วันนี้ (25 เมษายน) ที่อาคารรัฐสภา รังสิมันต์ โรม สส. แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดนไทย ยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ สภาผู้แทนราษฎร แถลงผลการประชุม ติดตามสถานการณ์สู้รบใน เมียนมา กับผลกระทบต่อความมั่นคงและชายแดนไทย หลังจากเมื่อช่วงเช้าเชิญตัวแทนจากกระทรวงการต่างประเทศ สภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) กองทัพไทย และภาคประชาชน เข้าร่วมด้วย
รังสิมันต์กล่าวชื่นชมฝ่ายความมั่นคง กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงมหาดไทย ถึงทิศทางของกระทรวงการต่างประเทศที่มีความก้าวหน้าอย่างเป็นลำดับ โดยปัญหาระยะสั้นเร่งด่วนจะต้องนำแนวทางมาตรฐานการปฏิบัติงาน (SOP) ฉบับใหม่เป็นวาระเร่งด่วน เพื่อรองรับกับสถานการณ์ผู้ลี้ภัยที่อาจทะลักเข้าไทยหลักแสนคน ซึ่งจะต้องรอการอนุมัติจากรัฐบาล
ขณะเดียวกันยังต้องส่งเสริมด้านสิทธิมนุษยชน ที่ผ่านมาเราจะเห็นว่ากระทรวงการต่างประเทศส่งความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม (Humanitarian Aid) ไปยังพื้นที่ภายในของเมียนมา ครอบคลุมพี่น้องประชาชน 20,000 คน เราจะต้องร่วมมือกับต่างประเทศเพื่อให้ปฏิบัติการยั่งยืนมากขึ้น ป้องกันไม่ให้ผู้หนีภัยทะลักข้ามแดนเข้าไทย ทำให้ไทยต้องดูแลคนจำนวนมากทั้งเชิงพื้นที่และปริมาณ
รังสิมันต์ชี้ว่า สาเหตุหนึ่งที่นำไปสู่การทะลักเข้าไทยของผู้หนีภัย เกิดจากการสู้รบโจมตีทางอากาศยาน ซึ่งไทยต้องพูดคุยกับรัฐบาลทหารเมียนมา เพราะการกระทำดังกล่าวส่งผลกระทบต่อประเทศไทย นอกจากนี้ยังพบว่ามีน้ำมันที่ซื้อ-ขายจากไทยประมาณ 15% เพื่อนำมาเติมเครื่องบินใช้ในการโจมตีทางอากาศ ซึ่งไทยสามารถใช้เรื่องนี้เป็นเครื่องมือในการสร้างสันติภาพและเจรจากับทหารเมียนมาได้ เพราะสอดคล้องกับหลักปฏิบัติของ G7 ที่ระบุไว้ว่า ไม่ควรมีการขายน้ำมันให้กับทหารเมียนมา
ส่วนข้อเสนอระยะกลาง คณะกรรมาธิการฯ เห็นว่ามีความจำเป็นที่จะต้องเจรจากับทุกฝ่าย ไทยมีความท้าทายหลายเรื่องนอกเหนือปัญหาการสู้รบที่ส่งผลต่อเศรษฐกิจ ทั้งยังมีปัญหายาเสพติด แก๊งคอลเซ็นเตอร์ และสแกมเมอร์ จึงจำเป็นต้องพูดคุยกับกลุ่มต่างๆ เพื่อแก้ปัญหา กรรมาธิการฯ ได้ข้อมูลจากภาคประชาสังคมว่า คนเหล่านี้จ่ายส่วยให้ภาครัฐ เราควรนำคนพวกนี้มาอยู่บนดินโดยใช้กลไกออกบัตรกำหนดสถานะรหัสพิเศษ เป็นกลไกทางทะเบียนเพื่อติดตามบุคคลที่เข้ามา
นอกจากนี้จะมีการตั้งคณะทำงานและคณะอนุกรรมาธิการ เพราะมีความเป็นไปได้ว่าจะมีปฏิบัติการบางอย่าง ที่ให้ไทยเป็นฐานในการฟอกเงินของเครือข่ายการซื้ออาวุธที่ใช้ในปฏิบัติการเมียนมา พร้อมทั้งจัดตั้งกลไกความร่วมมือระหว่างชายแดนแทนศูนย์ประสานงานชายแดนเดิม ที่ไม่มีตัวแทนจากฝ่ายรัฐบาลทหารเมียนมาในพื้นที่แล้ว
ขณะที่ข้อเสนอระยะยาว ไทยต้องพูดคุยถึงอนาคตเมียนมา และเข้าไปมีบทบาทในการเป็นผู้อำนวยการความสะดวกสร้างสันติภาพช่วยเหลือประชาชนเมียนมา เช่นเดียวกับการแก้ปัญหาสามจังหวัดชายแดนใต้
“ไทยไม่จำเป็นต้องรอให้เมียนมาเป็นผู้เริ่มต้นร้องขอให้เป็นตัวกลางในการเจรจา ไทยมีศักยภาพที่จะพูดคุยกับทุกฝ่าย สถานการณ์ที่เกิดขึ้นในเมียนมาเป็นสถานการณ์ที่เกี่ยวพันกับไทย ไทยควรเป็นผู้ประสานงานเพื่อให้เกิดสันติภาพในเมียนมา ภายใต้พื้นฐานต้องไม่แทรกแซงกิจการของชาติอื่น” รังสิมันต์กล่าว
ทั้งนี้ ในวันที่ 12-14 พฤษภาคมนี้ คณะกรรมาธิการฯ จะลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์ในพื้นที่อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก โดยจะพูดคุยกับทั้งภาครัฐและภาคประชาสังคม โดยเฉพาะเรื่องการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม เป็นการทำงานคนละกลไกกับที่รองนายกรัฐมนตรีได้ลงพื้นที่ไปแล้ว แต่มีจุดหมายเดียวกันคือ อยากเห็นไทยเข้าไปมีบทบาทสร้างสันติสุขในเมียนมา โดยไม่ได้เป็นการแทรกแซงและยังรักษาผลประโยชน์คนไทยไว้