วันนี้ (23 เมษายน) ที่ทำเนียบรัฐบาล นิกรเดช พลางกูร อธิบดีกรมสารนิเทศ และโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวภายหลังการประชุมคณะกรรมการเฉพาะกิจบริหารสถานการณ์อันเนื่องมาจากความไม่สงบในเมียนมานัดแรก โดยระบุว่า ได้มีการประเมินว่าสถานการณ์ค่อนข้างยังไม่แน่นอน ต้องประเมินกันเป็นรายชั่วโมง
ขณะที่ในช่วงบ่ายวันนี้ ปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ในฐานะประธานคณะกรรมการเฉพาะกิจบริหารสถานการณ์อันเนื่องมาจากความไม่สงบในเมียนมา ลงพื้นที่แล้วจะเห็นภาพชัดมากขึ้นในหลายเรื่อง ทั้งสถานการณ์สู้รบฝั่งเมียนมา การดูแลความสงบเรียบร้อยของคนไทย และให้ความช่วยเหลือผู้อพยพตามหลักมนุษยธรรม
นิกรเดชเปิดเผยด้วยว่า ในที่ประชุมวันนี้ได้สรุป 3 หลักการที่จะใช้บริหารจัดการการรับมือสู้รบในเมียนมา คือ 1. ยึดมั่นการรักษาอธิปไตยของไทยเป็นเรื่องหลัก ดูแลคนไทยไม่ให้ได้รับผลกระทบ 2. ไม่ให้ใช้ดินแดนของไทยดำเนินกิจกรรมในการต่อต้านรัฐบาลเมียนมา ซึ่งเป็นหลักปฏิบัติตามปกติอยู่แล้ว 3. ยึดมั่นในหลักมนุษยธรรมกับทุกฝ่ายโดยไม่เลือกปฏิบัติ ถือเป็นหัวใจในการดำเนินการ
นอกจากนี้ ปานปรีย์ยังได้สั่งการให้สภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ติดตามสถานการณ์ และเป็นหน่วยงานหลัก ส่วนกระทรวงการต่างประเทศจะดูแลและพูดคุยในส่วนของต่างประเทศและองค์การระหว่างประเทศที่ให้ความช่วยเหลือต่างๆ และการประสานงานกับอาเซียนเพื่อแสดงท่าที
ส่วนรายละเอียดหลังจากนี้ให้รอฟังหลังปานปรีย์ลงพื้นที่ เพื่อไปดูว่าแผนที่วางไว้เป็นไปตามที่กำหนดหรือไม่ และพร้อมดูแลหากมีผู้อพยพเข้ามามากขึ้น แต่โดยภาพรวมไม่สามารถควบคุมตัวเลขคนเข้า-ออกได้ เพราะคนที่อพยพเข้ามาคือคนที่รู้สึกไม่ปลอดภัยและหนีอันตรายเข้ามา ซึ่งเราก็รับและให้ความช่วยเหลือหมด ส่วนการเดินทางกลับไปถิ่นฐานเดิมนั้นให้ดูที่ความสมัครใจและต้องแน่ใจว่าเขาปลอดภัย ดังนั้นตัวเลขเข้า-ออกจึงมีการปรับเปลี่ยนตลอดเวลา
ส่วนจะมีแนวโน้มของการตั้งกองกำลังในประเทศไทยหรือไม่ นิกรเดชกล่าวว่า ตั้งกองกำลังในฝั่งไทยไม่ได้ และไม่มีแนวโน้ม ซึ่งเป็นจุดยืนที่ย้ำในที่ประชุมว่าเราไม่อนุญาตให้ใช้ดินแดนไทยเป็นฐานในการปฏิบัติการ และทางเมียนมาก็ทราบดีถึงแนวปฏิบัตินี้
นิกรเดชกล่าวว่า เราพร้อมมาตลอดที่จะเจรจากับกลุ่มกองกำลัง แต่ไม่สามารถทำเองได้หากไม่ได้รับการร้องขอจากฝั่งเมียนมาว่าอยากให้ไทยเข้าไปมีบทบาทช่วยเจรจากับทุกฝ่าย ซึ่งเราพร้อมอยู่แล้ว เพราะปัจจุบันยังไม่มีการร้องขออะไร คาดว่าน่าจะมีการหารือเป็นการภายในกันเองอยู่
อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่าประเทศไทยมีความกังวล เพราะไม่อยากให้เพื่อนบ้านมีการสู้รบกันภายใน เนื่องจากพูดกันมาตลอดว่าอยากให้เกิดสันติภาพ มีเสถียรภาพ ความมั่นคงในเมียนมา แต่ถ้ามองบทบาทของไทยในอนาคต หากทุกฝ่ายเห็นว่าไทยพร้อมและต้องการให้เข้าไปมีบทบาทไปเจรจากับทุกฝ่ายเราก็พร้อม