วานนี้ (28 เมษายน) พนัส ทัศนียานนท์ อดีตอัยการ และอดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวถึงระเบียบว่าด้วยการแนะนำตัวของผู้เตรียมสมัครสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กำหนด โดยระบุว่า ไม่เห็นด้วยอย่างมาก ระเบียบครั้งนี้เกิดจากกรอบความคิดตามบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญฉบับ 2560 คือไม่ต้องการให้ประชาชนส่วนใหญ่มีส่วนรับรู้ในการเลือกครั้งนี้ด้วย นำมาสู่ระเบียบของการแนะนำตัวครั้งนี้ ซึ่งคิดว่าผิดหลักการ
พนัสกล่าวต่อไปว่า หัวใจสำคัญอยู่ที่การแนะนำตัว ตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา ต้องยึดเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญว่าต้องการให้ทั้ง สส. และ สว. เป็นผู้แทนของปวงชนชาวไทยทุกคน คือให้ประชาชนมีส่วนร่วมในกระบวนการทั้งหมด ดังนั้นในหลักการ สว. ก็คือผู้แทนของประชาชนด้วย
ส่วนตัวจึงมองว่าระเบียบดังกล่าวขัดกับเจตนารมณ์ของทั้งรัฐธรรมนูญและกฎหมาย จึงแปลว่า กกต. ไม่มีอำนาจในการออกระเบียบดังกล่าวได้ ระเบียบดังกล่าวไม่มีผลบังคับใช้ เราจึงจำเป็นต้องยื่นเรื่องดังกล่าวให้ศาลปกครองตัดสินชี้ขาด และมีคณะทำงานที่เริ่มทำคำฟ้องไว้แล้ว
พนัสกล่าวด้วยว่า หากคำร้องเสร็จเมื่อใดก็จะยื่นเมื่อนั้น ตั้งใจจะให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ และต้องการให้ศาลมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวด้วย ว่าระเบียบในข้อที่ยื่นคัดค้านไปยังไม่ควรมีผลบังคับใช้ เพราะ กกต. ไม่มีอำนาจในส่วนนั้น ทั้งนี้ คาดว่าจะต้องทำคำร้องให้เสร็จภายใน 1-2 วันนี้ ไม่เช่นนั้นกระบวนการจะช้าไป