×

Fed ตรึงดอกเบี้ยตามคาด ไร้แววปรับลด พร้อมประกาศลดวงเงินมาตรการ QT เพิ่มผ่อนคลายนโยบายการเงิน

02.05.2024
  • LOADING...

คณะกรรมการนโยบายการเงิน (FOMC) ของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) จบการประชุมระหว่างวันที่ 30 เมษายน – 1 พฤษภาคม ด้วยมติคงอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นที่ระดับ 5.25-5.50% ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบกว่า 23 ปี โดยเป็นไปตามที่นักวิเคราะห์ในตลาดคาดการณ์ไว้ก่อนหน้า

 

รายงานระบุว่า การตัดสินใจดังกล่าวของคณะกรรมการถือเป็นการตรึงอัตราดอกเบี้ยติดต่อกันเป็นครั้งที่ 6 หลังจากที่ Fed ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 11 ครั้งนับตั้งแต่ที่เริ่มวัฏจักรอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นในเดือนมีนาคม ปี 2022

 

แถลงการณ์ของ Fed ระบุชัดว่าทางคณะกรรมการพิจารณาแล้วว่าช่วงเวลานี้ยังคงไม่ใช่ช่วงเวลาที่เหมาะสมที่จะดำเนินการปรับลดอัตราดอกเบี้ย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ตัวเลขอัตราเงินเฟ้อที่ยังอยู่เหนือกว่าเป้าหมายที่ Fed วางไว้ที่ 2% อีกทั้งสถานการณ์เศรษฐกิจของสหรัฐฯ ในปัจจุบันยังเต็มไปด้วยความท้าทาย ทำให้การบรรลุเป้าหมายเงินเฟ้อที่ตั้งไว้ที่ 2% เป็นเรื่องที่ยากมากขึ้น รวมถึงสถานการณ์ในปัจจุบันก็ยังไม่มีปัจจัยบ่งชี้ที่จะเพิ่มน้ำหนักว่าเงินเฟ้อสหรัฐฯ กำลังปรับตัวลดลงตามทิศทางที่ Fed ต้องการ

 

ถ้อยแถลงของ Fed ยังชี้ถึง 2 ปัจจัยเศรษฐกิจที่มีผลต่อการตัดสินใจอย่างราคาสินค้าและอัตราการจ้างงานที่ยังคงแข็งแกร่งและก้าวเข้าสู่ความสมดุลมากขึ้นในเวลานี้ โดยเฉพาะอัตราว่างงานที่อยู่ในระดับต่ำ และตัวเลขคนได้งานทำในสหรัฐฯ ก็อยู่ในระดับที่แข็งแกร่ง

 

นอกจากนี้ Fed ยังได้ประกาศชะลอการใช้มาตรการปรับลดขนาดงบดุล (Quantitative Tightening: QT) ซึ่งถือเป็นการเพิ่มการผ่อนคลายนโยบายการเงินของ Fed โดยภายใต้โครงการ QT ที่เริ่มขึ้นตั้งแต่เดือนมิถุนายน ปี 2022 Fed ได้ปล่อยให้พันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ และตราสารหนี้ที่มีสินเชื่อที่อยู่อาศัยเป็นหลักประกันการจำนอง (MBS) วงเงิน 95,000 ล้านดอลลาร์ ครบอายุในแต่ละเดือนโดยไม่มีการซื้อเพิ่มเติม ทำให้งบดุลของ Fed ลดลงสู่ระดับ 7.4 ล้านล้านดอลลาร์ จากระดับ 8.9 ล้านล้านดอลลาร์ในช่วงกลางปี 2022

 

กระนั้น ภายใต้การตัดสินใจล่าสุดในการลดขนาด QT ของ Fed ทำให้เริ่มตั้งแต่เดือนมิถุนายน ปี 2024 เป็นต้นไป Fed จะลดวงเงินพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ที่จะปล่อยให้ครบอายุในแต่ละเดือนโดยไม่มีการซื้อเพิ่มเติม เหลือเพียง 25,000 ล้านดอลลาร์ จากเดิมที่ระดับ 60,000 ล้านดอลลาร์ พร้อมคงวงเงิน MBS ที่จะปล่อยให้ครบอายุในแต่ละเดือนโดยไม่มีการซื้อเพิ่มเติมอยู่ที่ระดับ 25,000 ล้านดอลลาร์

 

สำหรับมาตรการ QT นี้ถือเป็นหนึ่งในเครื่องมือที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ ใช้เพื่อคุมเข้มนโยบายการเงินในช่วงที่ต้องรับมือกับเงินเฟ้อที่พุ่งขึ้น อีกทั้งยังถือเป็นการถอนตัวของ Fed จากบทบาทของผู้สร้างสภาพคล่องในระบบการเงินด้วยการเข้าซื้อและถือครองพันธบัตรรัฐบาลและตราสารหนี้ในตลาด เรียกได้ว่าการลดวงเงินพันธบัตรและตราสารหนี้ที่จะปล่อยให้ครบอายุในแต่ละเดือนโดยไม่มีการซื้อเพิ่มเติมอย่าง QT จึงถือเป็นการใช้มาตรการผ่อนคลายทางการเงินของ Fed

 

ด้าน Jerome Powell ประธาน Fed กล่าวในระหว่างงานแถลงข่าวภายหลังมติของ FOMC ระบุว่า การตัดสินใจล่าสุดนี้อยู่บนพื้นฐานข้อเท็จจริงที่ว่าตัวเลขอัตราเงินเฟ้อในตลาดยังคงอยู่ในระดับสูงเกินไป แถมยังมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นและยังไม่มีทีท่าว่าจะชะลอตัวลงจนส่งผลต่อการลดลงของตัวเลขเงินเฟ้ออย่างมีนัยสำคัญ

 

ทั้งนี้ Powell ยังย้ำหลายรอบในระหว่างงานแถลงข่าวว่าตัวเลขเงินเฟ้อของสหรัฐฯ ยังคงสูงเกินไป อีกทั้งความคืบหน้าเพิ่มเติมที่บ่งชี้เรื่องการลดลงของราคาน้ำมันก็ยังไม่แน่ไม่นอน ขณะที่การเติบโตทางเศรษฐกิจก็ยังเต็มไปด้วยความไม่แน่นอนเช่นกัน

 

อย่างไรก็ตาม บรรดานักลงทุนในตลาดค่อนข้างพอใจกับความชัดเจนของประธาน Fed ที่ระบุว่า การเคลื่อนไหวครั้งต่อไปของ Fed ‘ไม่น่าจะ’ จะเป็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ถือเป็นการส่งสัญญาณบ่งชี้ว่า Fed จะยังคงตรึงอัตราดอกเบี้ยระดับสูงไปอีกสักระยะหนึ่ง อีกทั้ง Powell ยังเน้นย้ำว่า การตัดสินใจใดๆ ของ FOMC ต่อจากนี้จะขึ้นอยู่กับข้อมูลล่าสุด ณ ขณะนั้น เป็นการตัดสินใจแบบ ‘Meeting by Meeting’

 

ความชัดเจนของ Powell ส่งผลให้ดัชนีอุตสาหกรรมดาวโจนส์ เมื่อวันพุธที่ 1 พฤษภาคม ปิดตลาดปรับตัวเพิ่มขึ้นในแดนบวก โดยดัชนีดังกล่าวปรับตัวเพิ่มขึ้น 87.37 จุด หรือ 0.23% ปิดที่ 37,903.29 จุด อย่างไรก็ตาม ดัชนีอื่นในตลาดหุ้นวอลล์สตรีทของสหรัฐฯ ปิดตลาดปรับตัวลงเล็กน้อย โดยดัชนี S&P 500 ลดลง 0.34% ปิดตลาดที่ 5,018.39 จุด ขณะที่ดัชนี Nasdaq Composite ลดลง 0.33% ปิดที่ 15,605.48 จุด

 

Sonu Varghese หัวหน้านักกลยุทธ์ระดับมหภาคแห่ง Carson Group อธิบายว่าข้อเท็จจริงที่อัตราเงินเฟ้อยังคงอยู่ในระดับสูงหมายความว่านักลงทุนจะไม่เห็นการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเร็วๆ นี้ ขณะเดียวกัน ความเคลื่อนไหวดังกล่าวยังมีขึ้นในขณะที่เหล่านักลงทุนกำลังชะลอการลงทุนซึ่งมีแนวโน้มที่จะสร้างแรงกดดันต่ออัตราผลตอบแทนพันธบัตรที่สูงขึ้นน้อยลง 

 

ทั้งนี้ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 10 ปี ปรับตัวลดลงต่ำกว่า 4.6% ภายหลังจากถ้อยแถลงของ Jerome Powell คลายความกังวลของนักลงทุนบางส่วนที่เกรงว่าอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ จะพุ่งสูงกว่า 5% ในปีนี้ จนกระทบต่อการขยายตัวเติบโตทางเศรษฐกิจ

 

ด้านตลาดหุ้นวอลล์สตรีทที่ปรับตัวผันผวนเมื่อวานนี้ (1 พฤษภาคม) ส่วนหนึ่งเป็นผลจากรายงานที่น่าผิดหวังของหุ้นบริษัทที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) โดยบริษัท AI ชั้นนำบางราย เช่น Advanced Micro Devices ร่วงลง 8.9% หลังจากออกคาดการณ์รายรับในไตรมาสปัจจุบัน ในขณะที่ Super Micro Computer ลดลง 14% จากรายงานรายรับของบริษัทที่ปรับตัวลดลงเล็กน้อย

 

ส่วนดัชนีสกุลเงินดอลลาร์เมื่อวานนี้ ปรับตัวลดลง 0.44% ที่ 105.85 หลังจากก่อนหน้านี้แตะ 106.49 ซึ่งสูงที่สุดนับตั้งแต่วันที่ 16 เมษายน

 

สำหรับความเคลื่อนไหวต่อไปที่บรรดานักลงทุนจับตามองก็คือรายงานตัวเลขการจ้างงานประจำเดือนเมษายน ที่มีกำหนดเปิดเผยในวันศุกร์ที่ 3 พฤษภาคม ซึ่งหลายฝ่ายคาดว่าบรรดานายจ้างในสหรัฐฯ จะมีการจ้างงานเพิ่มขึ้น 243,000 ตำแหน่ง ขณะที่รายงานการจ้างงานของ ADP เมื่อวานนี้ เปิดเผยว่า เงินเดือนภาคเอกชนของสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นมากกว่าที่คาดไว้ในเดือนเมษายน บ่งชี้ถึงกำลังการบริโภคในประเทศที่มีแนวโน้มจะกลับมาแข็งแกร่งได้อีกครั้งภายในปีนี้

 

กระนั้น เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักของโลก ค่าเงินดอลลาร์ยังคงอ่อนค่า โดยค่าเงินยูโรแข็งค่าขึ้น 0.5% มาอยู่ที่ 1.0718 ดอลลาร์ต่อยูโร ส่วนค่าเงินปอนด์แข็งค่าขึ้น 0.34% มาอยู่ที่ 1.2532 ดอลลาร์ต่อปอนด์ และค่าเงินเยนแข็งค่าขึ้น 0.33% ที่ 157.28 เยนต่อดอลลาร์

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X