคดีที่เข้าข่าย แนะรัฐบาล ระหว่างนี้ไม่ควรดำเนินคดีการเมืองเพิ่ม

โดย THE STANDARD TEAM
03.05.2024
  • LOADING...
กมธ.นิรโทษกรรม

วานนี้ (2 พฤษภาคม) ที่อาคารรัฐสภา ชัยธวัช ตุลาธน สส. แบบบัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ในฐานะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) นิรโทษกรรม เปิดเผยความคืบหน้าว่า ในวันนี้คณะกรรมาธิการฯ ได้มีข้อสรุปร่วมกันว่าจะใช้แนวทางการ ‘ตั้งคณะกรรมการ’ ขึ้นมาเป็นผู้พิจารณากลั่นกรองคดีที่เข้าข่ายการนิรโทษกรรม แทนการกำหนดฐานความผิดหรือเหตุการณ์ใดเหตุการณ์หนึ่งเป็นการเฉพาะ เพราะหากทำเช่นนั้นจะไม่สอดคล้องกับปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองไทยที่สืบเนื่องมาตั้งแต่ปี 2548 จนถึงปัจจุบัน ซึ่งมีคดีความจำนวนมาก และมีลักษณะฐานความผิดที่หลากหลายและซับซ้อน ในทางปฏิบัติ การตั้งคณะกรรมการขึ้นมาพิจารณากลั่นกรองจึงน่าจะเป็นรูปแบบที่เหมาะสมและสอดคล้องกับความเป็นจริงมากกว่า 

 

โดยหลังจากนี้คณะกรรมาธิการฯ จะพิจารณากันต่อไปถึงเรื่องที่มา องค์ประกอบ และอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการว่าควรจะเป็นอย่างไร เช่น ใครควรจะเป็นผู้แต่งตั้งคณะกรรมการ รัฐบาลหรือสภา องค์ประกอบของคณะกรรมการควรมาจากภาคส่วนใดบ้างจึงจะได้รับการยอมรับจากคนทั้งสังคม คณะกรรมการควรมีอำนาจในการออกคำสั่งนิรโทษกรรมได้ทันที หรือควรต้องดำเนินการผ่านตำรวจและกระบวนการยุติธรรม ฐานความผิดประเภทใดบ้างที่ควรยกเว้นไม่นิรโทษกรรมหรือนิรโทษกรรมแบบมีเงื่อนไข 

 

รวมถึงจะมีการเปิดช่องให้ประชาชนที่ตกหล่นจากการนิรโทษกรรมสามารถยื่นเรื่องเข้ามาพิจารณาเพิ่มเติมได้โดยตรงหรือไม่ รายละเอียดเหล่านี้จะมีความชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งถือเป็นแนวโน้มที่ดีของกระบวนการนิรโทษกรรมประชาชน

 

อย่างไรก็ตามชัยธวัชมองว่า สถานการณ์การดำเนินคดีทางการเมืองในปัจจุบันยังไม่มีแนวโน้มที่ดีขึ้นมากนัก โดยระหว่างที่คณะกรรมาธิการฯ กำลังพิจารณาศึกษาการออกกฎหมายนิรโทษกรรม มีอีกหลายกลไกที่รัฐบาลนายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน สามารถดำเนินการได้ทันทีเพื่อบรรเทาสถานการณ์ เช่น ควรมีนโยบายที่ชัดเจนไปยังสำนักงานตำรวจแห่งชาติว่า การปฏิบัติต่อพี่น้องประชาชนที่แสดงออกทางการเมืองจะต้องยึดหลักสิทธิเสรีภาพ ไม่ใช้อำนาจนอกกฎหมาย ไม่ตีความกฎหมายอย่างเคร่งครัดหรือตึงเกินไปจนทำให้มีคดีความเพิ่มขึ้น รวมถึงไม่นำเหตุการณ์ในอดีตมาตั้งข้อหากับประชาชนเพิ่มเติมอีก 

 

ขณะเดียวกันคณะรัฐมนตรีควรมีมติส่งความเห็นไปยังฝ่ายอัยการว่า คดีความที่เกี่ยวข้องกับการแสดงความคิดเห็นที่แตกต่างกันทางการเมืองควรจะมีการกลั่นกรองและไม่สั่งฟ้องขึ้นไปสู่ชั้นศาล หากไม่ได้เป็นกรณีที่ไม่สมควรแก่เหตุหรือรุนแรงเกินไป ซึ่งมาตรา 21 ของ พ.ร.บ.องค์กรอัยการและพนักงานอัยการ ได้เปิดช่องไว้แล้วว่า อัยการสามารถสั่งไม่ฟ้องคดีที่เห็นว่าไม่เป็นประโยชน์แก่สาธารณชนได้ 

 

ดังนั้นหากรัฐบาลส่งสัญญาณที่ชัดเจนว่าต้องการจะลดบรรยากาศความขัดแย้งทางการเมือง สถานการณ์การดำเนินคดีทางการเมืองก็จะทุเลาลงไปได้โดยไม่จำเป็นต้องรอกฎหมายนิรโทษกรรมเพียงอย่างเดียว

 

“ผมเห็นช่องหรือกลไกที่อำนาจของฝ่ายบริหารสามารถแก้ไขปัญหาได้ ซึ่งรัฐบาลควรจะพิจารณา เพื่อลดเงื่อนไขความขัดแย้งทางการเมืองลง และเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่ประชาชนคาดหวัง หลังจากการมีรัฐบาลชุดใหม่ที่ไม่ได้มาจากคณะรัฐประหาร” ชัยธวัชกล่าว

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X