“ ร้อน จะตายอยู่แล้ว” เนื้อเพลงส่วนหนึ่งที่ขับร้องโดย ‘ผ่องศรี วรนุช’ ผู้ที่ถูกขนานนามว่าเป็น ‘ราชินีลูกทุ่ง’ คนแรก คือบทเพลงที่ผู้คนในสังคมมักใช้อธิบายถึงสภาพอากาศที่ร้อนจัดของประเทศไทย
ย้อนกลับไปเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา กรมอุตุนิยมวิทยาได้ประกาศว่าประเทศไทยเริ่มเข้าสู่ฤดูร้อนอย่างเป็นทางการแล้วตั้งแต่วันที่ 21 กุมภาพันธ์ โดยในตอนกลางวันจะมีอุณหภูมิสูงมากกว่า 35 องศาเซลเซียส และคาดว่าฤดูร้อนจะสิ้นสุดประมาณกลางเดือนพฤษภาคม 2567
นพ.วีรวัฒน์ มโนสุทธิ
นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ ในฐานะโฆษกกรมควบคุมโรค
THE STANDARD สนทนากับ นพ.วีรวัฒน์ มโนสุทธิ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ ในฐานะโฆษกกรมควบคุมโรค ถึงสภาพอากาศที่ร้อนจัดจนส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตจริง ซึ่งจากสถิติย้อนหลัง 7 ปี พบว่ามีผู้เสียชีวิตแล้ว 169 คน และในปีนี้มีผู้เสียชีวิตแล้ว 30 คน
นพ.วีรวัฒน์ กล่าวว่า อากาศร้อนในช่วงนี้เป็นอากาศร้อนตามฤดูกาล ช่วงที่อากาศร้อนที่สุดมีระยะเวลาทั้งสิ้น 4 เดือน คือ เดือนมีนาคม, เมษายน, พฤษภาคม และมิถุนายน โดยเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพมหานครมีความชื้นค่อนข้างสูง เนื่องจากอยู่ใกล้ทะเล
ดังนั้นมีโอกาสที่ประชาชนในพื้นที่จะรู้สึกว่าร้อนกว่าอุณหภูมิปกติ หากเราเทียบกับความร้อนในพื้นที่ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (อีสาน) จะรับรู้ได้ถึงความรู้สึกร้อนที่แตกต่างกัน
นพ.วีรวัฒน์ กล่าวต่อว่า กรมควบคุมโรคได้รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับผู้ที่เสียชีวิตในช่วง 4 เดือน (มีนาคม, เมษายน, พฤษภาคม และมิถุนายน) ที่มีอากาศร้อนจัด พบว่ามีตัวเลขผู้เสียชีวิตทุกปี จากข้อมูลย้อนหลัง 7 ปี ตั้งแต่ปี 2561 – ปัจจุบัน มีทั้งสิ้น 169 คน จำแนกได้ดังนี้
- ปี 2561: 18 คน มีอุณหภูมิสูงสุดเฉลี่ย 38.1 องศาเซลเซียส
- ปี 2562: 57 คน มีอุณหภูมิสูงสุดเฉลี่ย 40.0 องศาเซลเซียส
- ปี 2563: 12 คน มีอุณหภูมิสูงสุดเฉลี่ย 39.5 องศาเซลเซียส
- ปี 2564: 7 คน มีอุณหภูมิสูงสุดเฉลี่ย 39.2 องศาเซลเซียส
- ปี 2565: 8 คน มีอุณหภูมิสูงสุดเฉลี่ย 38.3 องศาเซลเซียส
- ปี 2566: 37 คน มีอุณหภูมิสูงสุดเฉลี่ย 40.6 องศาเซลเซียส
- ปี 2567: 30 คน มีอุณหภูมิสูงสุดเฉลี่ยเกิน 40.0 องศาเซลเซียส (2 เดือน)
กรมควบคุมโรครวบรวมสถิติผู้ที่เสียชีวิตในปี 2567 เฉพาะเดือนมีนาคมและเมษายน พบว่ามีผู้เสียชีวิตไปแล้วทั้งสิ้น 30 คน ซึ่งส่วนใหญ่เสียชีวิตด้วยอาการ ‘ฮีทสโตรก’ (Heatstroke) ขณะที่ระยะเวลาที่เหลืออีก 2 เดือน คือ เดือนพฤษภาคม และมิถุนายน กรมควบคุมโรคต้องเฝ้าระวังด้วยการรณรงค์และประชาสัมพันธ์ข้อมูลให้ประชาชนทั่วไปได้รับทราบ เพื่อลดปริมาณการเสียชีวิตจากสภาพอากาศที่ร้อนจัดให้ได้มากที่สุด
โดยเฉพาะประชาชนที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง เช่น เด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบ, ผู้สูงอายุ, ผู้ที่ทำงานกลางแดด, ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง โรคความดันโลหิตสูง, ผู้ที่มีภาวะอ้วน หรือผู้ที่พักผ่อนไม่เพียงพอ ต้องเฝ้าระวังตัว
อย่างไรก็ตาม กรมควบคุมโรคได้เฝ้าระวังมาตั้งแต่ช่วงต้นปี เมื่อเข้าสู่ฤดูร้อนมีการประชาสัมพันธ์ให้ความรู้กับประชาชน รวมถึงได้แนะนำการปฏิบัติตัวสำหรับผู้ที่สงสัยว่าจะเป็นผู้ป่วยฮีทสโตรก สอนการปฐมพยาบาลเบื้องต้นที่ถูกต้อง เพื่อลดภาวะทุพพลภาพ หรือเสียชีวิตได้
อาการแรกเริ่ม ‘ร้อนจนตาย’ เป็นอย่างไร
นพ.วีรวัฒน์ อธิบายอาการแรกเริ่มของผู้ป่วยจากสภาพอากาศที่ร้อนจัดจนทำให้ถึงแก่ความตายว่า โดยปกติแล้วอุณหภูมิของคนทั่วไปควรอยู่ที่ 37 องศาเซลเซียส มีสมองเป็นตัวควบคุม มีระบบสั่งการให้ร่างกายได้ปรับตัว ซึ่งหากร่างกายได้สัมผัสกับอุณหภูมิที่สูงขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะอุณหภูมิที่สูงเกิน 40 องศาเซลเซียส จะทำให้ระบบการควบคุมในร่างกายสูญเสียไปจนทำให้เกิดภาวะที่ไม่สามารถระบายความร้อนออกจากร่างกายได้ ร่างกายเกิดการรวนและปล่อยสารเคมีบางอย่างที่ส่งผลเสียต่ออวัยวะภายในร่างกายออกมา
ตัวอย่างอาการ เช่น หัวใจเต้นเร็ว หรือหัวใจผิดจังหวะ หายใจเร็ว สมองขาดเลือด อาการซึม เกิดการเกร็ง หมดสติ หรือหากมีความดันโลหิตสูงอาจส่งผลให้เกิดเส้นเลือดในสมองแตก รวมถึงภาวะตับอักเสบ หรือไตวายได้
ไม่อยากร้อนตายต้องทำอย่างไร
นพ.วีรวัฒน์ แนะนำว่า สิ่งแรกที่ควรทำคือต้องลดโอกาสในการออกกลางแจ้งในช่วงที่อากาศร้อนจัด โดยเฉพาะในช่วงเวลาตั้งแต่ 11.00-15.00 น. แต่หากต้องอยู่กลางแจ้งควรสวมเสื้อผ้าที่สามารถระบายความร้อนได้ดี หลีกเลี่ยงการสวมเสื้อผ้าสีเข้มจัด เพื่อลดการกักเก็บความร้อน
เจ้าหน้าที่การไฟฟ้าฯ กำลังดื่มน้ำเปล่า ขณะหลบแดดร้อนท่ามกลางอุณหภูมิที่พุ่งสูง
ภาพ: ฐานิส สุดโต
หากสูญเสียเหงื่อจำนวนมาก ควรดื่มน้ำบ่อยๆ ทุก 2 ชั่วโมง งดดื่มชา กาแฟ หรือแอลกอฮอล์ รวมถึงน้ำหวานที่มีรสหวานจัด เนื่องจากจะยิ่งทำให้ร่างกายสูญเสียน้ำมากยิ่งขึ้น และทำให้ร่างกายระบายความร้อนได้ไม่ดี
นอกจากนี้ยังมีโรคที่ต้องเฝ้าระวังนอกเหนือไปจากภาวะฮีทสโตรก คือ โรคที่เกี่ยวกับทางเดินอาหาร เช่น โรคอุจจาระร่วง โดยเกิดขึ้นจากเชื้อแบคทีเรีย เป็นโรคที่ต้องเฝ้าระวังเช่นกัน