×

‘Paint ล้างโลก’ นิทรรศการ Sunshine Philosophy ผลงานศิลปินหน้าใหม่ที่เต็มไปด้วยลูกบ้าและพลังสุดอิสระ

23.05.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

8 Mins. Read
  • “เริ่มจากกลุ่มเพื่อนคุยกันว่าเรามาเพนต์กันเถอะ โดยที่ไม่ได้มีหัวข้ออะไร เราจะไม่กำหนดธีม คอนเซปต์ หรือหัวข้อในการแสดงงานนี้เลย เราก็ตั้งชื่อกันฮาๆ ในกรุ๊ป Messenger ว่า Paint ล้างโลก”
  • นิทรรศการนี้ไม่ได้จะบอกว่า painting คืออะไร แต่ painting สามารถเป็นอะไรได้บ้าง บอกเล่าเจตจำนงแบบไหนได้บ้างมากกว่า

นิทรรศการของศิลปินหน้าใหม่ คือคำที่มาพร้อมความรู้สึกสด พลัง อิสระ ลูกบ้า มุมมองใหม่ที่ได้จากความคิดเดิมๆ และจากประสบการณ์หลายต่อหลายครั้งมันมักมาในแบบเหนือความคาดหมาย โดยเฉพาะนิทรรศการ Sunshine Philosophy ผลงานของกลุ่มศิลปินหน้าใหม่ในครั้งนี้

 

คำจำกัดความของ ‘ศิลปินหน้าใหม่’ ไม่ได้หมายความถึงศิลปินที่อายุน้อยเสมอไป แต่อาจหมายถึงศิลปินที่ยังไม่เป็นที่รู้จักในกระแสหลัก หรือศิลปินที่กำลังฝึกฝนตัวเองเพื่อที่จะก้าวขึ้นมาอยู่ในระดับที่ไม่ต้องมีคำว่าหน้าใหม่ต่อท้าย เมื่อพิจารณาในเชิงโครงสร้างคำว่า ‘ใหม่’ ของกลุ่มศิลปิน Sunshine Philosophy เราสามารถแตกความหมายออกเป็น ใหม่-ในการสร้างสรรค์ผลงานผ่านสื่อที่ล้อไปตามนวัตกรรมร่วมสมัยที่เกิดขึ้น, ใหม่-ในการสร้างคำจำกัดความของศิลปะในนิยามที่ต่างออกไป, ใหม่-ในเรื่องของการสื่อสารกับผู้ชม และใหม่-ในการคิดที่อยากจะตั้งคำถามกับสิ่งที่มีอยู่

 

 

นิทรรศการ Sunshine Philosophy ก่อตัวขึ้นด้วยการตั้งคำถามผ่านผลงานสร้างสรรค์อย่างไม่มีข้อจำกัด อย่างเช่นการเลือกสื่อสารผ่านภาพจิตรกรรม หรือ painting ที่อาจไม่มีความสามารถมากพอที่จะใช้สื่อนี้สะท้อนความคิดภายในออกสู่ภายนอก ทำให้ศิลปินกลุ่มนี้อยากจะกลับมาเลือกใช้การวาดภาพ การใช้สีบนผ้าใบ การบันทึกผ่านระนาบสองมิติอย่างงาน painting แต่อย่างไรก็ดี การที่ศิลปินกลับมาเลือกใช้สื่อเดิมๆ นั้น หากแต่พวกเขามีความคิด มุมมอง บริบทที่เป็นปัจจุบันเข้าไปสวมทับอยู่ดี สิ่งนี้ต่างหากที่ศิลปินหน้าใหม่ที่กลับมาเลือกใช้สื่อนี้จะสามารถจะผลักเอา painting ที่เราเห็นชินตาตั้งแต่เกิดจนทุกวันนี้ไปในทิศทางที่ไกลออกไปอย่างไรบ้าง

 

 

Sunshine Philosophy คือใคร ทำอะไร

กิ๊ฟ-กิตติธร เกษมกิจวัฒนา หนึ่งในศิลปิน และเป็นคนที่เริ่มพัฒนาโปรเจกต์นี้ได้อธิบายถึงจุดเริ่มต้นของนิทรรศการ รวมไปถึงชื่อนิทรรศการที่ดูไม่มีที่มาที่ไปให้ฟังว่า

 

“มันเริ่มมาจากกลุ่มเพื่อนคุยกันว่าเรามาเพนต์กันเถอะ โดยที่ไม่ได้มีหัวข้ออะไร เพราะคุยกันในกลุ่มศิลปินอยู่แล้วว่าเราจะไม่กำหนดธีม คอนเซปต์ หรือหัวข้อในการแสดงงานนี้เลย เราก็ตั้งชื่อกันฮาๆ ในกรุ๊ป Messenger ว่า Paint ล้างโลก (คิดคำโดย ดุ๊ก ลัทธพล) จนกระทั่งไม่นานมานี้ พี่ดุ๊กก็พูดขึ้นมาว่าทำไมไม่ชื่อ Sunshine Philosophy ล่ะ กิ๊ฟเองก็คิดว่ามันเป็นชื่อที่เหมาะสมดีกับการที่พวกเราซึ่งมีความแตกต่างกันในด้านเทคนิควิธีการนำเสนองานศิลปะ แต่ก็มาทำงาน painting กัน

 

 

“การใช้คำว่า Philosophy แปลตรงตัวคือคำว่า ปรัชญา ซึ่งอาจจะพูดถึงภายใต้แสงแดดหรือดวงอาทิตย์ที่เราพบเจอกันทุกวันในตอนเช้าเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างแน่นอนในแต่ละวัน การตั้งคำถามหรือวิธีการดำเนินชีวิตในแต่ละวันของแต่ละคนซึ่งมัน individual มากๆ แต่ว่าเราก็ยังใช้งานศิลปะเป็นสื่อในการแสดงออกหรือเรียนรู้บางอย่างที่เราสนใจเหมือนๆ กัน เราคิดว่างานศิลปะเป็นปรัชญาในอีกรูปแบบหนึ่ง และการเกิดขึ้นใหม่ (Emerging) ก็เป็นสิ่งที่เราต้องพบเจอ ซึ่งก็เหมือนเป็นการเริ่มต้นใหม่ในทุกๆ วัน”

 

 

ดุ๊ก-ลัทธพล ก่อเกียรติตระกูล ศิลปินคนสำคัญในกลุ่ม ช่วยตอบคำถามเรื่องของชื่อนิทรรศการที่ไปคล้ายกับชื่อเพลงของวงดนตรีว่ามีความเชื่อมโยงอะไรกันไหม

 

“มันเป็นชื่อที่ทางกลุ่มเสนอมา คำมันก็ดูสวยๆ ดี โดยมารู้ทีหลังว่ามีที่มาจากชื่อเพลงของวง Future Loop Foundation เพลงมันมีความเป็นแอ็บสแตรกต์ คนฟังแต่ละคนจะรู้สึกแตกต่างกันออกไป ส่วนในเรื่องของการใช้สื่อ เป็นเรื่องจริงที่ในยุคสมัยนี้ ยิ่งคนเจเนอเรชันเรามักจะใช้สื่อที่หลากหลาย ไม่ได้วางตัวชัดเจนว่าเราเป็นศิลปินประเภทจิตรกรรมหรือประติมากรรม บางครั้งเราพยายามจะหนีอะไรอย่างนั้นด้วยซ้ำ แต่สำหรับนิทรรศการนี้ ภายใต้โจทย์ painting มันเหมือนกับพยายามหาความเป็นไปได้ว่า painting สามารถเป็นไปในรูปแบบไหนได้บ้างภายใต้รูปแบบการทำงานของแต่ละคน ซึ่งก็ไม่ได้จะบอกว่า painting คืออะไร แต่ painting สามารถเป็นอะไรได้บ้าง บอกเล่าเจตจำนงแบบไหนได้บ้างมากกว่า”

 

 

เมื่อพูดถึงลัทธพล สิ่งที่น่าสนใจในผลงานของเขาคือที่ผ่านมาเขาทำงานโดยใช้สื่อที่เป็น painting เป็นส่วนมาก ซึ่งผลงานของลัทธพลจะหลุดออกจากขนบที่คนรุ่นเก่ามักก้าวไม่พ้นกรอบอันทรงพลังของภาพจิตรกรรม อย่างผลงานภายในนิทรรศการนี้ Empty Sunset (2009-2018) และ A Moment: Blue come from left and yellow come from right (2013-2018)

 

 

“เราชอบเพนต์ถึงกระบวนการ วัตถุดิบ หรือวิธีสื่อสาร มันอาจจะดูไม่ใช่ทิศทางของ painting เสียทีเดียว แต่เราชอบหยิบ object มาแปลงให้เป็น art object บางที object ที่เราหยิบมาใช้เป็นส่วนประกอบในการทำงาน มันก็พาไอ้ตัวผลสำเร็จที่ได้ไปอยู่ในหมวดที่ใกล้เคียงกับงานประเภท painting”

 

ในขณะที่ กิ๊ฟ กิตติธร ซึ่งโดยพื้นฐานเรียนมาทางด้านประยุกต์ศิลป์ ซึ่งสนใจในความใหม่ของเทคโนโลยี ดังนั้นคำจำกัดความและการตีความของเธออาจจะล้ำเส้นกรอบเดิมๆ ของ painting ได้ต่างออกไป

 

“กิ๊ฟจบปริญญาตรีจากคณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ภาควิชาประยุกต์ศิลปศึกษา เรียนพื้นฐานฝีมืองานศิลปะมาเกือบทั้งหมด กิ๊ฟใช้สิ่งที่เรียนกับประสบการณ์ที่ได้มาผสมกันมากกว่า ที่กิ๊ฟเลือกสื่อใหม่เพราะมุมมองที่มีต่องานศิลปะมากกว่าจะเป็นเรื่องของการที่เรามีหรือไม่มีสกิล

 

“อีกความสนใจหนึ่งของกิ๊ฟคือชอบค้นคว้าและมีความสนใจในสิ่งใหม่ เลยทำให้กิ๊ฟเลือกเรียน Contemporary Design and Technology ซึ่งกิ๊ฟก็ไม่ได้ทิ้งสกิลที่เรียนมาทั้งหมด เพราะกิ๊ฟคิดว่าสกิลเหล่านั้นเป็นส่วนที่สำคัญในงานออกแบบ หรือแม้แต่งานศิลปะค่ะ”

 

 

ซึ่งก็สอดรับกับงานของเธอในนิทรรศการนี้ ‘Storytelling: Impermanence’ กิ๊ฟเลือกใช้เครื่องพิมพ์โดยใช้ความร้อนปล่อยหมึกประทับลงบนกระดาษจากการคำนวณของโปรแกรม พิมพ์ออกมาเป็นชุดคำต่างๆ การสร้างรูปทรงต่างๆ เล่าเรื่องราว โดยไม่ได้ต่างไปจากวิธีการสร้างงานจิตรกรรมตามขนบที่มีมา

 

“อาจจะเป็นวิธีตีความใหม่ของกิ๊ฟค่ะ ด้วยคอร์สที่เรียนมาเป็น Contemporary Design and Technology มันเลยเป็นการเพนต์ในอีกวิธีหนึ่ง ส่วนการเล่าเรื่อง กิ๊ฟเล่าจากงานเดิมที่เป็นการค้นคว้าและทำงานเกี่ยวกับเทคโนโลยี หลังจากได้เข้าไปเรียนแล้วผลที่ได้ออกมาคือเข้าใจในสื่อที่เราใช้มากขึ้น กิ๊ฟคิดว่ามันเป็นสิ่งที่เราเอาตัวเข้าไปรู้จัก object หรือ medium เหล่านั้น คลุกคลีและเรียนรู้เพื่อให้มันเล่าเรื่องให้ได้ด้วยตัวมันเองผ่านวิธีคิดของเรา”

 

 

ในโลกของ Contemporary Art เรามีการเข้าถึงสื่อได้อย่างหลากหลายและเสรี (แม้บางประเทศจะเสรีไม่จริงก็ตามที) และศิลปินไม่ได้ถูกกรอบของสังคมบังคับให้เลือกว่าเราต้องทำงานที่ใช้สื่อเดียวตลอด

 

ความน่าสนใจนอกเหนือจากศิลปินหรือผลงานของศิลปินแล้ว ผู้ชมงานในยุคนี้ค่อนข้างที่จะเปิดกว้าง ปรับเปลี่ยน ผันไปตามกระแส สิ่งที่น่าสนใจคืออะไรทำให้ศิลปินหน้าใหม่เหล่านี้หยิบเอาสื่อจิตรกรรม หรือ painting ขึ้นมาเป็นหัวข้อที่ทำให้ทุกคนสนใจและอยากที่จะทำงานกับวิธีนี้ เป็นเพียงเพราะเกิดภาวะเบื่อหน่ายในสื่อที่ใช้ หรือต้องการท้าทายอะไรบางอย่าง เพราะคิดว่าศิลปินที่ผ่านการเรียนแบบ academic ย่อมต้องผ่านวิชาจิตรกรรมและวาดเส้นพื้นฐานมาแล้วทั้งนั้น

 

กิตติธรมองว่า “การ painting ทำให้นึกถึงจุดเริ่มต้นของการเข้าไปในโรงเรียนศิลปะหรือมหาวิทยาลัยคณะศิลปะ ถ้าพูดแบบตรงไปตรงมาคือการ back to basic แต่ในความเป็นจริงในยุคนี้แล้ว การที่งานศิลปะถูกทำมาหมดทุกอย่างแล้วไม่ว่าจะเป็นกับศาสตร์ไหน เชื่อว่างานจิตรกรรมมันสามารถตีความใหม่ในมุมมองของศิลปินรุ่นใหม่ๆ ได้เหมือนกัน และไม่ได้มองว่างาน painting จะเป็นทางตันเลย เพราะว่ามันไม่ได้ขึ้นอยู่กับ medium ทั้งหมด 100% แต่ขึ้นอยู่กับคอนเทนต์และการเล่าเรื่อง หรือวิธีคิดของตัวบุคคลมากกว่า สำหรับงานนี้ การพูดกันว่ามาเพนต์กันเถอะ มันเหมือนหาโจทย์และสิ่งที่กระทำร่วมกัน

 

“ที่จริงเราเชื่อว่ามันคือความจริงเลยแหละที่ painting มันเปลี่ยนบริบทของตัวมันเองไปทุกยุคสมัย เปลี่ยนไปตามสิ่งที่อยู่ในยุคสมัย เช่น คน เหตุการณ์ และอื่นๆ อีกมากมายที่กลายเป็นวิธีคิด มุมมอง อุดมการณ์ อุดมคติ หรือที่จริงถึงตอนนี้ เราอาจจะไม่ได้มองว่างาน painting ในยุคคอนเทมโพรารีเปลี่ยนไปไหม อย่างไร เราอาจจะมองว่าคนในยุคคอนเทมโพรารีสื่อสารผ่านงาน painting ในลักษณะไหนมากกว่า จากนั้นก็ตีความไปในทิศทางของเราที่มีรากฐานมาจาก painting เป็นชิ้นๆ ไป”

 

 

ย้ายข้างจากตัวแปรของสมการมาสู่ผลลัพธ์กันดูบ้าง จากจุดเริ่มต้นจากคำเชิญชวนกลุ่มเพื่อนให้มาทำงาน painting ที่ไม่มีหัวข้อจนกลายมาเป็นนิทรรศการ Sunshine Philosophy ที่มีศิลปินทั้งหมด 11 คน การกลับมาทำงาน painting หรือการทำงานศิลปะในเชิงทดลองนี้ ในฐานะศิลปิน เราได้อะไรกลับมาจากการทำงานในครั้งนี้

 

“การทำงานศิลปินให้ความสมดุลกับชีวิตบางอย่าง ด้วยสังคม กลุ่มเพื่อน วิธีคิด เพราะการทำงานศิลปะมันได้อยู่กับตนเอง และค่อยๆ ปรับระบบความคิดตัวเอง อย่างที่บอกไว้ว่ากิ๊ฟอาจจะไม่ได้เรียกหรือบัญญัติคำของอาชีพหรือวิธีการทำงานของตัวเอง เหมือนเราทำงานเพื่อหาเหตุผลในการใช้ชีวิตมากกว่า เหมือนกับว่างานเป็น medium ของสิ่งที่เราต้องเรียนรู้ชีวิต” กิตติธรตอบ ถัดจากนั้น ณัฐพล สวัสดี ศิลปินที่ได้กลับมาทำงาน painting จากคำชักชวนของกลุ่มเพื่อนให้ความคิดเห็นที่น่าสนใจไว้ว่า

 

“เราคิดว่าอยากสนุกกันมากกว่า เพราะว่าเราคุยกันเรื่องการทำ painting อยู่บ่อยๆ พวกเราแค่อยากทดลองลงมือทำงานจิตรกรรมขึ้นมาเท่านั้นเอง เริ่มมาทำงานด้วยมือก็ตอนที่เบื่อหน่ายกับผู้คน สังคม สิ่งต่างๆ บทสนทนาเดิมๆ การได้กลับมาทำอะไรง่ายๆ เหมือนตอนที่เริ่มชอบศิลปะเหมือนกลับได้มาทำความรู้จักกับสิ่งที่เรียกว่าศิลปะใหม่อีกครั้ง และเหมือนกับการได้มาเรียนรู้ตัวเองอีกครั้ง”

 

 

เมื่อกล่าวถึงศิลปินหน้าใหม่ๆ รุ่นใหม่ๆ เหล่านี้ ถ้าภาษาบ้านๆ ก็จะเรียกว่า ‘พวกเขาเป็นคนมีของ’ แต่ถ้าสวยๆ หน่อยก็จะเรียกว่า ‘พวกเขาน่าจับตามอง’ ในทุกวันนี้เราเห็นพื้นที่สนับสนุนงานศิลปะที่ไม่ใช่แนว academic ประเพณีนิยม กระแสหลัก มากขึ้น การเกิดขึ้นของแกลเลอรีเอกชนขนาดเล็ก กลาง รวมถึงขนาดใหญ่ ก็ต่างหันมาให้โอกาส เปิดรับศิลปินที่มีเรื่องราวจุกอก มีความพร้อมที่จะเปิดประตูสู่โลกกว้าง ซึ่งถือเป็นสิ่งที่ควรจะได้รับคำกล่าวว่า ‘ขอบคุณ’ ในฐานะผู้ชม

 

นี่แค่เสียงส่วนหนึ่งที่เป็นผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจากการทดลองดังกล่าว ยังมีศิลปินอีกหลายคนที่ต่างมีมุมมองที่เป็นปัจเจกผ่านสื่อ painting ซึ่งแต่ละคนก็มีแนวทางของตนเองได้อย่างน่าสนใจ ได้แก่ บี 31 & บี 41, ธนภณ อินทร์ทอง, ยิ่งยศ เย็นอาคาร, ณัฐดนัย จิตต์บรรจง, ลัทธพล ก่อเกียรติตระกูล, ณัฐพล สวัสดี, วัชรพล หอมชื่น, จิตติ เกษมกิจวัฒนา, วรวุฒิ ช้างทอง, ธนเทพ น้อยรอด และกิตติธร เกษมกิจวัฒนา บางทีการเริ่มเปลี่ยนทัศนคติมาลองชื่นชมและปลุกความสดใหม่ที่มีในตัวเราให้กลับมาได้จากนิทรรศการนี้

FYI
  • นิทรรศการ Sunshine Philosophy จัดแสดงบริเวณหน้าทางเข้า Kǔ / Ku bar Bangkok ชั้น 3 เลขที่ 469 ถนนพระสุเมรุ ใกล้ๆ ร้าน Brown Sugar The Jazz Boutique ตั้งแต่วันนี้ถึง 5 มิถุนายน 2561 สามารถติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ [email protected] หรือ facebook.com/sunshinephilosophy2018
  • LOADING...

READ MORE



Latest Stories

Close Advertising
X