×

‘เอสซีจี’ ไร้แผนลงทุนใหม่ในเมียนมา หลังปิดโครงการใหญ่โรงงานปูนซีเมนต์ หวั่นความไม่สงบกระทบธุรกิจ

27.04.2024
  • LOADING...
SCC

บมจ.ปูนซิเมนต์ไทย เปิดแผนรับมือความเสี่ยงราคาพลังงานผันผวนจากผลกระทบความขัดแย้งในตะวันออกกลาง มองธุรกิจปีนี้ฟื้น คงเป้ายอดขายโต 20%

 

ธรรมศักดิ์ เศรษฐอุดม กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ปูนซิเมนต์ไทย (SCC) กล่าวว่า มองว่าความเสี่ยงหลักของการดำเนินธุรกิจในช่วงที่เหลือของปี 2567 คือปัจจัยพลังงานที่มีผลกระทบจากปัญหาความขัดแย้งในตะวันออกกลาง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อราคาพลังงานรวมถึงค่าขนส่งให้มีความผันผวน ดังนั้นจึงมีความเสี่ยงที่ต้องจับตาและบริหารความเสี่ยงใน 2 เรื่อง ได้แก่

 

  1. แผนการบริหารความเสี่ยงด้านราคา จะต้องบริหารจับคู่ระหว่างการขายกับการซื้อสินค้า โดยกำหนดราคาขายสินค้าให้เหมาะสมกับต้นทุน เพื่อลดความเสี่ยงของบริษัท

 

  1. แผนการบริหารด้านปริมาณ โดยจะมีการกระจายแหล่งที่มาของพลังงาน ไม่พึ่งพิงการนำเข้าด้วยเส้นทางที่ต้องผ่านด่านทางช่องแคบฮอร์มุซเพียงแหล่งเดียว โดยจะมีการนำเข้าพลังงานจากหลายๆ แหล่ง เพื่อป้องกันปัญหาการสะดุด

 

นอกจากนี้ ยังต้องติดตามความเสี่ยงความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitics) อื่นๆ รวมถึงการแยกตัวของห่วงโซ่อุปทาน (Decoupling) ทั้งระหว่างจีน สหรัฐอเมริกา และยุโรป จึงต้องมีแผนในการปรับตัวรับมือความเสี่ยงของซัพพลายเชนของบริษัทเพื่อให้ได้รับประโยชน์จากการ Decoupling นี้

 

หยุดลงทุนในเมียนมา

 

ปัจจุบันกลุ่มเอสซีจีมีการลงทุนในเมียนมาน้อยมาก หลังจากในปี 2563 บริษัทได้หยุดการดำเนินการโรงงานปูนซีเมนต์ที่ร่วมทุนในเมียนมา ซึ่งถือเป็นการลงทุนและธุรกิจขนาดใหญ่ของเมียนมาในอดีต ส่งผลให้ปัจจุบันมีการทำธุรกิจหรือทำการค้าขายที่เกี่ยวข้องกับเมียนมาน้อยมาก โดยปัจจุบันบริษัทมีสัดส่วนจากเมียนมาไม่ถึง 1% ของรายได้รวม ซึ่งรูปแบบการทำธุรกิจปัจจุบันจะเป็นการผลิตสินค้าจากในไทยแล้วส่งออกไปยังเมียนมา

 

ทั้งนี้ จากการตรวจสอบข้อมูลของ THE STANDARD WEALTH พบว่า ในปี 2557 เอสซีจีได้ประกาศร่วมทุนลงทุนโรงงานปูนซีเมนต์กับพาร์ตเนอร์ท้องถิ่นในเมียนมา มูลค่าการลงทุนรวมประมาณ 12,000 ล้านบาท โดยจะมีกำลังการผลิต 1.8 ล้านตัน ก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 2558 แต่ต้องหยุดการผลิตลงในปี 2563 หลังจากบริษัท Mawlamyine Cement Limited (MCL) ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนในเมียนมาระหว่างบริษัท เอสซีจี ซิเมนต์ จำกัด (SCG CEMENT) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่ SCC ถือหุ้นทั้งหมด และ Pacific Link Cement Industry Ltd. (PLCI) ซึ่งเป็นบริษัทเมียนมา ได้หยุดการผลิต เนื่องจากไม่มีหินปูนซึ่งเป็นวัตถุดิบหลักที่ใช้ในการผลิตปูนซีเมนต์ สาเหตุจากข้อพิพาทระหว่าง SCG CEMENT ผู้ถือหุ้นใหญ่ของ MCL และ PLCI ทำให้ MCL ไม่สามารถเข้าพื้นที่เหมืองหินปูนได้

 

ธรรมศักดิ์กล่าวเพิ่มว่า บริษัทตั้งเป้ารายได้จากการขายทั้งปี 2567 ซึ่งจะเติบโตขึ้นประมาณ 20% จากปี 2566 ที่ทำได้ประมาณ 5 แสนล้านบาท โดยคาดว่าแนวโน้มผลประกอบการในช่วงที่เหลือของปีนี้ของหลายกลุ่มธุรกิจยังมีโอกาสเติบโตได้มากกว่าเป้าหมาย เช่น จากธุรกิจแพ็กเกจจิ้ง ที่มีปัจจัยสนับสนุนจากการบริโภคภายในฟื้นตัว และการท่องเที่ยวที่เข้ามาสนับสนุนความต้องการใช้แพ็กเกจจิ้ง ขณะที่ในประเทศเริ่มเห็นการลงทุนก่อสร้างมากขึ้น โดยเฉพาะการลงทุนของภาครัฐ

 

ผลประกอบการเอสซีจีไตรมาส 1/67 มีรายได้รวมที่ 1.24 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 3% จากไตรมาสก่อน แต่ลดลง 3% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนกำไรไตรมาส 1/67 อยู่ที่ 2,425 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3,559 ล้านบาทจากไตรมาสก่อน แต่ลดลง 85% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากในไตรมาส 1/66 มีรายการพิเศษจากการปรับมูลค่ายุติธรรมของเงินลงทุนใน SCG Logistics ซึ่งไม่ใช่รายการเงินสด มูลค่า 11,956 ล้านบาท ประกอบกับไตรมาส 1/67 มีผลประกอบการของธุรกิจเคมิคอลส์ลดลง

 

“ภาพรวมผลประกอบการไตรมาส 1/67 มีแนวโน้มดีขึ้น แม้เศรษฐกิจโลกผันผวน อุตสาหกรรมปิโตรเคมีอยู่ในช่วงอ่อนตัว แต่เอสซีจีสามารถบริหารต้นทุนได้ดี”

 

อย่างไรก็ดี ธุรกิจเคมิคอลส์ประเมินว่าอาจเห็นการฟื้นตัวได้ช้า เนื่องจากอุตสาหกรรมปิโตรเคมียังมีปัจจัยความท้าทายอยู่ และสถานการณ์ความไม่สงบในตะวันออกกลางยังเป็นตัวแปรหลักที่ทำให้ต้นทุนพลังงานเพิ่มขึ้น

 

โครงการ LSP เลื่อนผลิตไปไตรมาส 3/67

 

ขณะที่โครงการปิโตรเคมีครบวงจร โครงการลองเซิน ปิโตรเคมิคอลส์ (Long Son Petrochemicals: LSP) ในประเทศเวียดนาม อยู่ในช่วงการประเมินและตรวจสอบเครื่องจักรอย่างถี่ถ้วนอีกครั้ง เพื่อให้มั่นใจเรื่องความปลอดภัย คาดว่าจะกลับมาเดินเครื่องจักรทดสอบและพร้อมผลิตเชิงพาณิชย์ในไตรมาส 3/67 ล่าช้ากว่าแผนเดิมที่กำหนดไว้ในช่วงไตรมาส 1/67 ดังนั้นจะมีผลกระทบต่อกำลังการผลิตและยอดขายหายไปประมาณ 3-4 เดือน

 

ทั้งนี้ โครงการ LSP วางแผนกำลังการผลิตโอเลฟินส์ 1.35 ล้านตันต่อปี และโพลีโอเลฟินส์ อย่างโพลีเอทิลีน และโพลีโพรพิลีน 1.4 ล้านตันต่อปี

 

ส่วนความคืบหน้าแผนการนำ บมจ.เอสซีจี เคมิคอลส์ หรือ SCGC เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย จันทนิดา สาริกะภูติ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่-การเงินและการลงทุน SCC กล่าวว่า บริษัทยังคงงบลงทุนรวมปีนี้ไว้ที่ 40,000 ล้านบาท โดยเน้นใช้เพิ่มประสิทธิภาพของโครงการต่างๆ ของบริษัท โดยในไตรมาส 1/67 ได้ทยอยใช้งบลงทุนไปแล้วประมาณ 9,400 ล้านบาทตามแผนงานที่วางไว้

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X