วันนี้ (19 เมษายน) ที่สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ธีรยุทธ สุวรรณเกษร ทนายความอิสระ เข้ายื่นเรื่องร้องเรียนต่อผู้ตรวจการแผ่นดินผ่าน ปิยะ ลือเดชกุล ผู้อำนวยการสำนักตรวจสอบเรื่องร้องเรียน หรือผู้แทน เพื่อขอให้พิจารณาเสนอเรื่องไปศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัย กรณีพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2561 มาตรา 40, 41 และ 42 ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 107 หรือไม่
โดยธีรยุทธมองว่า เจตนารมณ์แห่งรัฐธรรมนูญมาตรา 107 ที่บัญญัติว่า “มาตรการอื่นใดที่จำเป็นเพื่อให้การเลือกกันเองเป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม” ต้องบัญญัติมาตรการเพื่อป้องกันผู้สมัครรับเลือกเป็นสมาชิกวุฒิสภามีการสมยอมกันในการเลือกกันเอง โดยไม่เลือกตนเอง ต้องสันนิษฐานว่ามีการสมยอมกันในการเลือก และถือว่าการเลือกไม่เป็นไปโดยสุจริตหรือเที่ยงธรรม จึงบัญญัติไว้ใน พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2561 มาตรา 94 (7) มาตรา 95 (7) และมาตรา 96 (4)
แต่ปรากฏว่ามาตรา 40 (1)(8) การเลือกกันเองระดับอำเภอ, มาตรา 41 (1) ถึง (8) การเลือกกันเองระดับจังหวัด และมาตรา 42 (1) ถึง (6) การเลือกกันเองระดับประเทศ กลับไม่มีบทบัญญัติที่กำหนดมาตรการเพื่อป้องกันผู้สมัครรับเลือกสมาชิกวุฒิสภามีการสมยอมกันในการเลือกกันเอง และถือว่าการเลือกไม่เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม จึงเป็นการบัญญัติที่อาจทำให้การเลือกสมาชิกวุฒิสภาเฉพาะในขั้นตอนผู้สมัครเลือกกันเองไม่เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม มีผลให้บทบัญญัติกฎหมายดังกล่าวตราขึ้นโดยขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 107
ธีรยุทธกล่าวว่า ส่วนตัวได้เร่งทำคำร้องขึ้นเพื่อหวังเป็นกระบวนการป้องกันความเสียหายต่อประเทศ โดยเฉพาะงบประมาณที่ต้องสูญเสียไปเป็นจำนวนมาก ซึ่งเป็นเรื่องจำเป็น เมื่อมีข้อบกพร่องหรือได้บัญญัติไว้ อาจเข้าข่ายขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ การป้องกันเสียก่อนจะช่วยบ้านเมืองไว้ได้ หากขยับการเลือก สว. ไปอีกสักนิดเพื่อรับคำวินิจฉัยก็คงจะดี
ธีรยุทธยังปฏิเสธว่าการยื่นคำร้องจะเป็นการยื้อเวลาให้ สว. ชุดนี้อยู่ต่อ เนื่องจากรัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ว่าประชาชนหรือปวงชนชาวไทยมีสิทธิเมื่อพบความไม่ชอบธรรม อำนาจอย่างเต็มที่ในการเสนอเรื่องต่อหน่วยงานรัฐทุกหน่วยงาน และหน่วยงานรัฐจำเป็นที่จะต้องฟังเสียงสะท้อนปัญหา ซึ่งตนเองก็เป็นเพียงคนหนึ่งที่เสนอความเห็น ผู้ตรวจการแผ่นดินจึงควรวินิจฉัย
ธีรยุทธกล่าวด้วยว่า เรื่องนี้เป็นอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ ว่าเห็นควรจะดำเนินการเลือกไปพลางก่อน หรือจะชะลอไว้ ดังนั้นหากคำร้องของตนมีความน่าเชื่อถือเพียงพอและมีความน่าจะเป็นได้ว่าบทบัญญัติ มาตรา 40, 41 และ 42 ไม่ได้กำหนดมาตรการในการป้องกันการสมยอมกันไว้จริงก็ควรที่จะแก้ไขกฎหมายเสียก่อน ซึ่งการแก้ไขกฎหมายก็จำเป็นที่จะต้องเข้าสู่ที่ประชุมรัฐสภาเพื่อพิจารณาร่วมกัน เพราะการพิจารณากฎหมายฉบับนี้ สว. ก็อยู่ด้วย หากจะต้องแก้ไขเพิ่มเติมหรือตัดทอน สว. ก็ควรต้องอยู่ ส่วนตัวจึงไม่ได้คิดว่าจะมาช่วยเพื่อให้ สว. ได้อยู่ทำงานต่อหรือไม่ เพราะกฎหมายกำหนดไว้ว่าตราบใดที่ยังไม่มี สว.ชุดใหม่ เข้ามารับหน้าที่ สว.ชุดเดิม ก็ยังต้องทำงานต่อไป